xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์อิสลามเห็นด้วยแนวผ่าศพมุสลิม กสม.แจงช่วยคืนความยุติธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กรรมการสิทธิให้ความรู้เจ้าหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรมในชายแดนใต้ แนวทางชันสูตรศพตามตามหลักศาสนาอิสลาม แพทย์อิสลามเห็นด้วยผ่าศพมุสลิม หากสามารถสร้างความยุติธรรมได้ แต่ยังไม่มีคนยอมให้ผ่า ตำรวจชี้ยังต้องใช้เวลาพิสูจน์
ศ.อมรม พงศาพิชญ์
เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (10 ก.ค.) ที่โรงแรม ซี.เอส.ปัตตานี จ.ปัตตานี คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนาโครงการสร้างความรู้ความเข้าใจ และเผยแพร่แนวทางการตรวจชันสูตรศพ ตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องด้านกระบวนการยุติธรรม เช่น ทหาร ตำรวจ นิติกร อัยการ ผู้พิพากษา แพทย์ พยาบาล เข้าร่วมกว่า 100 คน

ศ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเปิดสัมมนาว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เล็งเห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้ศึกษาแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลาม โดยชี้ให้เห็นถึงกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ในการแสวงหาข้อเท็จจริง อันจะนำมาสู่การปกป้อง คุ้มครองสิทธิของผู้เสียชีวิต และครอบครัว

“การทำงานเกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชน จะต้องมีการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง คือ การพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิต แต่หากชุมชนมุสลิมไม่ยอมให้พิสูจน์การเสียชีวิต โดยอ้างว่า ผิดหลักศาสนาอิสลาม จะส่งผลให้การแสวงหาข้อเท็จจริงเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเสียชีวิตจากสาเหตุอะไร” ศ.อมรากล่าวต่อและว่า

ตามหลักศาสนาอิสลามมีความเชื่อว่า หลังจากเสียชีวิตต้องฝังภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นความเชื่อดั้งเดิม ปัจจุบัน สังคมสมัยใหม่ในต่างประเทศมีการพิสูจน์ศพมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศมาเลเซีย หรือประเทศอินโดนีเซีย ก็ต่างยอมรับในกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจะต้องมีการศึกษา และเปรียบเทียบประเทศต่างๆ และนำเสนอให้ชุมชนมุสลิมในประเทศไทยได้รับทราบว่า ไม่ผิดหลักศาสนา

“คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงวอนขอให้จุฬาราชมนตรี รวมถึงกลุ่มผู้รู้ศาสนาอิสลามร่วมกันวินิจฉัย และออกคำฟัตวา ซึ่งหมายถึง ความกระจ่างในสาระที่เกี่ยวข้องกับศาสนบัญญัติ เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่า การพิสูจน์ศพนั้นไม่ผิดหลักศาสนาอิสลาม สามารถทำได้ เพียงแต่ในอดีตไม่นิยมกระทำกัน และเชื่อว่าเป็นข้อห้าม” ศ.อมรา กล่าวต่อและว่า

ในการพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิตถือเป็นตัวช่วยสำคัญ เพราะมีโอกาสได้พิสูจน์การเสียชีวิต สามารถเข้าถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิตได้ง่าย และชัดเจนขึ้น เพราะที่ผ่านมา หากไม่พิสูจน์ศพ ผู้กระทำความผิดก็ได้ประโยชน์ ส่วนผู้เสียหายก็เสียประโยชน์ เพราะไม่ได้รับการพิสูจน์หาข้อเท็จจริง

ด้านนายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า กรณีที่มีการเสียชีวิตที่ผิดธรรมชาติ จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย เช่น กรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือกรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่เกิดจากโรคชรา แต่เนื่องจากใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ยินยอมให้ผ่าศพ เพราะเชื่อว่า ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม และชาวบ้านยังไม่เข้าใจที่ชัดเจนในเรื่องการผ่าศพ เช่น คิดว่าหากผ่าแล้วจะมีผลดีอย่างไร ทั้งที่เป็นไปเพื่อให้ความจริงปรากฏ และเพื่อคืนความยุติธรรมแก่ผู้เสียชีวิต และญาติ

นายไพบูลย์ เปิดเผยอีกว่า หลังจากนี้ กระบวนการตามแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลามต้องทำให้ชัดเจน โดยจะให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ประชาสัมพันธ์ และทำความเข้าใจแก่พี่น้องมุสลิม และผู้นำศาสนาต่อไป โดยไม่ใช่เป็นการบังคับให้ทำตาม เป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติเท่านั้น

“หากแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลามนี้เป็นไปได้ด้วยดี จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นต่อกระบวนยุติธรรมของชาวบ้านให้กลับมาได้ และสิทธิที่จะตามคือ การเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นคืนให้แก่ผู้เสียชีวิตและญาติผู้เสียชีวิต” นายไพบูลย์กล่าว

ขณะที่ พญ.นูรไอนี อาแว นายแพทย์ระดับปฏิบัติการโรงพยาบาลเบตง อ.เบตง จ.ยะลา เปิดเผยว่า การชันสูตรศพต้องได้รับการยินยอมจาก 3 ฝ่าย คือ ญาติ แพทย์ผู้ชันสูตรศพ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง แพทย์จึงจะสามารถชันสูตรศพได้ในกรณีที่ต้องจำเป็น เช่น ผ่าท้องเพื่อนำทารกที่ยังมีชีวิตอยู่ออกจากครรภ์แม่ที่เสียชีวิต หรือกรณีผู้เสียชีวิตกลืนสิ่งของมีค่าลงท้อง ทั้งนี้ การผ่าศพนั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็น เช่น หากผ่าแล้วจะได้รับความยุติธรรมกลับคืนมา

พญ.นูรไอนี เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมา มีเพียงยินยอมให้ชันสูตรพลิกศพเท่านั้น ยังไม่เคยมีกรณีที่ญาติยินยอมให้ผ่าศพคนที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งโดยทั่วไป การตรวจชันสูตรพลิกศพสามารถทำได้ 3 วิธี คือ การชันสูตรโดยการตรวจภายนอก การชันสูตรโดยการผ่าเปิด และการชันสูตรโดยการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด หรือการเอกซเรย์

“จะผ่าศพหรือไม่ ต้องคิดให้รอบคอบก่อนว่า จะมีผลดีมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะกับผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว และไม่ได้หมายความว่าจะสามารถหยุดการกระทำที่จะนำมาสู่เหตุการณ์ที่จะต้องผ่าศพได้ แต่หากผ่าศพแล้ว สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้ก็สมควรจะผ่า หรือกรณีที่ญาติสงสัยในการเสียชีวิต และต้องการให้ผ่าพิสูจน์” พญ.นูรไอนี กล่าว

พ.ต.ท.จักรกริช นองมณี รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธร (รอง ผกก.สส.สภ.) เจาะไอร้อง อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เปิดเผยว่า ในการตรวจพิสูจน์หลักฐานในที่เกิดเหตุนั้น ต้องมีเอกลักษณ์ที่ต้องตรงกัน ระหว่างบุคคลกับหลักฐานที่พบในที่เกิดเหตุ 16 จุด จากเดิมกำหนดไว้เพียง 6 จุด จากนั้นเพิ่มเป็น 9 จุด ซึ่งยังอาจเกิดความผิดพลาดในการตรวจพิสูจน์ได้ง่าย ทำให้ต่อมา มีการกำหนดเป็น 16 จุด ทำให้การตรวจพิสูจน์คดีมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมา มีทั้งชาวบ้านที่ยินยอม และไม่ยินยอมให้ผ่าพิสูจน์ศพ เนื่องจากชาวบ้านมองว่า การผ่าศพเป็นการไม่ให้เกียรติศพ ยิ่งศพที่ถูกยิงกระสุนฝังในกะโหลกศีรษะ หรือในกระดูก ชาวบ้านจะไม่ยอมให้ผ่าเด็ดขาด เนื่องจากต้องใช้เวลาผ่า และเก็บศพไว้นาน แต่หากกระสุนฝังบริเวณผิวหนังชั้นนอก และมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ก็จะมีชาวบ้านบางส่วนยอมให้ผ่า เนื่องจากใช้เวลาไม่นาน

พ.ต.ท.จักรกริช กล่าวว่า หากนำแนวทางการตรวจชันสูตรศพตามกระบวนการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์ตามหลักศาสนาอิสลามมาใช้ ตนก็ยังเชื่อว่า ชาวบ้านจะยังมีความรู้สึกเหมือนเดิม เพราะชาวบ้านมองว่า แนวทางนี้อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือบุคลากรด้านกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น การใช้แนวทางนี้ ยังต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ผล เพื่อดูทัศนคติของชาวบ้านที่มีต่อกระบวนการต่อไป แต่เชื่อว่าจะดีขึ้น

“โดยปกติ อำนาจการคืนศพให้แก่ญาติเป็นของตำรวจ หากยังพิสูจน์ศพไม่เสร็จ ตำรวจมีอำนาจเก็บศพไว้พิสูจน์ต่อนานถึง 6 วัน แต่เนื่องจากคนส่วนใหญ่ในพื้นที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งต้องฝังศพภายใน 24 ชั่วโมง รวมถึงญาติไม่ยินยอมให้ผ่าศพ ตำรวจจึงต้องคืนศพให้แก่ญาติ เพื่อนำไปประกอบพิธีตามหลักศาสนาอิสลามต่อไป” พ.ต.ท.จักรกริช กล่าว

นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
กำลังโหลดความคิดเห็น