พัทลุง - เผยโครงการรับจำนำข้าว 15,000 บาท/เกวียน ส่วนใหญ่ชาวนารายย่อยขาดแคลนอุปกรณ์เก็บเกี่ยว และรถขนข้าวไปจำนำ พ่อค้าคนกลางลาภปากฟันกำไร 4,000 บาท/เกวียน
แหล่งข่าวจากชาวนารายใหญ่ จ.พัทลุง เปิดเผยว่า โครงการรับจำนำข้าว 15,000 บาท ของรัฐบาล ทำให้ชาวนาเริ่มหันมาทำนาข้าวเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ โดยชาวนารายย่อยเมื่อปลูกแล้วก็ไม่ได้นำส่งโรงสีเพื่อรับจำนำ เพราะไม่มีอุปกรณ์ เช่น รถบรรทุกส่งข้าว ที่เก็บและตากข้าว ดังนั้น ก็จะมีพ่อค้ามารับซื้อข้าวถึงที่นา โดยใช้รถมาเก็บเกี่ยวและบรรทุกเอง ชาวนารายย่อยจริงๆ แล้ว ไม่มีเงินลงทุนพอ จึงเป็นโอกาสของกลุ่มพ่อค้าคนกลาง
“ในระยะแรก พ่อค้าจะรับซื้อจากชาวนา ราคา 8,500 บาท/เกวียน แต่ระยะถัดมาพ่อค้ามีการแข่งขันกันมาก จนมีการแย่งซื้อจนราคาขยับขึ้นมาถึง 10,500 บาท/เกวียน แล้วได้นำเข้าสู่โครงการรับจำนำ 15,000 บาท/เกวียน สร้างผลกำไรกว่า 4,000 บาท/เกวียน”
ขณะเดียวกัน แหล่งข่าวจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า ในพื้นที่พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ขณะนี้เริ่มเข้าฤดูกาลทำนา ซึ่งอยู่ในขั้นพรวนดิน คาดว่าปีนี้มีการปลูกข้าวประมาณ 270,000 ไร่ เนื่องจากมีพื้นที่จำกัด เพราะได้ทยอยเลิกการทำนา หันไปปลูกปาล์มน้ำมันกันเพิ่มขึ้น จึงทำให้พื้นที่ทำนาทยอยลดลงประมาณปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ จากระยะปี 2552 ที่มีถึง 300,000 ไร่
“ชาวนาในพื้นที่พัทลุง ชาวนารายย่อยมีประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ รายละตั้งแต่ 3-10 ไร่ นอกนั้น 10-20 ไร่ มีประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ รายขนาดย่อยจะขึ้นทะเบียนไว้ แต่การขึ้นทะเบียนเข้าโครงการรับจำนำไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะชาวนารายย่อยไม่มีทุนสนับสนุนในการสร้างอุปกรณ์เก็บเกี่ยวข้าว หรือรถบรรทุกข้าวไปส่งโครงการรับจำนำ ชาวนาพัทลุงจึงไม่ค่อยเข้าสู่โครงการรับจำนำข้าว ส่วนใหญ่จะขายให้แก่พ่อค้าคนกลางที่เข้าไปซื้อถึงที่นา นอกนั้นก็เอาไว้บริโภคเอง” แหล่งข่าว กล่าว