xs
xsm
sm
md
lg

ประมงตรังวิจัยขยายพันธุ์หอยตะเภาสำเร็จปล่อยกลับคืนสู่หาดปากเมง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง เดินหน้าทดลองและวิจัยการขยายพันธุ์ของหอยตะเภา เพื่อปล่อยกลับคืนสู่หาดปากเมง หลังจากผลการเพาะเลี้ยงประสบความสำเร็จ

นายโกวิทย์ เก้าเอี้ยน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง กล่าวว่า หอยตะเภา เป็นหอยสองฝา ที่มีเนื้อขาวนุ่ม น่ารับประทาน และรสชาติหวานอร่อย ซึ่งมีรายงานการพบหอยชนิดนี้เฉพาะชายฝั่งทะเลอันดามัน โดยเฉพาะที่หาดปากเมง ตำบลไม้ฝาด อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง จนได้มีการจัดงานวันเทศกาลหอยตะเภา ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และกลายเป็นสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของหาดปากเมง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการเก็บหอยชนิดนี้มาใช้ประโยชน์มากขึ้น และมีการทำการประมงที่มากเกินไป จนแหล่งเพาะพันธุ์เสื่อมโทรม โดยมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อหอยถึงหน้าหาด กิโลกรัมละ 150-200 บาท เพื่อส่งไปขายต่อร้านอาหารในกรุงเทพฯ หรือรวบรวมส่งออกไปยังประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และสิงคโปร์ จนปัจจุบัน หอยตะเภากำลังเข้าข่ายสัตว์น้ำที่จัดอยู่ในสถานภาพเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

 
ดังนั้น ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งตรัง ภายใต้คณะทำงานที่นำโดย น.ส.อนิดา สงนุ้ย นักวิชาการประมงปฏิบัติการ จึงได้พยายามทำการทดลองและวิจัยการขยายพันธุ์ของหอยตะเภา มาตั้งแต่ปี 2548 กระทั่งในปี 2553 ก็สามารถเพาะพันธุ์หอยตะเภา จากพ่อแม่พันธุ์ที่ขุนเลี้ยงไว้ได้สำเร็จ และอนุบาลจนได้ลูกหอยขนาด 1-2 ซม. จำนวน 7,900 ตัว พร้อมทั้งได้นำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในงานวันอนุรักษ์หอยตะเภา เมื่อปี 2553

นายโกวิทย์ กล่าวว่า ผลจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี 2554 ทางศูนย์ได้เพาะพันธุ์ และปล่อยลูกหอยกลับคืนสู่หาดปากเมงแล้ว จำนวน 20,000 ตัว อย่างไรก็ตาม ยังมีความพยายามที่จะต่อยอดโครงการในปี 2555 และปีต่อๆ ไป เพื่อเพิ่มปริมาณหอยตะเภาให้มากขึ้น และเพิ่มจำนวนหอยในแหล่งพ่อแม่พันธุ์ ให้มีเพียงพอต่อการขยายพันธุ์เองโดยธรรมชาติ

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพัฒนาวิธีการผลิตให้มีประสิทธิภาพ หรือบำรุงพันธุ์ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เสริมสร้างความรู้ และสร้างมาตรการทำการประมงหอยตะเภาอย่างยั่งยืน ให้แก่ชุมชน และนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนหาดปากเมง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นประตูสู่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลของจังหวัดตรัง รวมไปถึงชาวประมงพื้นบ้าน และประมงชายฝั่ง หรือผู้ที่ประกอบอาชีพการท่องเที่ยว ร้านอาหาร และองค์กรท้องถิ่น

 
น.ส.อนิดา สงนุ้ย นักวิชาการประมงปฏิบัติการ ในฐานะหัวหน้าคณะทำงาน กล่าวว่า การเลี้ยงหอยตะเภาที่ได้จากการเพาะเลี้ยงในโรงเพาะฟัก จะมีขนาดใหญ่และมีความสมบูรณ์อย่างมาก จึงเหมาะสมต่อการนำไปปล่อยในแหล่งพ่อแม่พันธุ์ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของโครงการดังกล่าวมากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการปลุกจิตสำนึก และการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชาวประมง และชาวบ้านเพื่อให้หอยตะเภาคืนสู่ทะเลตรังอีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น