xs
xsm
sm
md
lg

สุดอลังการขบวนแห่ “นางดาน” ส่งท้ายมหาสงกรานต์นครศรีธรรมราช

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
ร่วมสืบทอดประเพณีศักดิ์สิทธิ์ “แห่นางดาน” สืบสานมานานกว่า 100 ปี ทำพิธีอัญเชิญเทพ “โล้ชิงช้า” ตามความเชื่อศาสนาพราหมณ์ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช

 
ที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 14 เม.ย.2555 ซึ่งถือเป็นวันส่งท้ายของเทศกาลมหาสงกรานต์แห่นางดานนครศรีธรรมราช ชาวนครศรีธรรมราช จำนวนมากได้ร่วมชมขบวนแห่นางกระดาน ซึ่งได้มีการรื้อฟื้นประเพณีนี้มาใหม่เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากสูญหายไปเกือบ 100 ปี โดยเทศบาลนครนครศรีธรรมราช การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันจัดขึ้นอย่างสวยงาม โดยมีการจัดแสง สี เสียง สื่อผสมเข้าร่วมด้วย ท่ามกลางนักท่องเที่ยวชาวไทย ชาวต่างประเทศเข้าร่วมชมอย่างคับคั่ง

 
สำหรับประเพณีการแห่นางดานนั้นได้มีตระกูลพราหมณ์ของนครศรีธรรมราช จำนวนหนึ่งเข้าร่วมตามคตินิยมทางศาสนาพราหมณ์ โดยในอดีตนั้นพราหมณ์ในเมืองนครศรีธรรมราช ที่นับถือพระอิศวรเป็นเจ้านั้นเชื่อว่า พระอิศวรจะเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ในช่วงเดือนบุษยมาส (เดือนยี่) ทุกปี ทั้งนี้ โดยเชื่อว่าพระอิศวรจะเสด็จลงมาทางเสาชิงช้า ดังนั้น จึงได้จัดประเพณีโล้ชิงช้า หรือประเพณีตรียัมปวายขึ้นในเดือนยี่ทุกปี

 
และก่อนที่จะถึงเวลาที่พระอิศวรจะเสด็จมาถึงนั้น ก็จะทำพิธีอัญเชิญเทพชั้นรองสี่องค์ คือ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระธรณี และพระคงคา มาเตรียมการรอรับเสด็จพระอิศวรก่อนด้วย ในการอัญเชิญเทพชั้นรองทั้งสี่องค์ดังกล่าวนั้น ได้แกะสลักพระรูปของเทพดังกล่าวลงบนแผ่นไม้กระดาน ขนาดกว้างหนึ่งศอก สูงสี่ศอก เป็นสัญลักษณ์สมมติจำนวน 3 แผ่น คือ พระอาทิตย์ และพระจันทร์แผ่นหนึ่ง พระธรณีแผ่นหนึ่ง และพระคงคาอีกแผ่นหนึ่ง ชาวนครฯ เรียกไม้แกะสลักนี้ว่า “นางดาน หรือ นางกระดาน”

 
จากนั้นจะร่วมกันทำพิธีแห่อัญเชิญไม้กระดานสัญลักษณ์เทพทั้งสี่ไปยังเสาชิงช้าซึ่งอยู่ในบริเวณหอพระอิศวร แล้วอัญเชิญประดิษฐานไว้ในหลุมหน้าเสาชิงช้า เพื่อรอรับเสด็จพระอิศวรต่อไป โดยชาวนครศรีธรรมราชเรียกพิธีนั้นว่า “ประเพณีแห่นางดาน” หรือ “ประเพณีแห่นางกระดาน”

 
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ประเพณีแห่นางดาน จึงเป็นส่วนหนึ่งของ ประเพณีตรียัมปวาย หรือประเพณีโล้ชิงช้า ที่พราหมณ์เมืองนครในอดีต ได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา รวมทั้งได้ถ่ายทอดพิธีกรรมดังกล่าวไปสู่ภูมิภาคอื่น ที่อารยธรรมพราหมณ์เผยแพร่ไปถึง

 
ประเพณีแห่นางดานในเมืองนครสมัยก่อนนั้น จะอัญเชิญนางดานประดิษฐานบนเสลี่ยง นางดานละ 1 เสลี่ยง แล้วจัดขบวนหามแห่กันมาในเวลาพลบค่ำ โดยจัดนำขบวนด้วยเครื่องดนตรีประโคม ปี่นอก กลองแขก และฆ้อง มีเครื่องสูง ฉัตร พัดโบก บังแทรก และบังสูรย์ โดยมีพระราชครูและปลัดหลวงเดินนำหน้าเสลี่ยงละคน มีพราหมณ์ถือสังข์เดินตาม และปิดท้ายขบวนด้วยนางละคร หรือนางอัปสร และผู้ถือโคมบัว จนเมื่อแห่มาถึงหอพระอิศวรแล้วหามเสลี่ยงนางดานเวียนรอบเสาชิงช้าสามรอบ จากนั้นจึงทำพิธีอัญเชิญนางกระดานทั้งสามลงหลุมในมณฑลพิธีราชวัตรฉัตรธง เพื่อรอเวลาที่พระอิศวรลงมาต่อไป






ภาพ/เรื่อง - กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น