xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านยะลาฉะ ส.ส.เสื้อแดงเสนอ พ.ร.บ.ปรองดอง ช่วยพวกตัวเองพ้นผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - ชาวบ้านในพื้นที่ จ.ยะลา ต่างวิพากษ์วิจารณ์ เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติกันอย่าหนาหู ชี้เอื้อประโยชน์แก่คนเพียงบางกลุ่ม ส่วนเรื่องทะเลาะกันในสภา ประชาชนที่เลือกเข้าไป หรือบุคคลที่กระทำต้องพิจารณาแล้วว่า ทำตัวเหมาะสมกับตำแหน่งอันทรงเกียรติหรือไม่

หลังจาก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฐานะแกนนำคนเสื้อแดง พร้อมด้วย ส.ส.เสื้อแดง พรรคเพื่อไทย เช่น นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย, น.ส.ขัติยา สวัสดิผล, นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์, นายจารุพรรณ กุลดิลก, นายพายัพ ปั้นเกตุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ, จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศีรษะ ส.ส.สุรินทร์, นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี ได้ร่วมยื่นร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ หรือ (พ.ร.บ.ปรองดอง) ต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ที่อาคารัฐสภา เมื่อวันที่ 28 พ.ค.55 ที่ผ่านมานั้น

สำหรับในพื้นที่ จ.ยะลา บรรยากาศตามร้านน้ำชา-กาแฟ ในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมืองยะลา มีชาวบ้านจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติฉบับนี้กันอย่างหนาหู

นายคลองธรรม แซ่เจน ชาวบ้านในเขตเทศบาลนครยะลา ที่ติดตามข่าวสารการเมืองมาโดยตลอด กล่าวว่า ตนเองอาศัยอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย และตนเองก็คิดว่าสามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่อง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติ ได้ ถ้าพูดถึงเรื่องปรองดองแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ตนเองเชื้อว่าประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ จะเป็นคนไทย หรือไม่ใช่คนไทย ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ดี ทุกๆ คนอยู่ด้วยกันด้วยความปรองดอง อยู่ด้วยความสามัคคี แต่ว่าในเรื่องที่ต้องพิจารณาก็คือ พระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ หรือ พ.ร.บ.ปรองดอง ที่มีการนำเสนอเข้าในสภาฯ สิ่งที่จะบอกว่าจะทำให้เกิดความปรองดอง แต่การพิจารณา และการแสดงความเห็นกลับเกิดความแตกแยกกันขึ้น มันเป็นเรื่องที่มีความขัดแย้งกันในตัวเอง ทุกคนกำลังทำในสิ่งที่เรียกว่าปรองดอง

แต่ขณะเดียวกัน ขั้นตอนที่นำไปสู่การปรองดองนั้นมีความขัดแย้ง มีความเห็นต่าง มีสิ่งที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น ตนเองก็อยากจะฝากไปยังคนไทยที่ได้รับฟัง และรับชมอยู่ทุกๆ คนให้พิจารณากันเองก็แล้วกันว่า ความปรองดองสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่กับสิ่งที่เรียกว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ หรือ พ.ร.บ.ปรองดอง ซึ่งถ้าหากมีการลงลึกไปในเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว จะเห็นได้ว่ามีทั้งหมด 8 มาตราด้วยกัน ซึ่งผู้ที่ได้ผลประโยชน์จาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยตรง คือ 1.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติ เมื่อ ปี 49 ที่ผ่านมา 2.ผู้ที่ได้รับกระทบจากการยุบพรรคการเมือง 3.ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมเมื่อช่วง พฤษภาคม 54 ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นผู้กระทำ หรือผู้ถูกกระทำ โดย 3 กลุ่มนี้คือกลุ่มหลักๆ ที่มีผลส่วนได้ส่วนเสียกับพระราชบัญญัติว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ หรือ พ.ร.บ.ปรองดอง

โดยหากลงลึกไปในเนื้อหาของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้มากกว่านี้ จะเห็นได้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญ หรือ คตส.ได้ตัดสินอะไรไปแล้วจะเป็นโมฆะทันที หาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน ตนเองอยากฝากถามไปยังผู้ที่เสนอว่า การเสนอ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ โดยสิ่งที่ศาลได้ตัดสินไปแล้ว ถ้าหากมีการนำมาพิจารณาใหม่ มีการมาบอกว่าในสิ่งที่ศาลตัดสินได้ยกเลิก ไม่ถูกต้อง อนาคตข้างหน้าต่อไป ใครจะเชื่อศาล ซึ่งกระบวนการของการบริหารประเทศไทย มี 3 ส่วน คือ นิติบัญญัติ, ตุลาการ และบริหาร ใน 3 ส่วนนี้ ตุลการ จะต้องได้รับความคุ้มครองมากที่สุด จะต้องไม่มีอำนาจใด ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่มองไม่เห็น หรืออำนาจที่มองเห็นมาแทรกแซงได้ หากกระบวนการยุติธรรมถูกแทรกแซง ตนเองเชื่อว่าต่อไปประเทศไทยจะมีความโกลาหลวุ่นวายมาก

นายคลองธรรม กล่าวต่ออีกว่า ส่วนในเรื่องที่มีการทะเลาะกันในสภาอันทรงเกียรตินั้น ตนเองมองว่า ทุกคนเป็นบุคคลที่ทรงเกียรติ สถานที่ก็เป็นสถานที่อันทรงเกรียติ เมื่อมีพฤติกรรมแบบนี้ ตนเองมองว่าประชาชนที่เลือกบุคคลเหล่านั้นเข้าไป ต้องมีการพิจารณา และตัวบุคลที่กระทำเองก็ต้องพิจารณาว่า ได้ทำหน้าที่เหมาะสมกับตำแหน่งอันทรงเกียรตินั้นหรือไม่
นายคลองธรรม แซ่เจน ชาวบ้านในเขตเทศบาลนครยะลา

กำลังโหลดความคิดเห็น