xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าสงขลาแนะปฎิรูปสังคมก่อน เชื่อมั่นขับเคลื่อนภาคใต้ได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สำนักงานปฏิรูป จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ทิศทางการขับเคลื่อนสมัชชาปฏิรูปภาคใต้จะเดินหน้าอย่างไร” หอการค้าสงขลาแนะ ต้องปฏิรูปด้านสังคมอย่างเร่งด่วน สร้างแรงจูงใจให้มีส่วนร่วม ทุกภาคส่วนควรเปิดโอกาสให้แก่กันในการขับเคลื่อนทุกด้าน

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานปฏิรูป (สปร.) ได้จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “ทิศทางการขับเคลื่อนสมัชชาปฏิรูปภาคใต้จะเดินหน้าอย่างไร” ณ จ.สงขลา โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย นพ.ธีรวัฒน์ กรศิลป ผอ.สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เขต 12 สงขลา, นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผช.ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.), นายสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้า จ.สงขลา, นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปริก จ.สงขลา, นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ และนายทวีวัตร เครือสาย เครือข่ายสมัชชาปฏิรูป จ.ชุมพร

นายทวีวัตร เครือสาย เครือข่ายสมัชชาปฏิรูป จ.ชุมพร กล่าวถึงการเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำของชุมชนว่า การที่จะมุ่งไปสู่เป้าหมายของการปฏิรูปได้นั้น ต้องทำให้คนในชุมชนเห็นว่า มีอะไรที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่บ้างหลังจากมีการปฏิรูป นั่นคือ มีการให้ข้อมูลข่าวสาร สร้างองค์ความรู้ให้แก่คนในชุมชนได้รับรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านบวก หรือด้านลบ โดยวิธีการต้องขึ้นอยู่กับกลุ่มเป้าหมาย ฉะนั้น การเริ่มต้นจึงต้องมีการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายด้วย

นายสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ ประธานหอการค้า จ.สงขลา แสดงความคิดเห็นว่า เรื่องใหญ่ที่จะต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน คือ ด้านสังคม ซึ่งจะไม่พูดถึงเรื่องของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ แต่มองว่าจะทำอย่างไรให้การปฏิรูปเดินหน้าต่อไป และนำไปสู่การพัฒนาประเทศชาติอย่างแท้จริง

“สำหรับปัญหาต่างๆ ที่กำลังต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนนั้น แทนที่จะรวมพลเพื่อให้ทุกคนมาช่วยกันแก้ไขซึ่งอาจจะไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่ และจริงจัง แต่หากลองเปลี่ยนเป็นการสร้างแรงจูงใจในการมีส่วนร่วม เน้นการใช้เหตุผลอาจจะเป็นแนวทางที่ดีกว่า”

ด้าน นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลปริก จ.สงขลา กล่าวว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องที่ใหญ่แต่ไม่ไกลตัว ทิศทางที่จะขับเคลื่อนการปฏิรูปไปได้ คือ การปรับตัวเข้าหากัน ไม่ว่าจะเป็นภาคใดก็ตาม ทั้งภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคราชการ รวมถึงภาคสถาบันการศึกษา ควรเปิดพื้นที่ให้แก่กันและกัน โอกาสที่จะขับเคลื่อนจะเป็นไปได้ดี ทั้งนี้ มองว่าการขับเคลื่อนในระดับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญที่สุด

“เห็นได้ชัดว่า ท้องถิ่นทั้งหลายพยายามเปิดพื้นที่สาธารณะต่างๆ เพื่อระดมความคิดเห็น ทำให้บางชุมชนที่เคยล้าหลัง ได้พบกับชุมชนที่มีความก้าวหน้า ส่งผลให้เกิดความก้าวหน้าทางแนวคิดของภาคประชาสังคมที่สามารถเปลี่ยนบทบาทของตนเอง มีการจัดความสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่น คนในชุมชนหันหน้าเข้าหากัน และทำงานร่วมกันมากขึ้น ทั้งยังมีประสิทธิภาพ ซึ่งในทางปฏิบัติ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การผูกใจ หรือการสร้างความสัมพันธ์ร่วมกัน การเปิดใจช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่ว่าใครจะอยู่ในบทบาท หรือฐานะอะไร อยากให้ลองก้าวข้ามบทบาทของตนเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีได้”

นายพลากร วงศ์กองแก้ว ผช.ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)กล่าวว่า ส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการปฏิรูปภาคใต้ คือ การทำหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ผลักดันการขับเคลื่อนในระดับล่างให้มีการเคลื่อนตัวไปข้างหน้ามากขึ้น สิ่งสำคัญ คือ การหาประเด็นร่วมเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนท้องถิ่น เมื่อมีแผนระดับจังหวัดไปอยู่ในระดับประเทศจึงจะมีอำนาจในการจัดการมากขึ้น และพื้นที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง รวมถึงการมีเป้าหมายที่ชัดเจน ชี้ให้เห็นประโยชน์ และทำความเข้าใจกับประชาชน

นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล สถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยที่มีต่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมา ปัญหาของสถาบันการศึกษาในประเทศไทยมักถูกมองว่าไม่มีการนำเอาวิชาการสู่ท้องถิ่น มุ่งทำแต่งานวิจัย ละเลยเรื่องของการพัฒนาชุมชน การพัฒนาสังคมการปรับเปลี่ยนงานโครงสร้าง เชิงระบบ และเชิงนโยบาย ซึ่งมองว่า นักวิชาการส่วนใหญ่ถูกดึงเข้าไปในระบบการทำงานแบบนี้ ดังนั้น ในความเป็นนักวิชาการเอง จึงต้องรับผิดชอบงานหลายด้าน สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างเครือข่ายเพื่อภาคประชาสังคม

“การขับเคลื่อนที่ดีที่สุด คือ การเอาตัวเองเข้าไปผูก และจะต้องคิดอยู่เสมอว่า จะอยู่ร่วมกับคนที่มีความคิดต่างจากเราได้อย่างไร ซึ่งอาจหมายถึงการปรับวิธีคิด การทำงานด้านการปฏิรูปจะเห็นว่ามีคนที่ทำงานทับซ้อนกันอยู่จำนวนมาก แต่ต่างคนต่างทำ ไม่มีประเด็นร่วม ดังนั้น การหันหน้าคุยกัน สร้างความไว้วางใจกันและกันในแต่ละฝ่ายจะส่งผลดีต่อการเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปภาคใต้ และพัฒนาประเทศได้อย่างยั่งยืน”

ส่วน นพ.ธีรวัฒน์ กรศิลป ผอ.สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) เขต 12 สงขลา ได้สรุปถึงการเดินหน้าแนวทางปฏิรูปในระดับจังหวัดภาคใต้ว่า ในตอนนี้ ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียมในหลายๆ ด้าน ซึ่งโจทย์มีอยู่ 2 วิธีคือ อย่างแรก การหักดิบ หรือแตกหัก หมายถึง การดึงคนที่มีรายได้มากลงมา ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง วิธีที่สอง คือ ใช้สันติ หรือสมัชชา คือ การอยู่ร่วมกันในสังคมโดยส่งเสริมให้มีความเท่าเทียม ซึ่งเป็นไปได้ยาก แต่อาจจะมีหวังหากสามารถลดช่องว่างระหว่างคนรายได้น้อย และรายได้มากให้ลดลง

“สปสช. เองก็มีความพยามที่จะลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพ ลดภาวะการล้มละลายจากการเจ็บป่วย ซึ่งการลดความเหลื่อมล้ำทำได้หลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนไหน ต่างก็มีความหมายถึงสร้างการมีส่วนร่วม ดึงเอาคนที่เกี่ยวข้องในชุมชนมาอยู่ในระดับชาติ”

โจทย์หลักในตอนนี้ คือ จะทำอย่างไรให้มีการจัดการตนเองด้านสุขภาพ คือ มีทั้งเชิงประเด็น และเชิงพื้นที่ แต่ทุกอย่างมักจะเกิดจากการรวมพลัง เพราะเนื้อหาในการจัดการตนเองที่สำคัญ คือ ต้องมีประเด็นร่วม ผลักดันให้เรื่องของการปฏิรูปเข้าไปอยู่บนส่วนกลาง การสื่อสาร ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่เองก็เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง นพ.ธีรวัฒน์ กล่าว
 
โดย สุพรรณี สุวรรณศรี/นักข่าวพลเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น