xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินจะไหวสักกี่ครั้ง...ภูเก็ตก็ยังเอาอยู่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชา่วภูเก็ตอพยพหนีสึนามิมาอยู่ในที่ปลอดภัย
อกหวั่นขวัญแขวนไปตามๆ กัน กับเหตุการณ์ระทึกแผ่นดินไหวถึง 2 ครั้ง ในห้วงเวลา 5 วันที่ผ่านมา ก่อนเทศกาลสงกรานต์เพียงวันเดียว สร้างความตื่นตระหนก ตกใจให้แก่ผู้คนในภูเก็ต และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่นอนอาบแดดรับกลิ่นอายทะเลอยู่เต็มหาด เมื่อช่วงเวลา 15.38 น.ของวันที่ 11 เม.ย. 2555 ที่บริเวณตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย วัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 8.9 ริกเตอร์ ทำเอาคนทั้งอันดามัน และภาคใต้รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน และมีอาฟเตอร์ซ็อกเกิดขึ้นตามมาอีกหลายครั้ง จนศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติต้องสั่งอพยพผู้คนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงริมทะเลทั้งฝั่งอันดามันหนีภัยสึนามิที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้จากแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวกันจ้าละหวั่น แต่สุดท้ายแล้ว ก็มีเพียงคลื่นเล็กๆ กระทบฝั่งเท่านั้น

ยังไม่ทันที่จะเรียกสติกลับคืนมา ก็เกิดแผ่นดินไหวซ้ำอีก 2 ครั้ง เมื่อเวลา 16.44 น. ของวันที่ 16 เม.ย.2555 คราวนี้ไม่ธรรมดา แม้แรงสั่นสะเทือนจะน้อยกว่าครั้งก่อน แต่ครั้งนี้มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ต.ศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต กลางเกาะภูเก็ต ตามรอยเลื่อนบางมะรุ่ยที่พาดผ่านจังหวัดภูเก็ตลงไปในทะเลอันดามัน ระยะทาง 148 กิโลเมตร
ชาวภูเก็ตและนักท่องเที่ยวหนีลงมาตึกสูงหลังเกิดแผ่นดินไหว
หลังจากนั้นอีก 2 นาที ก็เกิดแผ่นดินไหวในทะเลอันดามัน บริเวณทิศตะวันตก เหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ใกล้เคียงกับจุดเดิม วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 5.5 ริกเตอร์

ทั้ง 2 เหตุการณ์ชาวภูเก็ต และนักท่องเที่ยวรู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือนที่มากกว่าครั้งแรก แต่นี่ไม่ได้มีการประกาศเตือนอพยพหนีสึนามิแต่อย่างใด แต่ก็สร้างความตื่นตระหนกให้แก่คนภูเก็ตและนักท่องเที่ยวมิใช่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะชาวบ้านหมู่ที่ 2 ต.ศรีสุนทร ที่อยู่ตรงจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวตื่นตระหนกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก แถมบ้านเรือนไม่น้อยกว่า 100 หลังคาเรือน ได้รับความเสียหายแตกกร้าวไปตามๆ กัน ซ้ำร้ายยังมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาเขย่าขวัญชาวบ้านไม่หยุดหย่อน
ท่าอากาศยานภูเก็ตอพยพนักท่องเที่ยวไปอยู่ในที่ปลอดภัยหลังมีคำเตือนสึนามิ
แผ่นดินไหวทั้ง 2 ครั้ง นับว่าเป็นความโชคดีของจังหวัดภูเก็ตและอันดามัน ที่ไม่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เหมือนเมื่อครั้งวันที่ 26 ธ.ค.2547 ที่สร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาลให้แก่ฝั่งอันดามันของประเทศไทย แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นจะผ่านพ้นมาแล้วหลายปี แต่ภาพความเสียหายและความสูญเสียยังคงอยู่ในความทรงจำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ และผู้ที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และยังคงเป็นฝันร้ายสำหรับคนอันดามันทุกครั้งที่มีข่าวแผ่นดินไหว และสั่งอพยพผู้คน

หากเหตุการณ์วันนั้นกลับตาลปัตร คลื่นยักษ์สึนามิซัดถล่มชายฝั่งอันดามันเหมือนเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ภาพความสูญเสียที่เกิดขึ้นคงไม่มหาศาลเหมือนครั้งนั้น โดยเฉพาะชีวิตของผู้คน ทั้งคนในอันดามันและนักท่องเที่ยว ที่หน่วยงานภาครัฐสามารถอพยพผู้คนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันก่อนเวลาที่คลื่นสึนามิจะเดินทางมาถึงฝั่ง
นักท่องเที่ยวและคนภูเก็ตต่างหนีออกมาจากตัวอาคาร หลังเกิดแ่ผ่นดินไหวที่รู้สึกได้ถึง 2 ครั้ง
ทั้งนี้ เพราะตลอดระยะเวลา 8 ปีที่คนในอันดามันต้องประสบชะตากรรมคลื่นยักษ์สึนามิ ต่างได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมหันตภัยร้ายสึนามิมาโดยตลอด ทั้งการให้ความรู้เรื่องสึนามิ การเตรียมตัวอพยพไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เส้นทางหนีภัยสึนามิ การซ้อมหนีภัยสึนามิ ที่ทุกจังหวัดจัดให้มีการฝึกซ้อมหนีภัยสึนามิเกิดขึ้นอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยตามแนวชายฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นป่าตอง จ.ภูเก็ต เขาหลัก จ.พังงา อ่าวนาง เกาะพีพี จ.กระบี่ ฯลฯ และพื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่หนาแน่น เช่น บ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า ต.พังงา มีประชาชนต่างมีประสบการณ์ที่เลวร้ายจากสึนามิ และเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

รวมทั้งตลอดเวลา 8 ปีที่ผ่านมา มีเหตุแผ่นดินไหวและมีการประกาศแจ้งเตือนอพยพหนีภัยสึนามิมาโดยตลอด ทำให้ประชาชนในอันดามันทราบดีว่า เมื่อมีสัญญาณเตือนภัยจากหอสัญญาณเตือนภัยดังขึ้น จะต้องอพยพไปอยู่ในตำแหน่งใดที่ปลอดภัย รวมไปถึงการแจ้งเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สามารถแจ้งเตือนได้ทันเวลา

และหน่วยงานภาครัฐเองก็พยายามสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ในเรื่องของการติดตั้งทุ่นวัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวในทะเลที่อยู่ใกล้กับจุดแผ่นดินไหว มีการตั้งสถานีวัดระดับน้ำ ที่เกาะเมียง และอื่นๆ อีกหลายจุด
เจ้าหน้าที่ติดตั้งเครื่องตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนของแ่ผ่นดิน เพื่อตรวจวัดอาฟเตอร์ซ็อกที่เกิดขึ้นหลัังแ่ผ่นดินไหวที่ตำบลศรีสุนทร อ.ถลาง จ.ภูเก็ต
ทำให้การอพยพผู้คน เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2555 เป็นไปด้วยความรวดเร็ว เพราะประชาชนตื่นตัวให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐเป็นอย่างดี และพร้อมที่จะอพยพไปอยู่ในที่ที่ปลอดภัย เพราะพวกเขาเหล่านั้นไม่อยากมีความทรงจำอันเลวร้ายจากมหันตภัยสึนามิ

นอกจากการตื่นตัวของประชาชนแล้ว การประกาศเตือนภัยก็สามารถทำได้อย่างทันท่วงที แม้ว่าหอสัญญาณเตือนภัยสึนามิ ที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งอันดามันทั้ง 6 จังหวัด 127 หอ จะมีปัญหาเรื่องส่งสัญญาณเสียงที่ดังไม่ครอบคลุมบ้างในบางจุดก็ตาม แต่ก็ส่งสัญญาณเสียงเตือนเกือบจะทุกหอ และมีการเตือนภัยสำรอง ที่เป็นรถประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าไปประกาศเตือนประชาชนอีกรอบหลังสัญญาณเตือนภัยจากหอเตือนภัยดังไปแล้ว ทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง
ผลจากแผ่่นดินไหวที่มีศูนย์กลางที่ตำบลศรีสุนทร  อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ทำให้บ้านเรือนของประชาชนมีรอยร้าว จากแรงสั่นสะเืืทือน
อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งที่มีข่าวแผนดินไหวและมีการประกาศอพยพก็จะเกิดความตื่นตระหนกตกใจ ทำให้การอพยพคนออกจากพื้นที่เสี่ยงในหลายๆ พื้นที่ เกิดความสับสนวุ่นวายและมีปัญหาเกิดขึ้นในเรื่องของการจราจรที่แทบจะเป็นอัมพาต จากปริมาณรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่อยู่เต็มถนน โดยเฉพาะในถนนสายที่มุ่งหน้าขึ้นภูเขาสูง หรือถนนสายที่จะมุ่งหน้าสู่ตัวเมืองที่ปลอดภัยจากสึนามิ การจราจรหนาแน่นมาก ทำให้รถติดระยะทางหลายกิโลเมตร และเคลื่อนตัวไปด้วยความล่าช้ามาก แต่ก็สามารถระบายรถออกจากพื้นที่เสี่ยง และนำประชาชนและนักท่องเที่ยวไปอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัย ได้ทันเวลาก่อนที่คลื่นสึนามิจะมาถึง

ระบบสื่อสารก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่แก้ไม่ตกในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหวและอพยพผู้คนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีระบบสื่อสารสำรอง ที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงฉุกเฉิน ซึ่งเรื่องนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ยอมรับว่าเกิดขึ้นจริง และเตรียมที่เสนอรัฐบาลในการทำระบบสื่อสารสำรอง เพื่อให้สามารถสื่อสารได้สะดวก และรวดเร็วระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนผู้อพยพหนีภัย
ตรวจสอบเขื่อนบา่งเหนียวดำ ที่อยู่ใจกล
ขณะที่ภาคเอกชนผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ต ก็เรียกร้องให้มีระบบสื่อสารสำรองในช่วงภาวะฉุกเฉิน ที่ระบบสื่อสารไม่สามารถใช้งานได้ รวมไปถึงการตั้งศูนย์ข้อมูลที่จะสื่อสารไปถึงนักท่องเที่ยวได้อย่างถูกต้อง ลดความตื่นตระหนกตกใจ และปรับปรุงระบบสัญณาณเตือนภัยให้ดังครอบคลุมกว่าในปัจจุบัน และที่สำคัญแผนการอพยพหนีภัยที่มีประสิทธิภาพและชัดเจน
เขื่อนบางเหนียวดำยังคงทน แข็งแรง ไม่ได้รับผลกระ่ทบจากแ่ผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวและสึนามิ เป็นภัยธรรมชาติ จะเกิดขึ้นเมื่อใด ไม่มีใครล่วงรู้ได้ล่วงหน้า แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราสามารถป้องกันความสูญเสียชีวิตของผู้คน และอยู่ร่วมกับภัยธรรมชาติได้ หากเรามีระบบการแจ้งเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพ สามารถแจ้งเตือนอพยพผู้คนไปอยู่ในจุดที่ปลอดภัยได้ทันเวลาที่คลื่นจะถล่มใส่ฝั่งอันดามัน ที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางถึง 2 ชั่วโมง
นักวิชาการเกี่ยวกับแผ่นดินไหวกำลังอธิบายจุดศูนย์กลางให้ผู้บริหารระดับสูงในภูเก็ตรับทราบ
กำลังโหลดความคิดเห็น