xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ท.ลุยสอบออกโฉนดป่าเทือกเขากมลา พบไม่ชอบด้วย กม.กว่า 100 ไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ป.ป.ท.เจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินจังหวัดภูเก็ต และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ที่บริเวณเทือกเขากมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เลขาธิการ ป.ป.ท.ลงพื้นที่ภูเก็ต ตรวจสอบนายทุนออกโฉนดที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา พบมีการพยายามออกโฉนด 20 แปลง เนื้อที่กว่า 200 ไร่ และได้ออกไปแล้ว 7 แปลง เนื้อที่กว่า 100 ไร่ ส.ค.1 บวมเกือบทั้งนั้น คาดว่า น่าจะออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เร่งตรวจสอบให้แล้วเสร็จก่อนส่งให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ

เมื่อเวลา 10.30 น.วันนี้(18 มิ.ย.) พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินจังหวัดภูเก็ต และเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต ลงพื้นที่ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดิน ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ที่บริเวณเทือกเขากมลา อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต

ภายหลังจากที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ได้มีการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่เขากมลา และจากการตรวจสอบพบว่ามีการพยายามออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินประมาณ 20 แปลง เนื้อที่กว่า 200 ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา พื้นที่อนุรักษ์โซนซี และพบว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินไปแล้วหลายแปลง ทางเลขาธิการ ป.ป.ท.ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ตรวจสอบว่าพื้นที่ที่ออกเอกสารสิทธิไปแล้วมีกี่แปลง เนื้อที่เท่าไร และอยู่ในหลักเกณฑ์ของระเบียบกฎหมายที่จะออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินได้หรือไม่ อย่างไร

อย่างไรตาม การเดินทางเข้าไปยังที่ดินที่มีการออกโฉนดนั้น ต้องใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อเท่านั้น เพราะระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร เป็นทางชันสูง มีถนนลูกรังแคบๆ สองข้างทางมีสวนยางพาราสลับกับป่า มีบ้านเรือนของคนกรีดยางอยู่ไม่กี่หลัง เมื่อไปถึงที่ดินที่ออกโฉนด สภาพพื้นที่มีต้นไม้ขนาดใหญ่ มีธารน้ำไหลผ่าน มีต้นสะตอ และทุเรียนบ้างเล็กน้อย มีการปลูกสร้างบ้านหลังใหญ่สองชั้น และมีการนำรถแบ็กโฮขึ้นไปปรับพื้นที่ก่อนหน้านี้ ที่ทาง ป.ป.ท.จะลงมาตรวจสอบ

จากการตรวจสอบเอกสาร และจากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า มีการออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินไปแล้วทั้งหมด 7 แปลง ประกอบด้วย โฉนดที่ดินเลขที่ 12735, 12736 เลขที่ดิน 13, 14 ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 14-2-97.1 ไร่ ของอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ออกจาก ส.ค.1 เลขที่ 192 เนื้อที่ 6 ไร่

โฉนดที่ดินเลขที่ 13896, 13897 เลขที่ดิน 12, 27 ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 14-2-75.1 ไร่ ของลูกสาวข้าราชการระดับสูง และนักการเมืองท้องถิ่นในพังงา ออกจาก ส.ค.1 เลขที่ 215 เนื้อที่ 15-2-25 ไร่ และผู้รับมอบอำนาจในการดำเนินการออกโฉนดที่ดินแทนบุคคลทั้งสองเป็นอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และต่อมา ที่ดินทั้งสองแปลงก็ได้ขายต่อให้แก่อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตผู้นั้น

โฉนดที่ดินเลขที่ 14283 เลขที่ดิน 7 ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 20-0-20.6 ไร่ ออกจากส.ค.1 เลขที่ 81 เนื้อที่ 15 ไร่

จากการรายงานการรังวัดของช่างรางวัด โฉนดที่ดินทุกแปลงมีการรายงานว่า ได้ทำประโยชน์ ปลูกผลไม้ เช่น สะตอ ทุเรียนเต็มทั้งแปลง และคณะกรรมการตรวจพิสูจน์ที่ดิน ได้รายงานว่าได้ปลูกผลไม้พื้นเมือง เช่น จำปาดะ ทุเรียน ยางพารา ปะปนกับไม้ธรรมชาติ และได้เรียนผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ว่าไม่ขัดข้องที่จะออกโฉนดที่ดินให้ผู้ขอออกโฉนดที่ดิน

แต่จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. พบว่า ที่ดินมีสภาพเป็นป่าดิบชื้น ไม่พบสวนผลไม้ ตามที่มีการรายงานการรังวัด มีสภาพเป็นป่าเกือบ 100% และเป็นป่าต้นน้ำโซนซี ไม่มีการครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินแต่อย่างใด การรายงานของเจ้าหน้าที่จึงเป็นรายงานเท็จ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา โดยมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งช่างรังวัดที่ดิน ปลัดอำเภอกะทู้ เจ้าหน้าที่พัฒนาที่ดินภูเก็ต เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และเจ้าพนักงานที่ดินกะทู้ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโฉนดที่ดินเลขที่ 13243 ที่ดินเลขที่ 2 ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต เนื้อที่ 12-1-39 ไร่ และโฉนดที่ดินเลขที่ 13244 เลขที่ดิน 3 เนื้อที่ 8-3-70.7 ไร่ รวมทั้ง 2 แปลงเนื้อที่ 21-1 9.7 ไร่ ออกจาก ส.ค.1 เลขที่ 7 เนื้อที่ 10 ไร่ และระบุด้านทิศเหนือจดป่าสงวนฯ การออกโฉนดที่ดินจึงต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติฉบับที่ 12 ข้อ 10 (3) ซึ่งกำหนดว่า ในกรณีที่ดินมีด้านหนึ่งด้านใด หรือหลายด้านจดที่ป่า หรือที่รกร้างว่างเปล่าและระยะที่วัดได้เกินว่าที่ปรากฏในหลักฐานการแจ้งการครอบครองให้ถือระยะในหลักฐานการครอบครองเป็นหลักในการออกโฉนดที่ดิน และจากการตรวจสอบแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี พ.ศ.2538 และปี 2545 พบว่า ในปี 2538 มีสภาพเป็นป่าเต็มพื้นที่ไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ และในปี 2545 ที่ดินส่วนใหญ่ประมาณ 80% ยังมีสภาพเป็นป่า

พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวภายหลังตรวจสอบพื้นที่ว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดินที่มีการออกโฉนดทั้ง 7 แปลงในบริเวณเทือกเขากมลาในครั้งนี้ เพื่อต้องการทราบว่าที่ดินทั้ง 7 แปลงมีสภาพเป็นป่าจริงหรือไม่ รวมทั้งมีการทำประโยชน์ในที่ดินหรือไม่ ซึ่งพบว่า ที่ดินดังกล่าวยังคงสภาพเป็นป่าต้นน้ำโซนซี การออกโฉนดที่ดินทั้ง 7 แปลงไม่น่าจะชอบด้วยกฎหมาย ทาง ป.ป.ท.จะมีการตรวจสอบ ส.ค.1 ที่ใช้ออกโฉนดให้ละเอียดอีกครั้งหนึ่ง และจะส่งเรื่องดังกล่าวที่มีการตรวจสอบทั้งหมดในภูเก็ตทั้งครั้งก่อนหน้านี้และครั้งนี้ไปให้ทางดีเอสไอ รับเป็นคดีพิเศษ ส่วนข้าราชการที่เกี่ยวข้องระดับซี 8 ลงมานั้น ทาง ป.ป.ท.จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเอง ส่วนราชการที่ระดับสูงขึ้นไปจะส่งต่อไปยัง ป.ป.ช.

นอกจากนี้ ทาง ป.ป.ท.ยังพบว่า มีการพยายามที่จะออกโฉนดที่ดินในบริเวณเทือกเขากมลาอีกประมาณ 20 แปลง เนื้อที่ประมาณ 200-300 ไร่ ซึ่งเรื่องนี้ทาง ป.ป.ท.จะทำการตรวจสอบต่อไป
ป.ป.ท.ตรวจสอบการออกโฉนดไม่ชอบด้วยกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากมลา
ตรวจสอบหลักมุดโฉนดที่ดิน
สภาพป่าในบริเวณทีมีการออกโฉนดที่ดินในป่าเทือกเขากมลา
ที่ดินที่มีการออกโฉนดสามารถมองเห็นวิวทะเลป่าตองได้อย่างสวยงาม เหมาะในการก่อสร้างรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น