xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อสหรัฐอเมริกาขึ้นค่าภาคหลวงปิโตรเลียม!/ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม

ขณะนี้ กระทรวงพลังงานกำลังจะให้สัมปทานแหล่งปิโตรเลียมใหม่จำนวน 22 แปลงนับเป็นครั้งที่ 21 ตั้งแต่เราเริ่มสำรวจ และขุดเจาะครั้งแรกเมื่อปี 2514 นับถึงปัจจุบัน เราได้ให้สัมปทานไปแล้วจำนวน 157 แปลง โดยครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2550 จำนวน 30 แปลง ในเดือนเมษายนปีนี้เพียงเดือนเดียว ปิโตรเลียมที่ได้มีมูลค่าประมาณ 3.8 หมื่นล้านบาท แต่ผลประโยชน์ที่เจ้าของประเทศได้รับกลับต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

แม้ข้อมูลดังกล่าวไม่มีรายละเอียดมากนัก แต่อย่างน้อยก็ทำให้เรารู้ว่า เรายังมีแหล่งปิโตรเลียมเหลืออยู่ ดังนั้น จึงมีเหตุผลเพียงพอที่เราจะต้องกลับมาทบทวนถึงเงื่อนไข และผลประโยชน์ที่เป็นธรรมที่เจ้าของประเทศควรจะได้รับจากทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่านี้

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ สังคมไทยได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้กันมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้เราได้รับรู้ว่าประเทศอื่นๆ เขาจัดการกันอย่างไร แต่นักการเมือง และข้าราชการที่เกี่ยวข้องของไทยไม่คิดจะปรับปรุง โดยอ้างว่า กฎหมายไม่อนุญาตบ้าง จะเสียบรรยากาศการลงทุนบ้าง ในบทความนี้ผมจะกล่าวถึงการขึ้นค่าภาคหลวงในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ซึ่งเป็นการจัดการที่นุ่มนวลที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ผมได้อ้างอิงเอกสารเพื่อให้ท่านอื่นๆ สามารถค้นคว้าต่อไปด้วย

หน่วยงานของสหรัฐอเมริกาที่ผมรู้สึกชื่นชมมากมีชื่อย่อว่า G.A.O. (Government Accountability Office) ซึ่งน่าจะแปลว่า สำนักงานความรับผิดชอบของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา ในเดือนกันยายน 2551 ทาง G.A.O. ได้ออกรายงาน (44 หน้า) เรื่อง ค่าภาคหลวงน้ำมันและก๊าซ : ระบบการจัดเก็บรายได้จากน้ำมันและก๊าซของรัฐบาลกลางจำเป็นต้องมีการประเมินใหม่อย่างรอบด้าน (GAO-08-691 Oil and gas royalties : The Federal System for Collecting Oil and Gas Revenues Needs Comprehensive Reassessment) ซึ่งเป็นรายงานเพื่อเสนอต่อสภาคองเกรส

ส่วนหนึ่งของรายงานฉบับนี้ได้อ้างผลการศึกษาในปี 2550 ว่า “ส่วนที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้รับ (government take-ซึ่งค่าภาคหลวงเป็นส่วนหนึ่งรวมอยู่ในนี้) นั้นอยู่ในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในโลก” (In May 2007, we reported that, based on studies by industry experts, the amount of money that the U.S. government receives from production of oil and gas on federal lands and waters—the so-called “government take”— was among the lowest in the world. )

ก่อนปี 2550 อัตราค่าภาคหลวงในแหล่งบนบกโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 12.5 (หน้าที่ 9 ของรายงาน) แต่สำหรับแหล่งในทะเลขึ้นอยู่กับความลึกของน้ำ คือ 12.5% สำหรับน้ำลึกกว่า 400 เมตร และ 16.67% สำหรับน้ำตื้นกว่านั้น

ในปี 2550 หน่วยงานที่ชื่อว่า The Secretary of Interior ได้ขึ้นค่าภาคหลวงถึง 2 ครั้งสำหรับสัมปทานใหม่ในอ่าวเม็กซิโก คือ มกราคม ในเขตน้ำลึกเป็น 16.67% และในเดือนตุลาคม ทุกสัมปทานจะเพิ่มเป็น 18.75%’

กลับมาที่ประเทศไทยครับ ตั้งแต่เริ่มต้น เราคิดค่าภาคหลวงในอัตรา 12.5% แต่นับจากปี 2534 เป็นต้นมา ได้มีการปรับมาเป็นช่วงตั้งแต่ 5-15% ตามจำนวนมากน้อยที่ขุดเจาะได้ในแต่ละเดือน โดยที่อัตราสูงสุดจะเกิดขึ้นเมื่อขุดเจาะได้มากกว่า 6 แสนบาร์เรลต่อเดือน แต่ค่าเฉลี่ยที่ผมสุ่มดูในแหล่งต่างๆ พบว่า อยู่ที่ประมาณ 12.456% เท่านั้น ไม่มีแหล่งใดเกินค่านี้เลย อัตราค่าภาคหลวงที่เราได้รับนี้ต่ำกว่าที่สหรัฐอเมริกาได้รับ

กลับมาที่สหรัฐอเมริกาอีกครับ รัฐ Montana ได้ประกาศขึ้นค่าภาคหลวงน้ำมัน และก๊าซตั้งแต่เดือนกันยายน 2548 จาก 12.5% สำหรับก๊าซ และ 13.0% สำหรับน้ำมัน เป็น 16.67% ทั้งสองอย่าง การขึ้นครั้งนี้ไม่มีผลกับผู้ได้รับสัมปทานเก่าที่ทำมาแล้ว

รายงานอีกชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ มีรหัสสำหรับค้นในอินเทอร์เน็ตว่า OCS Report MMS 2008-013 คือ Deepwater Gulf of Mexico 2008 : America’s Offshore Energy Future (หน้า 26) ที่น่าสนใจก็คือ นอกจากจะมีการขึ้นค่าภาคหลวงแล้ว ยังมีการขึ้นค่าเช่า (rental rate) ด้วย ภาพข้างล่างนี้มาจากแฟนในเฟซบุ๊กจัดทำให้อย่างสวยงาม โดยใช้ข้อมูลที่ผมค้นเจอจากรายงานดังกล่าว

คือค่าเช่าอยู่ที่ $6.25 ต่อเอเคอร์สำหรับน้ำลึกน้อยกว่า 200 เมตร และ $9.50 ต่อเอเคอร์สำหรับส่วนที่น้ำลึกกว่า 200 เมตร รายงานนี้ไม่ได้บอกว่าค่าเช่าเดิมเท่าใด บอกแต่อัตราค่าเช่าใหม่ และไม่ได้บอกว่าต่อระยะเวลาเท่าใด แต่ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นต่อปี

ถ้าแปลงเป็นเงินไทยในเขตน้ำตื้นก็ประมาณ 48,500 บาทต่อตารางกิโลเมตรต่อปี ถ้าเป็นแหล่งลันตา สิมิลัน และสุรินทร์ ซึ่งมีพื้นที่ 9,686 ตารางกิโลเมตร (อยู่บริเวณอ่าวไทย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เริ่มผลิตเมื่อมกราคม 2551 ได้ก๊าซวันละ 6 ล้านลูกบาศก์ฟุต น้ำมัน 3,312 บาร์เรลต่อวัน หรือประมาณ 5% ของน้ำมันที่คนไทยใช้) เราก็น่าจะได้ค่าเช่าถึงกว่า 460 ล้านบาทต่อปี เรื่องนี้เป็นความรู้ใหม่ของผมครับ ผมไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีการเก็บค่าเช่าด้วย เพราะประเทศไทยเราไม่เคยมีการกล่าวถึงเรื่องนี้เลย

กลับมาที่เรื่องค่าภาคหลวงเพียงอย่างเดียว จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า ในปี 2554 ไทยได้ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมจำนวน 51,179 ล้านบาท (อัตรา 12.45%) ถ้าเราขึ้นค่าภาคหลวงเลียนแบบสหรัฐอเมริกา 18.75% เราจะได้ค่าภาคหลวงเพิ่มขึ้นเป็น 77,076 ล้านบาท คือเพิ่มขึ้นถึง 25,897 ล้านบาท

ดีไหม? มีเหตุผลไหม? เสียหายตรงไหน? แล้วทำไมไม่ทำ? ภาคประชาชนช่วยกันตั้งคำถามหน่อยครับ!
กำลังโหลดความคิดเห็น