xs
xsm
sm
md
lg

“โบลิเวียโมเดล”...คือสิ่งที่สังคมรอคอย/บรรจง นะแส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ : ฝ่าเกลียวคลื่น
โดย.....บรรจง นะแส

รัฐบาลภายใต้การกำกับของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร นอกจากใช้ยุทธวิธีทางการตลาด เช่น นโยบายประชานิยมต่างๆ เพื่อหวังผลทางคะแนนเสียงแล้ว ยังมียุทธวิธีในการโฆษณาเพื่อเสนอรูปแบบการแก้ไขปัญหาต่างๆ ออกมาที่เรียกว่า “โมเดล” ให้เป็นที่ฮือฮาหวือหวาอยู่เป็นประจำ ไม่ว่ารูปแบบการแก้ไขปัญหาความยากจนภายใต้ “อาจสามารถโมเดล” การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้วย “บางระกำโมเดล” และที่หวือหวาไปเมื่อเร็วๆ นี้ก็คือ การปราบปรามยาเสพติดโดยการค้นคุกภายใต้ชื่อ “นครศรีธรรมราชโมเดล” และทุกโมเดลก็จะหายไปตามกาลเวลาและสายลม อยากถามว่ากล้าไหมที่จะแก้ปัญหาใหญ่ของชาติสักเรื่อง นั่นก็คือ “โบลิเวียโมเดล”

โบลิเวียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาใต้ ขนาดของประเทศใกล้เคียงคือบราซิล อาร์เจนตินา เปรู และชิลี มีประชากร 8,857,870 คน มีเนื้อที่ 1,098580 ตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่มีความความหนาแน่นของประชากรน้อยมากคือแค่ 8 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร แต่กลับเป็นประเทศที่ยากจนเป็นอันดับ 3 หากนับรวมทั้งภาคพื้นอเมริกา (รวมอเมริกากลาง และแคริบเบียน) รายได้ประชากรต่อหัวต่อปีคือ 900 ดอลลาร์ (ราว 36,000 บาท) นอกจากนั้น การกระจายรายได้ที่มีปัญหาทำให้ประชากรถึง 2 ใน 3 ของประเทศดำรงชีพอยู่ด้วยความลำบากยากจน กล่าวคือ ประชาชนดำรงชีวิตอยู่ด้วยรายได้ไม่ถึง 1 ดอลลาร์ (ราว 40 บาท) ต่อวันเท่านั้น ทั้งๆ ที่มีทรัพยากรธรรมชาติมากมายจึงถูกเรียกว่าเป็นประเทศที่เปรียบเสมือน “ลาที่นั่งอยู่บนเหมืองทอง”

โบลิเวียมีก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 33 ของโลก (ประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติมากติดอันดับที่ 24 ของโลก) โบลิเวียเพิ่งเริ่มสำรวจแหล่งพลังงานเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า มีแหล่งก๊าซธรรมชาติอยู่มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในอเมริกาใต้ และมีแหล่งน้ำมันสำรองอยู่ราว 414,000 ล้านบาร์เรล แต่ทั้งแหล่งก๊าซและน้ำมันล้วนตกอยู่ในมือของต่างชาติที่รัฐบาลก่อนหน้านั้นได้ให้สัมปทานผูกขาดประเคนให้แก่บริษัทต่างชาติไม่แตกต่างกับประเทศไทย ถ้าเปรียบเทียบประเทศโบลิเวียว่าเป็นเสมือน “ลาที่นั่งอยู่บนเหมืองทอง” ประเทศไทยเราก็ไม่ต่างกับ “ควายที่นั่งทับกระสอบเพชร” ยังไงยังงั้น

ประธานาธิบดีโบลิเวียเอโบโมราเลส เดินหน้าออกกฤษฎีกาโอนอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในประเทศ ให้กลายเป็นสมบัติของชาติ และออกคำสั่งให้ทหารเข้าควบคุมบ่อน้ำมันและก๊าซจำนวน 56 แห่ง พร้อมขู่ขับไล่บริษัทน้ำมันต่างชาติออกนอกประเทศ หากไม่ยอมรับสภาพการถือครองของรัฐ บรรดาผู้บัญชาการทหารระดับสูงของโบลิเวีย ได้ประกาศเข้ายึดครองบ่อน้ำมันและบ่อก๊าซหลังจากที่ประธานาธิบดีโมราเลสลงนามมีคำสั่งอย่างเป็นทางการโดยทันที

ข้อเรียกร้องของประธานาธิบดีโบลิเวียเอโบโมราเลสก็คือ บรรดาบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในโบลิเวีย ต้องมาทำข้อตกลงคืนผลประโยชน์ส่วนใหญ่ให้¬รัฐตามคำสั่งของรัฐบาลโบลิเวีย และต้องยอมแบ่งกำไร 82% ให้แก่รัฐบาล เพื่อแลกเปลี่ยนกับการดำเนินธุรกิจในโบลิเวียต่อไป (แต่ประเทศไทยวันนี้ เราได้รับผลตอบแทนจากบริษัทขุดเจาะ/สัมปทาน/ผลิตก๊าซและน้ำมันในประเทศของเราเพียง 5-15% เท่านั้น)

“ต่อไปโบลิเวียจะไม่เป็นประเทศผู้ขอทานอีกต่อไป และทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดจะต้องตกเป็นของประชาชนโบลิเวีย” นี่คือคำประกาศของประธานาธิบดีโบลิเวีย เอโบโมราเลส ที่พูดได้ว่านี่คือ “โบลิเวียโมเดล” ที่มีรูปธรรมรองรับ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ต้นตอของปัญหา โดยเฉพาะปัญหาที่จะผลักดันเอาผลประโยชน์ของธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันกลับมาเป็นของรัฐอย่างเป็นจริงเป็นจัง

ในขณะที่ประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติมากติดอันดับที่ 24 ของโลก แต่ประเทศไทยของคนไทยในวันนี้ เราได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทต่างชาติเพียง 5-15% เท่านั้น คนไทยเราเปรียบเสมือนเป็นขอทานที่นั่งทับอยู่บนกองสมบัติ แต่ปล่อยให้ข้าราชการ นักการเมืองร่วมมือกับนายทุนข้ามชาติล้วงทรัพย์สินของเราไปวันแล้ววันเล่า สภาพความยากจน จากต้นทุนค่าครองชีพที่สูงลิ่ว ราคาน้ำมัน ก๊าซ แพงกว่าประเทศที่ไม่มีพลังงานเสียอีก “โบลิเวียโมเดล” จึงเป็นทางออกที่คนไทยรอคอย.
กำลังโหลดความคิดเห็น