ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ทุกภาคส่วนในภูเก็ตผลักดันของบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข 340 ล้านบาท สร้างโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นวมินทราชินี หรือโรงพยาบาลฉลอง ขนาด 30 เตียง พร้อมสนับสนุนงบเบื้องต้น 50 ล้านบาท จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ รองรับการขยายตัวของชุมชน และลดความหนาแน่นของโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (13 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายแพทย์วิวัฒน์ ศีตมโนช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต นายศุภชัย โภชนุกุล นายกอำเภอเมืองภูเก็ต แพทย์ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฉลอง นายสำราญ จินดาพล นายกเทศมนตรีตำบลฉลอง สมาชิกสภาเทศบาลตำบลฉลอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าหารือนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ในการผลักดันโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา นวมินทราชินี หรือโรงพยาบาลฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต
นายแพทย์วิวัฒน์ ศรีตมโนช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า โรงพยาบาลฉลองจะเป็นโรงพยาบาลที่รองรับผู้ป่วยในพื้นที่ตำบลฉลอง ราไวย์ กะตะ กะรน ก่อนที่จะส่งต่อมายังโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูเก็ตทั้งในส่วนของสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคประชาชน เห็นด้วยที่จะผลักดันให้เกิดโรงพยาบาลฉลองขึ้นมาเป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือถึงรายละเอียดมาแล้ว 2 ครั้ง ทุกฝ่ายต้องการที่จะให้โรงพยาบาลดังกล่าวเกิดขึ้นให้ได้ในเร็วๆ นี้
โดยในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ได้เสนอโครงการดังกล่าวไปยังกระทรวงสาธารณสุขแล้ว เพื่อขอจัดสรรงบประมาณจำนวน 340 ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ในปีงบประมาณ 2556 ที่บริเวณโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฉลองในปัจจุบัน บนเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่
ส่วนความพร้อมด้านแพทย์ และพยาบาลนั้น ขณะนี้ ทางโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวลักษณ์ในการผลิตแพทย์ และในส่วนของพยาบาลนั้นได้รับการยืนยันจากเทศบาลตำบลฉลองในการสนับสนุนทุนการศึกษาให้แก่เด็กนักเรียนในพื้นที่ภูเก็ตในการศึกษาด้านพยาบาลที่วิทยาลัยพยาบาลจังหวัดตรัง และสุราษฎร์ธานี ซึ่งจุดนี้จะมีบุคลากรทางการแพทย์รองรับได้อย่างแน่นอนอยู่แล้ว
ด้านนายสำราญ จินดาพล นายกเทศมนตรีตำบลฉลอง กล่าวว่า ในส่วนของเทศบาลตำบลฉลองพร้อมให้การสนับสนุน และผลักดันให้โรงพยาบาลดังกล่าวเกิดขึ้นให้ได้ เพราะในพื้นที่ฉลองขณะนี้มีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 40,000-50,000 คน ยังไม่รวมคนต่างชาติ แรงงานพม่า และประชากรในพื้นที่ใกล้เคียงอีก ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่า ในพื้นที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง การจะนำผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาลวชิระต้องใช้เวลาค่อนข้างนานจากการจราจรที่ติดขัดอย่างหนัก และมีแนวโน้มจะติดขัดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การมีโรงพยาบาลเกิดขึ้นในพื้นที่ฉลองจะสามารถแบ่งเบาความหนาแน่นของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลวชริระได้ระดับหนึ่ง
“เรื่องนี้ทางเทศบาลได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้ว 2 รอบ ได้ข้อสรุปว่า พื้นที่บริเวณโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลฉลองในปัจจุบัน มีความเหมาะสมในการก่อสร้าง และมีพื้นที่บางส่วนที่เป็นตลาด เมื่อรวมทั้งสองจุดแล้วจะมีพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ ซึ่งเพียงพอในการสร้างโรงพยาบาล และในส่วนของพ่อค้า แม่ค้า ที่ขายของอยู่ในตลาดประมาณ 80 ราย ทางเทศบาลตำบลฉลองจะหาพื้นที่ตลาดแห่งใหม่ให้ เพื่อไม่ให้พ่อค้า แม่ค้าได้รับความเดือดร้อน” นายสำราญกล่าวและว่า
และทางเทศบาลตำบลฉลองก็พร้อมที่จะให้ทุนการศึกษาแก่เด็กในพื้นที่ภูเก็ตในการศึกษาด้านการแพทย์ และการพยาบาล เพื่อให้มีบุคลาการเพียงพอกับการเกิดขึ้นของโรงพยาบาลดังกล่าว รวมทั้งในส่วนของอุปกรณ์ทางการแพทย์นั้น จากการหารือกับทุกภาคส่วนทุกจะมีการระดมทุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ในเบื้องต้นก่อน 50 ล้านบาท
ขณะที่ นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ทางจังหวัดพร้อมที่จะให้การสนับสนุนโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลดังกล่าว ซึ่งก่อนที่จะมีการประชุม ครม.สัญจรที่ภูเก็ตได้หารือกับทางสาธารณสุขในการนำเสนอโครงการนี้เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.ด้วย เพราะโรงพยาบาลถือว่ามีความจำเป็นมากในการดูแลผู้ป่วย จังหวัดพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่