xs
xsm
sm
md
lg

แนะ สวจ.น้อมนำหลักทรงงานในหลวง ทำงานด้านวัฒนธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วธ.น้อมนำหลักทรงงาน “ในหลวง” ให้ สวจ. ทำงานวัฒนธรรม เน้นศึกษาข้อมูลวัฒนธรรมชุมชนก่อนลงมือปฏิบัติ พร้อมปรับนโยบายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมใหม่ จากจ้องจับผิดเป็นสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรม

วันนี้ (2 เม.ย.) นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวเปิดในการประชุมเชิงปฏิบัติแนวทางการดำเนินงานเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด (สวจ.) ณ โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา สวจ.มีบทบาทในด้านการเก็บข้อมูล งานวันสำคัญต่างๆ และสนับสนุนงานด้านวัฒนธรรมของจังหวัด ทำให้ประชาชนรู้จักแต่การเข้าร่วมกิจกรรม ไม่ได้มีความซาบซึ้ง หรือแก่นแท้ของวันสำคัญนั้นๆ อย่างแท้จริง จากนี้ไปตนอยากจะขอน้อมนำแนวทางการทรงงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแนวปฏิบัติการทำงานของ สวจ.โดยหลักคิดในการทรงงานของพระองค์ คือ 1.ศึกษาข้อมูลภูมิสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตแต่ละสังคมก่อน 2.จากนั้นเอาทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ 3.หลักปฏิบัติ ทดลองแนวคิดในพื้นที่เล็กๆก่อน นำมาสู่แนวคิดเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา คือ ต้องเข้าใจพี่น้องประชาชน และพยายามชี้แจงว่าในสิ่งที่มาช่วยชาวบ้านนั้น เพื่อให้อยู่เย็นเป็นสุข มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม สุดท้ายนำไปสู่การปฏิบัติเหมือนดังแนวทางทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง

นายสมชาย กล่าวว่า แต่เดิมกลไกการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมเป็นผู้ดำเนินการเองหมด นับจากนี้ไปจะต้องขยายให้ สวจ.ดำเนินการ นอกจากการเก็บข้อมูลทางวัฒนธรรมแล้ว งานสำคัญคือการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ได้แก่ การสำรวจสภาวการณ์ทางวัฒนธรรม งานเฝ้าระวังที่จะสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรมให้เด็กและเยาวชน ชุมชน การสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม การติดตามประเมินผลสื่อปลอดภัยสร้างสรรค์ หาก สวจ.เข้าใจ และวางบทบาทอย่างถูกต้องแล้วจะยิ่งสร้างบทบาทงาน สวจ.ให้โดดเด่นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสร้างภูมิคุ้มกันทางวัฒนธรรม ไม่ใช่การจับผิด ถูก ดี หรือ ไม่ดี แต่จะเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์แต่ละท้องถิ่นโดยคนในท้องถิ่นเอง เป็นการเฝ้าระวังสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมเท่านั้น หากพบสิ่งที่ไม่เหมาะสมจะต้องมีกระบวนการแจ้งเตือนชุมชน เช่น แหล่งอบายมุข เหล้า ภัยสังคม อาชญากรรม
ปลัด วธ.ระบุว่า ต่อไป สวจ.ต้องรวบรวมวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมสร้างกิจกรรมที่ทำให้ประชาชนเกิดความตระหนักรักศิลปวัฒนธรรมของตัวเอง เกิดวัฒนธรรมที่ดี มีปฏิบัติ จนเกิดจิตสำนึกความภาคภูมิใจ สุดท้ายทุกคนจะเกิดทัศนคติที่ดีกับวัฒนธรรมไทย โดยเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) วัด ผู้นำชุมชน ที่สำคัญ จะต้องส่งเสริมให้เกิดระบบเฝ้าระวังในครอบครัว กระตุ้นการตัดสินใจรับหรือไม่รับวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่เข้ามา เปิดโอกาสให้ชุมชนเป็นผู้ประสานจัดกิจกรรม รวมตัวเป็นประชาสังคม งานเฝ้าระวังต้องเปลี่ยนจากการจับผิด ปรับเป็นการส่งเสริม ค่านิยมที่ดีในสังคมให้มากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมกิจกรรมที่ดีให้กับเยาวชนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น