xs
xsm
sm
md
lg

สงขลาฟื้นวิถีชีวิต “โหนด นา ไผ่ คน” สร้างชุมชนมีสุข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ชาวรำแดง อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ฟื้นวิถีชีวิต “โหนด นา ไผ่ คน” ประกาศเป็นวาระชุมชนตามโครงการเรารักสงขลา ยึดหลักการทรงงานในหลวง เป็นแนวทางสร้างความสุขให้คนในชุมชน

วันนี้ (30 พ.ค. ) ที่วัดห้วยพุด หมู่ที่ 2 ต.รำแดง อ.สิงหนคร จังหวัดสงขลา นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดโครงการ “เรารักสงขลา” เพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมในการพัฒนาหมู่บ้าน ชุมชน ให้เป็นหมู่บ้านอยู่เย็นเป็นสุข ตามวาระชุมชนคนสงขลา ที่มุ่งยึดหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน โดยมี นายกฤษ อุไรรัตน์ นายอำเภอสิงหนคร กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

กิจกรรมตามโครงการในครั้งนี้ ประกอบด้วย การถวายสัตย์ปฏิญาณตนเดินตามรอยพ่อ น้อมนำหลักการทรงงานมาใช้ในการพัฒนาชุมชน กิจกรรมจุดเทียนส่องทางเดินตามรอยพ่อ การมอบทุนการศึกษาของกองทุนพัฒนาเด็กชนบท การมอบป้ายโครงการเรารักสงขลา แก่หมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการในปีนี้ จำนวน 20 หมู่บ้าน และการลงนาม MOU วาระชุมชน เรารักสงขลา ของอำเภอสิงหนคร ซึ่งเป็นความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในอำเภอสิงหนคร

จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ของตำบลรำแดง ซึ่งเป็นศูนย์รวมความรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนในตำบล ให้ลูกหลานเยาวชนตำบลรำแดงได้สืบทอดให้คงอยู่กับชุมชนสืบไป ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้วิถีชีวิต “โหนด นา ไผ่ คน” ซึ่งอยู่คู่กับคนตำบลรำแดงมาช้านาน เช่น ฐานการเรียนรู้ตาลโตนด ฐานการเรียนรู้บ้านใบตาล ฐานการเรียนรู้การอนุรักษ์เรือนพื้นถิ่น

โอกาสเดียวกันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ยังได้ประเดิมการหว่านเมล็ดปอเทืองในทุ่งนาตำบลรำแดง เพื่อเป็นการเพิ่มปุ๋ยพืชสดให้แก่ดินไว้ใช้สำหรับปลูกข้าวในฤดูกาลทำนาที่จะมาถึง ต่อจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้ร่วมกับชาวตำบลรำแดง เปิดป้ายโครงการ “เรารักสงขลา” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเดินหน้าร่วมกันพัฒนาชุมชนตามโครงการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

นายอุดม ทักขระ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลรำแดง กล่าวว่า การเข้ามาของวัฒนธรรมใหม่ คือวัฒนธรรมบริโภค ทำให้สังคมของตำบลรำแดงล่อแหลมสุ่มเสี่ยงในหลายเรื่อง เช่น การที่ต้องหารายได้ให้ได้มากๆ จึงจะทำให้มีชีวิตที่ดีได้ ทำให้คนรำแดงลืมวิถีชีวิตแบบพอเพียง ลืมภูมิปัญญาท้องถิ่นเดิมๆ ที่สามารถสร้างอาชีพ และอยู่ได้อย่างมีความสุข วันนี้จึงต้องหันกลับมาฟื้นฟูวิถีชีวิต และภูมิปัญญาที่เรามี โดยเฉพาะวิถีชีวิต “โหนด นา ไผ่ คน” ซึ่งเรามั่นใจว่าสิ่งเหล่านี้ จะสามารถสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตของคนรำแดงได้





กำลังโหลดความคิดเห็น