ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ปลาสร้อยนกเขาจุดทองเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ลูกปลาโตเร็ว และมีสีสันสวยงาม เหมาะสมที่จะส่งเสริมให้เลี้ยงเป็นปลาทะเลสวยงามอีกชนิดหนึ่ง
สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสงขลา ได้ทดลองเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาสร้อยนกเขาทะเล หรือสร้อยนกเขาจุดทอง (Painted Sweetlips :Diagramma pictum) ที่รวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติมาเลี้ยงในบ่อในโรงเพาะพันธุ์ปลาทะเลของสถาบันฯ และเมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 1 ปี ปลาสามารถวางไข่ได้เอง โดยในครั้งแรกได้รวบรวมไข่ปลาขึ้นมาฟักและอนุบาลได้จำนวน 3,000 ตัว ปัจจุบัน ลูกปลามีอายุ 40 วัน มีขนาดความยาวประมาณ 4 ซม. เหลือจำนวน 400 ตัว
จากการเลี้ยงลูกปลาสร้อยนกเขาจุดทองพบว่า เป็นปลาที่โตเร็ว และมีสีสันสวยงาม รูปร่างคล้ายปลาหางนกยูง เหมาะสมที่จะส่งเสริมให้เลี้ยงเป็นปลาทะเลสวยงามอีกชนิดหนึ่ง นอกจากนั้น ปลาชนิดนี้เมื่อโตเต็มวัยยังเป็นที่นิยมในกีฬาตกปลา และมีรสชาติดีเป็นที่นิยมบริโภคอีกด้วย นับเป็นการประสบความสำเร็จเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ในการเพาะขยายพันธุ์ปลาสร้อยนกเขาจุดทอง ของสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา
ปลาสร้อยนกเขาจุดทองชนิดนี้ มีความสำคัญหลายด้าน ทั้งทางด้านการประมง การกีฬา (gamefish) และนิยมเลี้ยงกันในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ (aquarium) ปลาสร้อยนกเขาจุดทอง จัดอยู่ในวงศ์ Haemulidae (Grunts) เช่นเดียวกับปลากะพงแสม ปลาออดแอด แพร่กระจายทั่วไปในเขตร้อน และกึ่งร้อน ในประเทศไทยพบทั้งฝั่งทะเลอ่าวไทย และอันดามัน เป็นปลาที่มีประโยชน์ทั้งด้านสันทนาการ และการบริโภค เนื่องจากมีรายชื่ออยู่ในบัญชีแนบท้ายประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการส่งปลาทะเลสวยงามที่มีชีวิตออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. 2549 ที่ต้องมีใบรับรองจากกรมประมง และเป็นปลาทะเลที่มีการประกาศราคาซื้อขาย เพื่อการบริโภคขององค์การสะพานปลากรุงเทพฯ
สำหรับการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ยังไม่พบว่า มีรายงานการเพาะขยายพันธุ์มาก่อน จึงนับได้ว่าสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจังหวัดสงขลา ประสบความสำเร็จ ที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ปลาสร้อยนกเขาทะเล หรือสร้อยนกเขาจุดทอง เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
นายยงยุทธ ปรีดาลัมพะบุตร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง เปิดเผยว่า สำหรับพ่อแม่พันธุ์ปลาสร้อยนกเขาจุดทอง ได้ทำการรวบรวมที่บริเวณทะเลชายฝั่งหน้าสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งนี่เอง ในขั้นต้นเรารวบรวมได้ 4-5 แม่ หลังจากที่เลี้ยงมาระยะหนึ่งปลาก็วางไข่โดยธรรมชาติ เนื่องจากปลาพร้อมที่จะวางไข่อยู่แล้ว หลังจากที่ปลาวางไข่ออกมาประมาณ 1-2 หมื่นฟอง เราก็นำไข่มาอนุบาลตามวิธีการ โดยให้อาหารเป็นโรติเฟอร์ในช่วงแรก
หลังจากนั้นเราก็ให้กินอาร์ทีเมีย นับเป็นโชคดีที่ปลาตัวนี้ค่อนข้างติดดี ในครั้งแรกได้ผลผลิตมา 400 ตัว ตัวนี้เป็นปลาที่มีคุณค่าทางด้านปลาสวยงาม สีสันสวยงาม มีลายแถบเหลืองอมดำ คาดว่าในอนาคต ปลาตัวนี้จะเป็นปลาสวยงามที่มีราคาแพงตัวหนึ่ง นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการเพาะขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ขึ้นมา