xs
xsm
sm
md
lg

คกก.ล่วงล้ำลำน้ำภูเก็ตอนุมัติให้เอกชนสร้างท่าเทียบเรืออีก 2 โครงการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวสมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 3/2555
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - คณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำภูเก็ต อนุมัติให้เอกชนก่อสร้างท่าเทียบเรือในภูเก็ตขนาดไม่เกิน 100 ตันกรอส อีก 2 จุด ที่เกาะสิเหร่ และแหลมหิน

เมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (30 พ.ค.) ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดภูเก็ต น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจังหวัดภูเก็ต ครั้งที่ 3/2555 โดยมีนายภูริพัฒน์ ธีรกุลพิศุทธ์ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 ภูเก็ต นายวงศกร นุ่มชูคันธ์ โยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต ตัวแทนจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ประมงจังหวัดภูเก็ต เทศบาลตำบลรัษฎา อบต.เกาะแก้ว เข้าร่วม
สถา่นที่ก่อสร้างท่าเทีียบเรือขนาดไม่เกิน 100 ตันกรอส ของนายดุสิต มายะการ ที่เกาะสิเหร่ ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต
โดยที่ประชุมได้เห็นชอบโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือตามที่ภาคเอกชนได้ยื่นขอจำนวน 2 โครงการ ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 100 ตันกรอส ของนายดุสิต มายะการ ที่บริเวณริมฝั่งเกาะสิเหร่ หมู่ที่ 1 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เพื่อใช้เทียบเรือขนาดไม่เกิน 100 ตันกรอส โดยท่าเรือดังกล่าวมีความยาว 223 เมตร ปลายท่าเป็นสะพานปรับระดับ เพื่อให้เรือจอดได้สะดวก

ซึ่งทางคณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการดังกล่าวไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม ปะการัง เนื่องจากพื้นที่บริเวณดังกล่าวเป็นโขดหิน และเป็นดินเลนไม่ขัดกับแผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต และโครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อภูเก็ต ในแง่ของการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเลอีกด้วย รวมทั้งไม่ขัดกับกฎหมายผังเมือง
สถานที่ก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 100 ตันกรอส ของ บริษัท พาราไดส์ มารีน่า จำกัด ที่บ้านแหลมหิน ต.เกาะแก้ว อ.เมืองภูเก็ต
โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือขนาดไม่เกิน 100 ตันกรอส ของบริษัท ภูเก็ต พาราไดส์ มารีน่า จำกัด ที่บริเวณริมฝั่งทะเลแหลมหิน ต.เกาะแก้ว อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยท่าเทียบเรือมีความยาว 240 เมตร ซึ่งสถานที่ก่อสร้างอยู่ริมป่าชายเลน

นายภูริพัฒน์ ธีรกุลพิศุทธ์ เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 ภูเก็ต กล่าวว่า โครงการนี้เป็นห่วงในเรื่องของการขุดลอกร่องน้ำ เพราะสภาพที่ตั้งของโครงการมีสภาพพื้นที่ที่ตื้นเขิน ท่าเทียบเรือจะต้องมีความยาวประมาณ 400-450 เมตร ถึงจะอยู่ในจุดที่น้ำลึกที่เรือจะเข้าจอดเทียบท่าได้ แต่โครงการนี้ท่าเทียบเรือมีความยาวเพียง 240 เมตร เรือไม่สามารถเข้าจอดได้ จะต้องขุดลอกร่องน้ำเท่านั้น ซึ่งการขุดลอกร่องน้ำในอนาคตจะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และประชาชนในพื้นที่จะต้องได้ประโยชน์ด้วย เพราะในบริเวณใกล้เคียงโครงการมีสะพานท่าเทียบเรือของชาวบ้านที่จะข้ามไปเกาะมะพร้าวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น