xs
xsm
sm
md
lg

“อันดามันโพล”พบคนภูเก็ตเชื่อข่าวลือเกาะจมแค่ร้อยละ6.44

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวภูเก็ตหนีแผ่นดินจากอาคารสูง
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - “อันดามันโพล” คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต สำรวจประชาชนชาวภูเก็ตต่อข่าวลือเกาะจม 28 เม.ย.55 นี้ พบชาวภูเก็ตไม่เชื่อข่าวลือถึงร้อยละ 96.68 เชื่อร้อยละ 6.44 และร้อยละ 84.41 เชื่อว่าข่าวที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของภูเก็ต และให้ทางจังหวัดซ้อมแผนอพยพหนีภัยสึนามิทุกปี

ตามที่ได้เกิดแผ่นดินไหวโดยมีศูนย์กลางทั้งในบริเวณทะเลอันดามัน และจังหวัดภูเก็ตในช่วงที่ผ่านมาติดต่อกันหลายครั้ง เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งในเรื่องของความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของคนที่อาศัยในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและใกล้เคียง นอกจากข้อเท็จจริงต่างๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ให้กับประชาชนได้รับทราบแล้ว ยังพบว่าประชาชนในพื้นที่ยังประสบกับข่าวลือต่างๆ อีกมากมายหลากหลายด้าน ซึ่งข่าวลือดังกล่าวล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและส่งผลต่อการดำรงชีวิตประจำวันตลอดจนการทำมาหากิน รวมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นแหล่งรายได้หลักของพื้นที่ เพื่อเป็นการหาข้อมูลและแนวทางแก้ไขในเรื่องดังกล่าว
บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว
ทางอันดามันโพล คณะเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร. พันธ์ ทองชุมนุม ผู้อำนวยการอันดามันโพล ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในจังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 26 เมษายน 2555 โดยในการสุ่มกลุ่มตัวอย่างครั้งนี้ยอมให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ไม่เกินร้อยละ 5 และใช้วิธีการสุ่มแบบบังเอิญ (Accidental Sampling) ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 512 คน

ผลการสำรวจพบว่า ในประเด็นขอข่าวลือที่ว่าเกาะภูเก็ตจะจมในวันที่ 28 เมษายน 2555 นั้นพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 91.68 ไม่เชื่อในข่าวลือดังกล่าว ขณะที่ร้อยละ 6.44 เชื่อข่าวลือ อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 84.41 เห็นว่าแม้จะไม่เชื่อถือในข่าวลือดังกล่าวแต่ข่าวลือดังกล่าวมีผลกระทบที่ทำให้การท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตแย่ลง
คนภูเก็ตไม่เชื่อข่าวลือเกาะภูเก็ตจม แต่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว
นอกจากนี้การที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินครั้งนี้พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 66.53 ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวมากขึ้นทั้งจากการรับรู้ผ่านสื่อต่างๆ ที่เสนอ รวมทั้งการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม สำหรับความกังวลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 14.35 มีความกังวลมาก ร้อยละ 58.84 กังวลบ้าง ขณะที่ร้อยละ 26.20 ไม่มีความกังวลใดๆ

ในส่วนแผนการรับภัยพิบัติอันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวของจังหวัดภูเก็ตนั้น พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 32.43 รับทราบ ขณะที่ร้อยละ 67.57 ยังไม่รับทราบ และกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 85.65 เห็นว่าควรมีการซ้อมแผนเพื่อรับมือกับภัยพิบัติดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น