xs
xsm
sm
md
lg

หวั่น “ไก่เบตง” สูญพันธุ์ วอนรัฐช่วยลดต้นทุน–หนุนเปิดตลาดใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไก่เบตง – สถานการณ์ไก่เบตงเข้าสู่อันตราย ฟาร์มหวั่นอาจถึงสูญไปจากเบตง เพราะคนเลี้ยงน้อยลง ขยายพันธุ์ยาก
ยะลา - หวั่น “ไก่เบตง” สูญพันธุ์ เหตุเพราะคนเลิกเลี้ยงกันมาก แถมเลี้ยงแบบธรรมชาติขยายพันธุ์ยาก ด้านเจ้าของฟาร์มวอนช่วยหาทางลดภาระค่าอาหาร หนุนเปิดตลาดส่งออกลูกไก่

นายสิทธิ์ จารีลาภรักษา อายุ 56 ปี ผู้ดูแลฟาร์มเพาะลูกไก่เบตงของนายสมพร ธรรมชาติ อายุ 58 ปี อยู่ที่อยู่ 87/23 หมู่ที่ 7 ตำบลยะรม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณของไก่เบตงลดลงอย่างมาก เนื่องจากชุมชนเมืองส่วนมากเลี้ยงไก่เบตงน้อยลง มีแต่ชุมชนในชนบทที่ยังคงเลี้ยงไก่เบตงอยู่ โดยบางรายได้รับแจกจากส่วนราชการต่างๆ สาเหตุที่ชาวอำเภอเบตงเลี้ยงไก่เบตงน้อยลง เพราะเปลี่ยนอาชีพไปทำธุรกิจค้าขาย อำเภอเบตงจึงเสี่ยงที่จะสูญเสียพันธุ์ไก่เบตง ภาวะเสี่ยงที่ชาวเบตงจะสูญเสียพันธุ์ไก่เบตงมีหลายประการ นอกจากมีคนเลี้ยงน้อยแล้ว ยังมีปัญหาการขยายพันธุ์ไก่เบตง เพราะการเลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติขยายพันธุ์ได้ยากมาก ขณะที่วิธีการฟักไข่ด้วยตู้ฟักมีโอกาสขยายพันธุ์ได้มากกว่า

นายสิทธิ์ เปิดเผยต่อไปว่า สำหรับฟาร์มเพาะลูกไก่เบตงของนายสมพร อยู่ภายใต้กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไก่เบตงครบวงจรในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2552 ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จังหวัดยะลา และเทศบาลเมืองเบตง เพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ไก่เบตง ปัจจุบัน ฟาร์มเพาะลูกไก่เบตงต้นแบบมีพ่อพันธุ์ประมาณ 60 ตัว และแม่พันธุ์ประมาณ 260 ตัว แต่ละสัปดาห์ จะได้ไข่ไก่ประมาณ 100 ฟอง แต่ละเดือนส่งขายลูกไก่ประมาณ 400-500 ตัวต่อเดือน ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นส่วนราชการต่างๆ และลูกค้าทั่วไป นอกจากนี้ ยังส่งออกไปยังต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา จังหวัดสตูล กรุงเทพมหานคร เป็นต้น

“ปัญหาคือ รัฐไม่ค่อยจะส่งเสริมการเลี้ยงไก่ ทางที่ดีทางรัฐควรหาตลาดส่งขายลูกไก่ให้กว้างขวางมากกว่าปัจจุบัน ช่วยหาอาหารไก่ที่มีต้นทุนต่ำ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ถูกลง ขณะนี้ ฟาร์มที่ผมดูแลอยู่ มีเงินทุนหมุนเวียนน้อยมาก ทำให้ขาดโอกาสซื้ออาหารไก่ในราคาถูกกว่าท้องตลาด” นายสิทธิ์ กล่าว

สำหรับไก่เบตงเดิมเรียกว่าไก่กวางไส เป็นไก่พื้นเมืองที่คนจีนอพยพจากมณฑลกวางไส สาธารณรัฐประชาชนจีน นำเข้ามาที่อำเภอเบตง เมื่อ 80 ปีที่แล้ว ขณะนี้ พันธุ์เหลียงซาง และไก่พันธุ์คอล่อน หมดไปจากอำเภอเบตง ในช่วงคนจีนย้ายถิ่นออกจากหมู่บ้านไปอยู่ในเมือง ต้องเปลี่ยนอาชีพจากการเลี้ยงไก่ หรือทำสวนยางพาราไปค้าขาย ปัจจุบัน พันธุ์ไก่เบตงที่เหลืออยู่ 2 สีคือ สีแดงกับสีเหลืองทอง มีจุดเด่นตรงหางสั้น หรือไม่มีหาง ไม่มีขนปีก หงอนเป็นกงจักร ขาสีเหลือง ปากเหลือง เนื้อนุ่ม ตัวผู้มีนิสัยดุ

ไก่เบตงเลี้ยงง่าย สามารถเลี้ยงตามธรรมชาติได้ การเลี้ยงแบบปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ จะให้เนื้อที่มีรสชาติดีกว่าเลี้ยงแบบขังคอกให้อาหารสำเร็จรูป ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 6-7 เดือนก็สามารถขายได้ มีราคาสูงถึง 200-220 บาท/กิโลกรัม ตัวผู้อายุประมาณ 5 เดือน จะมีน้ำหนักประมาณ 2-2.5 กิโลกรัม ตัวเมียอายุประมาณ 5 เดือน มีน้ำหนัก 1.5-1.7 กิโลกรัม

ซีฮาบุดดีน ยารง โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
กำลังโหลดความคิดเห็น