xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนสังคมไทยใช้ “ดีเบต-ประชามติ” แก้ขัดแย้งที่ชุมชน “หูแร่” สงขลา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากซ้ายไปขวา อรพิมพ์ ชิตมณี, ทรงศรี ฟองลมุล, ลัดดา แซ่ลิ้ม และ ฉลวย ชิตมณี แกนนำฝ่ายชาวบ้านที่ไม่เห็นด้วยให้รื้อถอดอาคารเรียนหลังประวัติศาสตร์
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน

ในเวลาที่สังคมไทยแตกแยกหนัก มีการแบ่งฝ่าย แยกขั้ว จัดกลุ่มสีเสื้อ ป้ายสีสันใส่กัน จนน่าเป็นห่วงว่าจะนำไปสู่การนองเลือดระลอกใหม่ “ASTVผู้จัดการภาคใต้” ได้ลงพื้นที่ศึกษาการแก้ปัญหาความขัดแย้งในชุมชนบ้านหูแร่ ม.3 ต.ทุ่งตำเสา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พบว่า มีรูปแบบที่น่าเรียนรู้และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชุมชนอื่นๆ รวมถึงภาพรวมของประเทศชาติได้อย่างน่าสนใจ

“บ้านหูแร่” ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองทุ่งตำเสา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่งได้รับการยกชั้นไม่นาน อยู่ไม่ไกลจากเมืองหาดใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจภาคใต้ตอนล่าง เป็นจุดแวะพักของผู้เดินทางระหว่าง อ.หาดใหญ่กับ จ.สตูล เป็นชุมทางสู่แหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อคือ น้ำตกโตนงาช้าง ที่แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย มาเลเซียและสิงคโปร์ไปเยือนราว 5 แสนคน วิถีชีวิตของคนที่นั่นจึงเป็นกึ่งเมืองกึ่งชนบท

ชาวชุมชนหูแร่เคยอยู่กันอย่างสุขสงบมานาน แทบไม่มีใครคิดว่าช่วงเวลาไม่ถึงปีมานี้จะมีใครมาทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนขึ้นได้ จากเรื่องเล็กๆ ค่อยๆ ขยายบานปลายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนว่ากันว่าหากปล่อยไว้อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงในสังคมที่นั่นไม่วันใดก็วันหนึ่ง
สูตรสำเร็จ “ข้าราชการ” คือต้นตอ

โรงเรียนวัดหูแร่คู่เคียงชุมชนมายาวนาน ปีที่แล้วศิษย์เก่าจำนวนหนึ่งรวมตัวกันจัดงานคืนสู่เหย้าเมื่อ 9 เม.ย.2554 ใช้โรงเรียนเป็นสถานที่จัดเลี้ยง ทำให้ทราบว่า นายกรีฑา อนุรักษ์ ผอ.โรงเรียนที่เพิ่งย้ายมาไม่นานมีแผนที่จะรื้ออาคารเรียนหลังแรกที่มีประวัติศาสตร์ผูกพันและสร้างโดยน้ำพักน้ำแรงชุมชน ด้วยข้ออ้างว่าอาคารไม้เก่าๆ ชั้นเดียวไปบทบังทัศนียภาพอาคารเรียน 4 ชั้นที่เพิ่งสร้างใหม่

จากงานคืนสู่เหย้านำไปสู่การตั้ง “ชมรมศิษย์เก่าโรงเรียนวัดหูแร่” พร้อมๆ กับคนในชุมชนก็รวมตัวกันตั้งเป็น “กลุ่มอนุรักษ์หูแร่” เคลื่อนไหวคัดค้านในเรื่องนี้ มีการทำแบบสอบถามกระจายไปยังคนในชุมชนกว่า 400 ชุด มีผู้ตอบกลับมาประมาณ 200 ชุด ซึ่งสรุปความได้ว่ากว่า 99% ไม่เห็นด้วยที่จะรื้ออาคารเรียนหลังประวัติศาสตร์

7 พ.ค.2554 กลุ่มอนุรักษ์หูแร่จัดเวทีชวนคนในชุมชนร่วมคิดถึงทิศทางการพัฒนาว่าด้วย “10 ปีข้างหน้าชาวหูแร่คิดอย่างไร” ซึ่งมีการนำเรื่องการทุบทิ้งอาคารเก่าของโรงเรียนไปหารือด้วย จากนั้นมีการทำหนังสือคัดค้านยืนให้ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) สงขลา เขต 2 แล้วเรื่องก็เงียบหายจนข้ามปี

30 มี.ค.2555 โรงเรียนเรียกประชุมผู้ปกครองนักเรียน มีการแจ้งในที่ประชุมว่า สพป.สงขลา เขต 2 มีคำสั่งตั้งแต่ 16 มี.ค.ให้รื้ออาคารเรียนประวัติศาสตร์ เตรียมเครื่องมือทุบทิ้งทำลายไว้เสร็จสรรพ ชาวบ้านจึงรวมตัวกันเคลื่อนไหวส่งผลให้ต้องหยุดดำเนินการ แล้ว 10 เม.ย.ก็มีการส่งหนังสือคัดค้านไปให้ สพป.สงขลา เขต 2 อีกครั้ง

เมื่อ “ปิดหู-ปิดตา” ก็ไม่เข้าใจชุมชน

เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ปัญหาปะทุ ผอ.โรงเรียนวัดหูแร่กลับแสดงท่าทีหันหลังให้ชาวบ้านตลอด มีกิจกรรมหรือนัดพูดคุยก็จะส่งเพียงตัวแทน ทำให้ชาวบ้านโจษขานกันไปต่างๆ นานาในทำนองว่า อาจจะมีการเดินเกมเพื่อเอาชนะคะคานทั้งบนดินและใต้ดิน มีกลุ่มการเมืองหนุนหลัง หรือไม่ก็ต้องมีผลประโยชน์

การปิดหูทำให้ไม่ได้ยินเสียงที่ชาวบ้านพูด การปิดตาก็เป็นไปในลักษณะมองไม่เห็นหัวชาวบ้าน แล้วอย่างนี้ข้าราชการจะเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของประชาชนได้อย่างไร เช่นเดียวกันแนวความคิดที่ว่า ข้าราชการคือนายของประชาชน สิ่งนี้ก็ไม่สอดรับกับยุคสมัยปัจจุบันเช่นกัน

“จะว่าเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวก็ได้ ถ้า ผอ.โรงเรียนยอมหันหน้าเข้าหาชาวบ้าน ถ้าข้าราชการปรับตัวเข้ากับชุมชนได้ ไม่เลือกข้างถือฝ่าย ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นน่าจะจบลงด้วยความเข้าใจกันไปนานแล้ว และคงจะไม่มีการซุบซิบกันในชุมชนไปต่างๆ นานาด้วย” หนึ่งในผู้เฝ้ามองสังคมหูแร่มานานวิเคราะห์ให้ฟัง

หนึ่งในรูปธรรมร่ำลือที่สำคัญคือ ไม้เก่าที่ใช้สร้างอาคารประวัติศาสตร์หลังนั้นได้แก่ ไม้หลุมพอ เวลานี้เป็นไม้หายากและมีมูลค่าสูงมาก แม้จะผ่านการใช้งานมาเนินนานกว่า 40 ปีมูลค่าไม่ได้ลดลง กลับมีแต่จะเพิ่มขึ้น

“จริงๆ พวกเราก็ไม่ต้องการทะเละกับ ผอ.โรงเรียน เพียงแต่เราไม่เห็นด้วยที่จะรื้ออาคารประวัติศาสตร์หลังนี้ เพราะเป็นอาคารหลังแรกของโรงเรียน ชุมชนลงขันกันถึง 3 หมื่นเพื่อสมทบเงินหลวง 1.2 แสนบาทสร้างขึ้นเมื่อปี 2509 แล้วชาวบ้านลงแรงสร้างกันเองทั้งหมด พวกเราที่ได้ร่ำเรียนกันมาก็จากอาคารหลังนี้” เสียงสะท้อนจากกลุ่มรักษ์หูแร่

“เวลานี้อาคารยังใช้การได้ดี แล้วทำไมต้องทุบทิ้ง เอาไว้เป็นประวัติศาสตร์และคุณค่าทางจิตใจไม่ดีกว่าหรือ อาคารเตี้ยๆ จะไปบดบังตึก 4 ชั้นจนไม่น่าดูไม่อย่างไร ต้นไม้รอบๆ ก็ช่วยให้ดูดีขึ้น หากจะให้ปรับปรุงเพื่อใช้เงินต่อ ชาวบ้านก็พร้อมลงขันและลงแรงกันอีกรอบ”

“ดีเบต-ประชามติ” คือทางออกชุมชน

ล่าสุด 26 เม.ย.2555 มีการนัดหาทาออกจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผอ.โรงเรียนยังคงใช้วิธีส่งตัวแทน แกนนำกลุ่มรักษ์หูแร่และชมรมศิษย์เก่า รวมถึงผู้นำท้องถิ่น โดยผู้ทำหน้าที่ควบคุมกติกาคือ นายอาหมัด เบ็ญหาหลี รอง ผอ.สพป.สงขลา เขต 2 รวมผู้เข้าร่วม 10 คน และก็ใช้อาคารเรียนหลังประวัติศาสตร์ดังกล่าวเป็นสถานที่เจรจา

ผลสรุปที่ถือเป็นมติร่วมกันของทุกฝ่ายได้แก่ ให้มีการจัดเวทีดีเบตในวันที่ 5 พ.ค.2555 เวลา 14.00 น. แล้วให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยส่งตัวแทนได้ฝ่ายละ 5 คนขึ้นเวทีแสดงเหตุผลต่อสาธารณะฝ่ายละ 1 ชั่งโมงเท่านั้น ต่อจากนั้นให้ผู้เข้าร่วมที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปและมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่บริการของโรงเรียนร่วมกันลงประชามติ โดยใช้กรรมการจากฝ่ายที่เป็นกลาง

“วันที่ล้อมวงเจรจากันล่าสุดผมทำหน้าที่คนกลาง ถือเป็นสุนทรียสนทนา เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชุมชนมาก่อน เราพูดคุยกันอย่างเข้าใจจนนำไปสู่ข้อสรุปให้มีเวทีดีเบตและการลงประชามติลับ ผมมั่นใจว่านี่จะคือทางการของการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ชาวชุมชนหูแร่ยอมรับกันได้” นายอาหมัดกล่าว

ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า 5 พ.ค.ที่จะถึงนี้ “เวทีดีเบต” และการลง “ประชามติ” จะนำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งในชุมชนหูแร่ได้จริงสมกับที่จะเป็นบทเรียนให้กับชุมชนอื่นๆ รวมถึงประเทศชาติได้หรือไม่ ??!!


อาหมัด เบ็ญอาหลี รอง ผอ.สพป.สงขลา เขต 2
อาคารเรียนชั้นเดียวหลังเตี้ยๆ ที่ชาวบ้านเห็นว่ามีประวัติศาสตร์ผูกพันกับชุมชนหยัดยืนอยู่ด้านหน้าอาคารเรียน 4 ชั้นที่เพิ่งสร้างเสร็จใหม่ๆ ที่ฝ่าย ผอ.โรงเรียนเห็นว่าของเก่าจะไปบดบังทัศนียภาพของใหม่ ทั้งๆ ที่บรรยากาศภายในโรงเรียนเวลานี้ก็มีต้นไม้กระจายครอบคลุมจนแทบไม่เป็นอาคารหลังเก่า



กำลังโหลดความคิดเห็น