xs
xsm
sm
md
lg

ก.ไอซีทีเตรียมนำระบบสื่อสารภาวะวิกฤตมาใช้ที่ภูเก็ตแก้ปัญหาโทร.มือถือล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายชัยยันต์ เพิ่งเกียรติไพโรจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยี่สารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พร้อมคณะเข้าหารือนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ถึงปัญหาและอุปสรรคในการแจ้งเตือนภัยและอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่เสี่ยง ในครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวทางตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2555 วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 8.9 ริกเตอร์
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - กระทรวงไอซีทีเตรียมนำระบบสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาในภาวะวิกฤตมาใช้ที่ภูเก็ต โดยการหลอมรวมระบบสื่อสารทั้งหมดเข้าด้วยกัน หวังแก้ปัญหาระบบสื่อสารล่มทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวและสึนามิ ด้านผู้ว่าฯ ภูเก็ต ฝากให้เร่งแก้ปัญหาหอเตือนภัย 2 แห่งไม่ทำงาน

วันนี้ (19 เม.ย.) ที่ห้องทำงานผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายชัยยันต์ เพิ่งเกียรติไพโรจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) พร้อมคณะเข้าหารือนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ถึงปัญหาและอุปสรรคในการแจ้งเตือนภัยและอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่เสี่ยง ในครั้งที่เกิดแผ่นดินไหวทางตอนเหนือเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2555 วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 8.9 ริกเตอร์ ทำให้รู้สึกได้ถึงแรงสั่นสะเทือน และทางศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้ประกาศเตือนให้มีการอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่เสี่ยง เพื่อนำไปแก้ไขต่อไป

นายชัยยันต์ กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับผู้ว่าฯ ภูเก็ตในการประกาศเตือนภัยสึนามิและอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่ พบปัญหาสำคัญคือ ระบบการสื่อสารล่มไม่สามารถติดต่อกันได้ทั้งภายในจังหวัดภูเก็ตและการติดต่อกับบุคคลภายนอกพื้นที่ภูเก็ต มีเพียงระบบวิทยุสื่อสารเท่านั้นที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการประสานงานเป็นอย่างมาก ทางผู้ว่าฯ จึงได้ฝากระทรวงไอซีทีหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาระบบสื่อสารให้สามารถสื่อสารกันได้ในภาวะฉุกเฉิน

โดยเรื่องนี้ ทางกระทรวงไอซีทีจะแก้ปัญหาให้ทางจังหวัดภูเก็ต ซึ่งทางกระทรวงไอซีทีจะดำเนินการหลอมรวมระบบสื่อสารทั้งหมดเข้าด้วยกัน หรือที่เรียกว่า ระบบสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาในภาวะวิกฤต โดยการใช้วิทยุสื่อสารให้สามารถติดต่อกับทางโทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์พื้นฐาน หรือโทรศัทพ์ทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้น โดยระบบนี้ทางกระทรวงไอซีทีได้พัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมีการจดลิขสิทธิ์ไว้เรียบร้อยแล้ว

“หลังจากหารือกับผู้ว่าฯ แล้ว จะนำเสนอกระทรวงไอซีที และนำข้อมูลระบบสื่อสารดังกล่าวมานำเสนอต่อทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อเซตระบบการสื่อสารดังกล่าวให้ภูเก็ตสามารถใช้ได้ในช่วงที่เกิดแผ่นดินไหว หรือภาวะฉุกเฉินอื่นๆ”

นายชัยยันต์ ยังกล่าวถึงความพร้อมของหอเตือนภัยสึนามิในฝั่งอันดามัน ในการแจ้งเตือนเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลหอเตือนภัยสามารถแจ้งเตือนภัยได้ทันท่วงที และสามารถแจ้งเตือนภัยได้ทุกหอ เพราะมีความพร้อมในเรื่องของข้อมูลทางวิชาการที่สามารถวิเคราะห์แจ้งเตือนประชาชนได้ทันท่วงที ซึ่งเมื่อวาน จากการลงพื้นที่ในจังหวัดพังงา ทราบว่า ประชาชนเข้าใจการเตือนภัยเป็นอย่างดี และคิดว่าหอที่มีอยู่ในขณะนี้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ด้านนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า อยากฝากให้กระทรวงไอซีทีเข้ามาแก้ปัญหาระบบสื่อสารที่ล่มทุกครั้งที่เกิดแผ่นดินไหว ให้เร่งแก้ไขปัญหานี้โดยด่วน จากการพูดคุยทางกระทรวงไอซีทีจะนำระบบสำรองมาใช้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยในเรื่องของการสื่อสารให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังอยากให้กระทรวงไอซีทีแก้ไขปัญหาของระบบเตือนภัย ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา พบหอเตือนภัย 2 แห่ง ที่ไม่สามารถเตือนภัยได้ ซึ่งเรื่องนี้อยากให้แก้ไขป้ญหาโดยด่วน

สำหรับแผ่นดินไหวที่ภูเก็ตนั้น จากการติดตามข้อมูลจากนักวิชาการคาดว่าไม่น่าจะมีความรุนแรงมากกว่า 5-6 ริกเตอร์ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของบ้านเรือนชาวบ้านที่เป็นบ้านชั้นเดียวการก่อสร้างไม่ได้เสริมเหล็กก็เฝ้าระวัง ส่วนบ้านสองชั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ขณะที่ตึกเก่าอายุ 30 ปีขึ้นไป ได้มีการตรวจสอบแล้วไม่มีผลกระทบ ตอนนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเสียหาย
นายชัยยันต์ เพิ่งเกียรติไพโรจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยี่สารสนเทศและการสื่อสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น