xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 15 หลักเกณฑ์เยียวยาเหยื่อไฟใต้ ในวงเงิน 2,080 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศอ.บต.เปิด 15 หลักเกณฑ์เยียวยาไฟใต้ จากงบทั้งหมด 2,080 ล้านบาท เน้นพัฒนาคุณภาพชีวิต คืนเกียรติศักดิ์ศรี และสร้างความสมานฉันท์ ไม่ใช่แค่ให้เงิน

เวทีสัมมนา “เยียวยาอย่างไร นำไปสู่ความสมานฉันท์” ที่จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งเวทีที่มีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนในเรื่องเงินในการช่วยเหลือผู้เสียหายจากไฟใต้ แต่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ผู้อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ก็ได้กล่าวถึงการเยียวยาในรูปแบบอื่นๆ ที่มุ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และฟื้นฟูศักดิ์ศรีของคนในพื้นที่ รวมถึงการสร้างความสมานฉันท์ในระยะยาวอีกด้วย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักเกณฑ์ และวิธีการช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหายจากเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2555 พร้อมกับอนุมัติงบประมาณ 2,080 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้เป็นค่าดำเนินการ 80 ล้านบาท

โดยได้มีการจัดสรรเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นครึ่งหนึ่งของงบประมาณให้กลุ่มที่ถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือกรณีเฉพาะ เช่น เหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 (เหตุการณ์กรือเซะ) เหตุการณ์ตากใบ ส่วนกลุ่มประชาชนที่เป็นผู้เสียหายจากเหตุรุนแรงทั่วไปซึ่งเป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด ได้รับการจัดสรรงบ 500 ล้านบาท

สำหรับในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นผู้เสียหายได้รับงบ 200 ล้านบาท และคนที่ถูกควบคุมตัว หรือถูกคุมขัง หรือถูกดำเนินคดี แต่ต่อมาปรากฏหลักฐานว่าไม่ได้ทำผิด ถอนฟ้องหรือถูกยกฟ้อง อีก 300 ล้านบาท

ทว่า การเยียวยาของรัฐ ไม่ได้มีเพียงการให้เงินเท่านั้น เพราะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้กำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือในรูปแบบอื่นๆ ด้วย เป็นการเน้นดูแลคุณภาพชีวิต ทำให้คนเหล่านี้ไม่เป็นภาระของสังคม และทำให้การเยียวยานำไปสู่ความสมานฉันท์ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาว

ต่อไปนี้เป็นหลักเกณฑ์ และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้เสียหาย และได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

1. การรักษาพยาบาลทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมทั้งการส่งต่อฟื้นฟูผู้พิการ หรือฟื้นฟูสมรรถภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ โดยแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
2. การสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์
3. การเยียวยาทางด้านจิตวิญญาณ เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ หรืออุมเราะฮ์ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย หรือประกอบศาสนกิจตามหลักศาสนาอื่น
4. การให้สิทธิในการเข้ารับการศึกษาของตนเอง หรือทายาท
5. การสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการศึกษาอย่างต่อเนื่องตามสมควร
6. การช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายด้านทรัพย์สิน
7. การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย หรือการช่วยเหลือด้านที่ทำกิน หรือการส่งเสริมการประกอบอาชีพ
8. การได้รับการเยี่ยมเยียนอย่างต่อเนื่องโดยกลุ่มสหวิชาชีพ

9. การส่งเสริมการสร้างกลุ่ม และการรวมกลุ่มของผู้ได้รับผลกระทบเพื่อดูแลซึ่งกันและกัน
10. การได้รับความช่วยเหลือให้มีความปลอดภัย หรือมีส่วนร่วมในการจัดระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีก
11. การคุ้มครองป้องกันจากการถูกปองร้าย
12. การจัดตั้งสถานพยาบาลเฉพาะทาง หรือสถาบันส่งเสริมการศึกษา เยียวยาฟื้นฟูผู้พิการในจังหวัดชายแดนภาคใต้
13. การช่วยเหลือเยียวยาด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ
14. ค่าใช้จ่ายในการแสวงหาข้อเท็จจริง และหลักฐาน การเข้าถึงความเป็นธรรม
15. การช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเยียวยาฯ พิจารณาเห็นสมควร

กองบรรณาธิการโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ)
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต.
กำลังโหลดความคิดเห็น