ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - โรงไฟฟ้าจะนะเปิดบ้านประชุมไตรภาคีติดตามการดำเนินงาน และพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชนรอบโรงไฟฟ้าวุ่น ผลการคุณภาพน้ำ เสียง อากาศอยู่ในเกณฑ์ แต่พบด้านนิเวศมีปัญหา แพลงก์ตอน และสัตว์น้ำลดฮวบ 35% กระทบชาวประมงนาทับ จุดประเด็นไม่พอใจข้อเสนอไม่คืบจากการขอให้ตั้งนักวิชาการ มอ.หาดใหญ่ เป็นคนกลางสืบหาสาเหตุ ก่อนพากันเดินออกจากการประชุมกลางคัน บ่นอุบพร้อมจะปลุกม็อบใหม่ ด้าน ผอ.โรงไฟฟ้าฯ แจงไม่มีอำนาจเร่งรัดส่วนนี้ แต่ยินดีสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด และไม่กลัวการตรวจสอบ
วันนี้ (22 มิ.ย.) เมื่อเวลา 09.30 น. ณ โรงไฟฟ้าจะนะ อ.จะนะ จ.สงขลา คณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและพัฒนาสิ่งแวดล้อมชุมชนโรงไฟฟ้าจะนะ ได้ประชุมไตรภาคีครั้งที่ 1/2555 ซึ่งจะจัดขึ้นทุก 6 เดือน ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และตัวแทนชาวบ้าน โดยมีนายวิเชียร สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธาน ขณะที่นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมด้วย เนื่องจากกิจธุระเร่งด่วน
โดยบรรยากาศการประชุมนั้น ช่วงแรกเป็นไปด้วยความราบรื่น ซึ่งในส่วนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ชี้แจงผลการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงไฟฟ้าจะนะได้สรุปรายงานทุกๆ 6 เดือน เพื่อเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ล่าสุดนั้น ผลประจำปี 2554 ปรากฏว่า ภาพรวมชาวบ้านมีความพึงพอใจมีระดับปานกลางถึงมากที่สุดต่อการดำเนินงานร้อยละ 55.9 ส่วนอีกร้อยละ 4.6 มีความพอใจน้อย และอีกร้อยละ 19.5 เห็นว่าควรปรับปรุง โดยในส่วนของคุณภาพอากาศ ระดับเสียง คุณภาพน้ำ มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด
ส่วนด้านนิเวศวิทยานั้น พบว่า ในส่วนของคุณภาพน้ำผิวดินซึ่งมีการตรวจวัดคุณภาพน้ำในคลองโพมา คลองบางเป็ด และคลองนาทับ แม้จะยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ยกเว้นปริมาณความสกปรกในรูปบีโอดีในคลองนาทับ บริเวณท้ายน้ำห่างจากจุดปล่อยน้ำทิ้งประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งมีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้นมีความเสื่อมโทรม
สอดคล้องกับการติดตาม และตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมของ ดร.ศราวุธ เจ๊ะโซ๊ะ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มอ.ปัตตานี ที่ชี้แจงว่า แม้คุณภาพน้ำของปี 2554 ยังอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด ทว่ากลับมีแพลงก์ตอน สัตว์น้ำตัวอ่อนลดลงเป็นอย่างมาก 30-35% ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อวิถีชีวิตของชาวประมง 7 ตำบลใน อ.จะนะ ที่จับปลาได้น้อยลงและขาดรายได้ และส่วนหนึ่งนั้นมาจากการสูบน้ำเข้าโรงไฟฟ้าจะนะที่ทำให้ติดสัตว์น้ำตัวอ่อนไปด้วย และแก้ไขปัญหาโดยให้โรงไฟฟ้าติดตะแกรงกรองลูกปลาก่อนสูบน้ำเข้าระบบ และทำการปล่อยพันธุ์ปลาปีละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตัวต่อปี พร้อมให้ร่วมกันหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
ในประเด็นนี้ นายโชติบริพัฒน์ ไชยแก้ว ตัวแทนภาคประชาชน ได้ลุกขึ้นชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะมาจากโรงไฟฟ้าจะนะ เนื่องจากในปี 2547 มีระบุในรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ว่าชาวนาทับมีรายได้ประมาณ 500-800 บาท/วัน แต่หลังจากที่มีการสูบน้ำผลิตไฟฟ้าตามระบบ ซึ่งใช้ประมาณ 40 ล้านลิตรต่อวัน ปัจจุบัน รายได้ลดลงไปมากจากปัญหาทำประมงไม่ได้ผล แสดงถึงการป้องกันที่ยังไม่ดีพอของโรงไฟฟ้าจะนะ นับเป็นความเดือดร้อนที่สั่งสมมาโดยตลอด มิต้องถามถึงผลกระทบหากโรงไฟฟ้าจะนะเฟส 2 เกิดขึ้น เพราะต้องใช้น้ำถึงกว่าเท่าตัว ชาวประมงก็จะได้รับผลกระทบหนักขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน
โดยการประชุมครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2554 ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้ลงนามข้อตกลงตามที่ชาวบ้านเรียกร้องว่า โดยหนึ่งในนั้น ขอให้นักวิชาการที่เป็นกลาง และเชื่อถือได้ศึกษาถึงสาเหตุที่สัตว์น้ำในคลองลดลง โดยเสนอชื่อ ดร.จารุณี เชี่ยววารีสัจจะ อาจารย์ภาควิชาวาริชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาหาดใหญ่ แต่ผ่านมา 6 เดือนแล้วยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งแสดงถึงความไม่จริงใจในการร่วมแก้ไขปัญหา แม้ไฟฟ้าจะเป็นสิ่งจำเป็นต่อส่วนรวม อุตสาหกรรมผลิตสินค้าได้ต้องอาศัยไฟฟ้า แต่ชาวบ้านก็ต้องการให้มีการป้องกันที่ดีกว่านี้ และเคยพูดท้วงติงมาตั้งแต่ก่อนจะตั้งโรงไฟฟ้า แต่ก็ยังมีปัญหาอีกจนได้ ทำให้ชาวบ้านก็ยังได้รับความเดือดร้อนไม่ผิดจากที่เกิดความกังวล ในขณะที่ กฟผ.ก็ยังเดินหน้าผลิตไฟฟ้าได้ทุกวัน
ซึ่งในขณะนั้น บรรยากาศการประชุมเริ่มตึงเครียดยิ่งขึ้น เมื่อนายวิเชียร ประธานที่ประชุมได้พยายามสรุปประเด็นเพื่อให้ที่ประชุมมีเวลาพิจารณาวาระอื่นๆ ขณะที่นายโชติบริพัฒน์พยายามเรียกร้องขอให้เป็นตัวแทนชาวบ้านชี้แจงผลกระทบต่อ เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านเดือดร้อนมาโดยตลอด เมื่อสื่อสารกันไม่เข้าใจ ไม่รับฟังปัญหาและแก้ไขจนต้องกดดันด้วยการปิดโรงไฟฟ้าจะนะมาแล้วร่วม 5 ครั้ง เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาด้วยความจริงใจ และหากการประชุมยังเป็นเช่นนี้อีก ชาวบ้านก็จะทำการชุมนุมในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน โดยนายโชติบริพัฒน์ และชาวบ้านได้เดินออกจากห้องประชุมโดยทันที และให้ที่ประชุมดำเนินการต่อตามระเบียบวาระ และเวลาที่กำหนดไว้
อย่างไรก็ตาม นายวิวัฒน์ สิริเกียรติกุล ผู้อำนวยการโรงไฟฟ้าจะนะ เปิดเผยภายหลังว่า ข้อเรียกร้องของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบนั้น ได้มีการดำเนินการอย่างไม่เคยนิ่งนอนใจ แม้แต่สำหรับเรื่องของการให้นักวิชาการ ม.อ.หาดใหญ่ เข้ามาตรวจสอบหาสาเหตุนั้น กฟผ.ก็ยินดีที่จะดำเนินการให้ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วยซ้ำ แต่ยอมรับว่ามีความล่าช้าจริง และคาดว่ายังอยู่ระหว่างการตัดสินใจของนักวิชาการ ซึ่งส่วนนี้ กฟผ.ไม่สามารถเข้าไปเร่งรัดได้
“การพูดคุยที่ผ่านมานั้น ก็ไม่ได้ยึดเพียงหลักวิชาการเท่านั้น แต่ใช้ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันควบคู่เพื่อร่วมหาทางออกว่าจะช่วยเหลือชุมชนอย่างไร และที่ผ่านมานั้น ชาวบ้านมีความคาดหวังสูงต่อการแก้ไขปัญหาของโรงไฟฟ้าจะนะ อย่างไรก็ตาม เราไม่กลัวการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการทำงานก็มีความโปร่งใส ปฎิบัติตามกรอบของ EIA กฎหมาย และกฎกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด” ผอ.โรงไฟฟ้าจะนะกล่าวทิ้งท้าย