ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - อาจารย์คณะวิทย์ฯ มรภ.สงขลา เข้าร่วมโครงการวิจัยความร่วมมือด้านอุดมศึกษา ไทย-ฝรั่งเศส แลกเปลี่ยนเรียนรู้นักวิจัยระดับนานาชาติ ต่อยอดสู่การพัฒนาการเรียนการสอน
ดร.พลพัฒน์ รวมเจริญ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เปิดเผยว่า ช่วงระหว่างวันที่ 16 เมษายน-11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้เป็นตัวแทนคณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา เดินทางไปที่มหาวิทยาลัย Du Maine ประเทศฝรั่งเศส เพื่อทำวิจัยร่วมกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Du Maine เรื่อง Functional silica nano-particle aiming at bulk modification and functional coating of polymeric materials and fibers ซึ่งเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการทำซิลิกาสังเคราะห์ระดับนาโน เพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมยาง (ทุนสนับสนุนการวิจัย ปี 2554-2555)
“นับเป็นอีกก้าวของการทำวิจัยในระดับนานาชาติ ซึ่งดำเนินการโดยอาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ทำให้นักวิจัยมีความรู้กว้างขวางมากขึ้น มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักวิจัยในระดับนานาชาติ สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ และแสวงหาความร่วมมือทางวิชาการ อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนางานวิจัย และการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย” ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ กล่าวและว่า
งานวิจัยดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยร่วมภายใต้ความร่วมมือด้านอุดมศึกษาและการวิจัยระหว่างไทย-ฝรั่งเศส (Franco-Thai Cooperation Program in Higher Education and Research) มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาความร่วมมือว่าด้วยอุดมศึกษาและการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและนักศึกษา ซึ่งโครงการที่ได้รับเลือกจะได้รับงบประมาณสนับสนุนจากฝ่ายไทยและฝรั่งเศส ซึ่งโครงการความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 4 ปี โดยใน 2 ปีแรก (2552-2553) ได้รับอนุมัติงบประมาณให้ทำโครงการวิจัยเรื่อง An insight of functional polymers for nano-detection of food pathogens พร้อมกับคณะนักวิจัยฝ่ายไทย จากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา สำหรับทางฝรั่งเศส ได้แก่ Du Maine, Nantes และ Reims
ดร.พลพัฒน์ กล่าวอีกว่า ผลสืบเนื่องจากการดำเนินการภายใต้โครงการดังกล่าว ทำให้มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัยเกิดขึ้น โดยคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้เชิญ Prof.Philippe Daniel ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการดังกล่าว และเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย Maine พร้อมด้วยคณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยในประเทศฝรั่งเศสอีก 4 ท่าน เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่อาจารย์ และบุคลากรของมหาวิทยาลัย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ได้จัดสัมมนาโดยเชิญนักวิจัยจากประเทศฝรั่งเศสเป็นวิทยากร