xs
xsm
sm
md
lg

องค์กรสตรีชายแดนใต้ เผยเด็กกำพร้าสูงกว่า 4 พันคน ห่วงสถานการณ์รุนแรงขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อ.โซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ยะลา - องค์กรสตรีชายแดนใต้ เผยข้อมูลเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน กว่า 4,000 คน ระบุ ห่วงไฟใต้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น

นับตั้งแต่เกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งมีทั้งการก่อเหตุลอบยิง ลอบทำร้าย ลอบวางเพลิง ลอบวางระเบิด โดยมีผู้ได้รับผลกระทบสูญเสียจากเหตุการณ์ดังกล่าวจนถึงปัจจุบันเป็นจำนวนมาก หนึ่งในจำนวนของผู้สูญเสีย และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ “เด็กกำพร้า”

ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก อ.โซรยา จามจุรี หัวหน้าโครงการผู้หญิงภาคประชาชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ว่า หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 จนถึงปัจจุบัน ประมาณการจำนวนตัวเลขผู้ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์อยู่ที่ประมาณ 5,000 คน ผู้ได้รับบาดเจ็บอีกประมาณกว่า 9,000 ราย ขณะที่ในจำนวนนี้ มีเด็กกำพร้าซึ่งสูญเสีย บิดา มารดา จากเหตุการณ์ความไม่สงบอยู่ที่ประมาณกว่า 4,000 ราย หรืออาจจะมากกว่านี้

ทั้งนี้ ทางโครงการผู้หญิงภาคประชาชน ได้มีการประสานกับเครือข่ายกลุ่มอาสาสมัคร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในการร่วมกันสำรวจข้อมูล ทั้งด้านความต้องการความช่วยเหลือของกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง โดยที่ผ่านมา ก็ได้ประสานไปยัง มูลนิธิพิทักษ์ประชาชาติ ในการขอทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนที่ได้รับผลกระทบ หรือขาดโอกาส ซึ่งจะมีการลงพื้นที่ไปสำรวจ โดยการคัดเลือกเยาวชนเข้ามารับทุนนั้น ก็จะสำรวจข้อมูลว่า เป็นผู้ที่สูญเสีย บิดา หรือมารดา ผู้นำครอบครัว หรือเกิดทุพพลภาพ จากเหตุการณ์ความไม่สงบ

อีกทั้ง ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ หรือหากได้รับแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากสภาพครอบครัวที่ยากจน ทางเจ้าหน้าที่ผู้ประสานงานเครือข่าย ก็จะมีการนำเสนอข้อมูลเพื่อคัดเลือกเข้ารับทุน นอกจากนี้ เยาวชน นักศึกษาที่เข้ารับทุนไปแล้วก็จะต้องมีการทำงานภาคประชาชน เพื่อเป็นการตอบแทนคุณแก่สังคม โดยการเข้ามาทำงานในเครือข่าย หรือองค์กรภาคประชาชนที่มีอยู่ ทั้ง จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส

อ.โซรยา จามจุรี กล่าวอีกว่า องค์กรประชาสังคม ที่มีอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้จะมีการช่วยเหลือเยียวยาที่ทำมา ก็ยังมีการติดตามประเมินสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่เป็นน่ากังวลก็คือ การก่อเหตุต่อจากนี้ไป อาจจะเป็นการก่อเหตุความรุนแรงในเชิงของคุณภาพมากขึ้น นั่นก็คือ แม้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จะมีปริมาณลดน้อยลงก็จริงอยู่ แต่ในเชิงของคุณภาพของเหตุการณ์จะมีความรุนแรงมากขึ้น มีการใช้วัตถุระเบิดในการก่อเหตุขึ้น เหมือนอย่างวันที่ 31 มีนาคม 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ล้วนแล้วแต่เป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งสิ้น ซึ่งก็มองกันว่าหากในอนาคตมีการก่อเหตุที่ใช้ระเบิดมากขึ้น ความสูญเสียก็จะมากขึ้นตามมาด้วยอย่างแน่นอน

เมื่อถามถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาล อ.โซรยา จามจุรี ก็แนะว่า รัฐบาลควรเร่งเยียวยาสภาพจิตใจของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบในพื้นที่ นอกจากจะเยียวยาด้านอื่นๆ แล้ว สภาพจิตใจถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ การให้อาชีพ การให้การศึกษา และการติดตามประเมินผลที่ผ่านมา ถือว่าดีอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การเยียวยาไปยังกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบที่เกิดจากการควบคุมตัวตามกฏ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งหากบุคคลกลุ่มนี้ไม่มีความผิด และปล่อยตัวกลับมาทางรัฐก็จะจ่ายค่าเยียวยาให้ 30,000 บาทต่อราย และค่าเสียเวลาขณะถูกควบคุมตัวเป็นรายวันอีกวันละ 400 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการเยียวยาที่ถูกต้อง เนื่องจากบุคคลกลุ่มนี้จะเสียโอกาส แม้จะถูกปล่อยตัวกลับไปแล้ว ก็จะไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ เนื่องจากถูกสังคมประณามว่าเป็นแนวร่วมบ้าง เป็นคนร้ายบ้าง ซึ่งรัฐจะต้องมีการติดตามสำรวจคนกลุ่มนี้ และแนะนำหรือหาอาชีพเสริมให้เพื่อสามารถดำรงชีวิตต่อไปได้
กำลังโหลดความคิดเห็น