คอลัมน์ : ด้ามขวานผ่าซาก
โดย...ปิยะโชติ อินทรนิวาส
เหตุการณ์คาร์บอมบ์ชั้นใต้ดินอาคารลี การ์เดนส์ พลาซ่า ศูนย์การค้า และโรงแรมหรูกลางเมืองหาดใหญ่ ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ยังคงมีเรื่องราวเล่าขานหลากหลายแง่มุมไม่จบสิ้น แต่ที่ผมสนใจเป็นพิเศษจนต้องหยิบมาพูดในที่นี้เป็นคำบอกเล่าจากทีมข่าวภูมิภาค ASTVผู้จัดการออนไลน์ที่ลงลุยในพื้นที่
ซูเปอร์สตาร์สื่อมวลชน เจ้าพ่อนิวส์ทอล์ก ปรมาจารย์นักเล่าข่าว นักแปลงข่าวเป็นทุน นักธุรกิจข่าวมือฉมัง หรือจะฉายาอะไรอื่นๆ อีกก็ตาม ในวันนี้เขาคือ “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ผู้ถนัดการแปรวิกฤตชาติเป็นโอกาสให้ตัวเองได้ตลอด แต่กับเหตุการณ์คาร์บอมบ์กลางเมืองหาดใหญ่เที่ยวล่าสุดที่เพิ่งผ่านพ้น คราวนี้ไหงกลับทำได้ไม่เนียนเท่าที่ควร
เขาอาจจะสร้างภาพความเป็นซูเปอร์ฮีโร่ได้อย่างเนียนยิ่งกับวิกฤตมหาอุทกภัยช่วงปลายปีที่แล้ว โดยสามารถเล่นกับความรู้สึกของสังคมที่มีต่อมวลน้ำมหาศาล ซึ่งไหลล่องบ่าท่วมมาตั้งแต่ภาคเหนือเข้าถล่มกรุงเทพฯ ก่อนลงสู่อ่าวไทยที่ต้องใช้เวลาข้ามปี เขาเป็นส่วนหนึ่งของการระดมเงินช่วยน้ำท่วมในฐานะครอบครัวข่าว 3 มียอดรวมนับร้อยล้านบาทที่อาจจะยังความเคลือบแคลงอยู่บ้าง แต่กับวิกฤตไฟใต้ครั้งนี้ช่วงเวลาห่างกันเพียงไม่กี่เดือน ทำไมภาพที่ถูกบรรจงสร้างกลับได้ผลลัพธ์ตรงข้าม
เรื่องนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วกับรายงานข่าว… ‘ไพร’ แอบจูง ‘สรยุทธ’ มุดรูระเบิด! ช่อง 3 โชว์โหด-เละ ‘มาเลย์’ กระเจิง
อย่างไรก็ตาม กับเหตุการณ์คาร์บอมบ์กลางเมืองหาดใหญ่ ผมว่าเวลานี้ยังมีหมอกควันระเบิดกางกั้นการมองของสังคมอยู่ ทำให้ภาพที่จะได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของสรยุทธยังเบลอๆ
การที่มีผู้ประกอบการในเมืองหาดใหญ่รวมตัวกันแสดงความไม่เห็นด้วยที่เขาแอบมุดชั้นใต้ดินอาคารลี การ์เดนส์ พลาซ่า ในคืนหลังเกิดเหตุไม่นาน แล้วนำภาพหลุมระเบิด ซากรถยนต์ และสิ่งปรักหักพัง ไปตีแผ่ประกอบคำซักถามละเอียดยิบของผู้บริหารท้องถิ่นที่ขันอาสาทำหน้าที่ไกด์ รวมถึงคำบรรยายแบบสร้างอารมณ์ และตีไข่ใส่สีชนิดที่ไม่ลืมกล่าวถึงศพผู้เสียชีวิตเป็นจุดขาย ในรายการเรื่องเล่าเช้านี้ที่สร้างบรรยากาศถ่ายทอดสดสุดหรูบนเทือกเขาคอหงส์ที่สามารถมองเห็นวิวได้ทั้งเมืองหาดใหญ่ในวันถัดไป ขณะที่สื่อมวลชนอื่นๆ ยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงจุดเกิดเหตุนั้น
กรณีนี้ มีสาวกสรยุทธออกมาให้ความเห็นทำนองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เขาทำเช่นนั้น และไม่ถือเป็นการสร้างภาพพจน์เป็นต้นเหตุให้นักท่องเที่ยวบ่ายหน้าหนี แต่เป็นการนำความจริงมาเปิดเผย และไม่ลืมที่จะท้าให้สื่ออื่นๆ ทำให้ได้อย่างที่เขาทำ
ผมเห็นด้วยว่าเรื่องที่เขากระทำนี้ หากจะมองให้ไม่แปลกอะไรเลยก็ได้ เพราะเมื่อย้อนไปดูพฤติกรรมที่ผ่านๆ มา ก็ต้องถือเป็นความปกติอย่างแน่นอน
เพียงมีเรื่องจากปากคำของเพื่อนพ้องสื่อมวลชนที่ร่วมในเหตุการณ์เล่ากันหนาหูว่า ภายหลังเกิดเหตุคาร์บอมบ์ ผู้บริหารลี การ์เดนส์ พลาซ่า โดยความร่วมมือของเจ้าหน้าที่อย่างแข็งขัน ได้ออกมากีดกันกองทัพสื่อมวลชนไม่ให้ลงไปยังชั้นจอดรถใต้ดินจุดเกิดเหตุ และถึงขั้นมีการล็อกคอสื่อบางคนที่พยายามลักลอบเข้าไป
แต่พอทีมงานของสรยุทธประสานไปเจ้าของอาคารกลับไฟเขียว พร้อมให้ผู้บริหารท้องถิ่นได้เสนอหน้าเพราะใกล้เลือกตั้งครั้งใหม่ โดยพากันแอบมุดลงไปได้เป็นคณะใหญ่ที่มีทั้งกล้องทีวีและเครื่องไม้เครื่องมือพะรุงพะรัง โดยไม่มีการบอกกล่าวสื่ออื่นๆ จะมีสื่อนอกเครือข่ายที่ร่วมคณะไปได้บ้างก็ชักชวนกันแบบจวนตัวเท่านั้น
ว่ากันว่า ขนาดทีมที่รับเหมาทำข่าวแบบโชว์ออฟให้แก่ช่อง 3 ด้วยกัน แต่อยู่คนละบริษัทกับของสรยุทธก็ยังไม่มีโอกาสร่วมมุดลงชั้นใต้ดินอาคารที่เกิดเหตุด้วยในคืนนั้น
เช่นเดียวกัน ถ้าจะให้มองว่าไม่ได้เป็นการสร้างภาพ เป็นเพียงการทำหน้าที่สื่อมวลชนที่รายงานความจริงของสรยุทธ แม้จะมีการจัดฉากแบบไม่ธรรมดาทั้งในช่วงค่ำคืนที่มุดลงไปถ่ายทำในที่เกิดเหตุ อีกทั้งรายการเรื่องเล่าเช้านี้ก็สร้างบรรยากาศได้สุดเลิศหรู เพราะเป็นเรื่องที่ทางรายการปฏิบัติแบบนี้มาตลอด
ผมเพียงอยากให้สังคมมองให้เห็นความเป็นธรรมในแวดวงสื่อมวลชนบ้าง จะด้วยพลังอันใดก็ตาม การที่สื่อหนึ่งสามารถอยู่เหนือ หรือขึ้นขี่ หรือเอาเปรียบอีกสื่อหนึ่งได้เสมอๆ นอกจากนั่นคือความไม่เป็นธรรมในวิชาชีพแล้ว ยังต้องหมายถึงความไม่เป็นธรรมในสังคมด้วย
เพราะสื่อมวลชนนอกจากจะคือกระจกสะท้อนสังคมแล้ว ยังคือผู้ถือคบไฟส่องนำสังคม คือผู้นำเสนอความจริงให้สังคมได้รับรู้อย่างเท่าทัน และเท่าเทียม การปิดกันสื่อมวลชนจำนวนมาก สิ่งนี้ไม่เท่ากับเป็นการปิดกั้นการรับรู้ของผู้คนจำนวนมากในสังคมด้วยล่ะหรือ
สำหรับสรยุทธแล้ว ยังมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนอีกมากมาย อันนำมาซึ่งฉายาอื่นๆ นอกจากที่ว่าไปข้างต้น เช่น สรพิษ เฮียสอ(ไม่รู้ว่ามีตามด้วยคำว่า พลอ ไหม) ป๋าเสี้ยม บ่าง สรย้วย หรือแม้กระทั่ง สรยวย.... เป็นต้น
อย่างมักจะมีคำพูดหลุดออกมาจากปากเขาบ่อยๆ ว่า สื่อมวลชนต้องวางตัวเป็นกลาง ซึ่งก็มักจะมีการสวนกลับทันทีว่า ระหว่างความดีกับความชั่ว เขาเลือกที่จะยืนตรงไหน แถมมีคนส่งเสียงให้ได้ยินบ่อยๆ ว่าเขาเป็นประเภท สื่อแอบแดง
สำหรับผมเองในชีวิตนี้ไม่เคยเห็นสื่อไหนเลยที่วางตัวเป็นกลาง เพราะเพียงแค่จับประเด็นข่าวมานำเสนอ เลือกประเด็นข่าวไปพาดหัว แค่ทำสิ่งเหล่านี้ก็ไม่เป็นกลางแล้ว สื่อที่ชอบบอกว่าตัวเองเป็นกลางพอพินิจดูกันจริงๆ ในเวลานี้ผมเห็นแต่เป็นประเภท “กลางกลวง” บ้าง “กลางใจทักษิณ” บ้าง หรือไม่ก็ “กางบัญชี” เสียทุกทีไป
จริงไม่จริงผมไม่รู้ แต่คนในแวดวงสื่อลือกันแซดว่า เคยมีคำสั่งให้อุ้มแหล่งข่าวไปเก็บไว้ก่อนที่สื่ออื่นจะถึงตัว เพื่อจะได้ให้ไปโผล่เฉพาะในรายการที่เขาจัดเท่านั้น
ผมลองประมวลเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อสรยุทธในฐานะสื่อมวลชนที่ผ่านๆ มา กลับพบข้อมูลที่ทำให้แปลกใจว่า ทำไมมีเยอะจัง ไล่เรียงเอาเฉพาะที่น่าสนใจได้ดังนี้
กรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินๆ ทองๆ เช่น ช่วงเล่าข่าวอยู่ที่ช่อง 9 อสมท มีข่าวว่ารายได้ค่าโฆษณาสินค้านำเข้าประกอบในรายการหายไป 98 ล้าน มีโฆษณาเกินจริง 138 ล้าน เคยถูก บจม.อสมท ฟ้องคดีฉ้อโกง และปลอมแปลงเอกสารมาแล้ว เคยตกบ่วงพัวพันปัญหาเงินบริจาคช่วยเหยื่อสินามิ 9 ล้าน และก็เคยอื้อฉาวเกี่ยวกับการแสวงประโยชน์จาก SMS ชิงรางวัล
ในฐานะพิธีกรเอกรายการโทรทัศน์ชื่อก้อง สรยุทธถูกตราหน้าว่าใช้พิธีกรคู่เปลืองที่สุด โดยเฉพาะพิธีกรสาวๆ ที่ถูกสับเปลี่ยนเวียนไปแล้วเกือบสิบคน แต่ที่เป็นข่าวครึกโครมแล้วถูกนำไปวิเคราะห์ และเล่าเป็นข่าวเสียเองคือ กรณีการแยกทางกับ กนก รัตน์วงศ์สกุล กับ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล คนหลังแม้ชื่อปลื้ม แต่ไม่ปลื้มเอาสุดๆ กับการไม่ให้เกียรติของเขา ส่วนคนแรกถึงกับหลุดปากไว้ว่า “ผมทำงานกับคนโกงไม่ได้”
สรยุทธเคยสร้างปรากฏการณ์เต้าข่าวได้แบบสุดๆ กับกรณีระบุว่า สนธิ ลิ้มทองกุล มีแผนปลีกวิเวกไปอินเดียในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวานของการต่อสู้กับระบอบทักษิณ และเป็นกลางได้แบบสุดๆ กับกรณีเอาพ่อคนขับรถเบนซ์ชนพนักงาน ขสมก.เสียชีวิตไปนั่งแก้ตัวในรายการที่เขาจัดแต่ฝ่ายเดียว หรือฮือฮาได้แบบสุดๆ กับกรณีวิพากษ์ราชบัณฑิตยสถานจนถูกตอกกลับหน้าแตกชนิดหมอไม่รับเย็บ
ทว่า สิ่งที่คนในวงการสื่อมวลชนด้วยกันรับไม่ได้เอามากๆ ก็คือ การเล่าข่าวของสรยุทธที่สร้างทั้งเงินเข้ากระเป๋ามหาศาล และกล่องจนขึ้นสู่ความนิยมสูงสุดนั้น เป็นการนำข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ และจากสื่ออื่นๆ ไปใช้แบบไม่เคยให้เครดิต หรือถ้าจะบอกว่าไม่เคยเห็นหัวคนร่วมวิชาชีพที่ต้องลงคลุกในพื้นที่ หรือเสี่ยงกับภยันตรายใดๆ เพื่อให้ได้ข่าวนั้นมา
ไม่เพียงเท่านั้น การฉวยข่าวเพื่อนร่วมวิชาชีพไปใช้ของสรยุทธ นอกจากไม่ให้เครดิตแล้วยังเอาไปเติมสีใส่ไข่ สอดแทรกความคิดเห็น และใช้น้ำเสียงปลุกเร้าในสไตล์ตัวเอง โดยแทบไม่มีการหาข้อมูลในเชิงลึกเอาไปประกอบเพิ่มเติมเลยด้วยซ้ำ จนหลายคนตั้งชื่อรายการเล่าข่าวที่เขาจัดประจำเสียใหม่ว่า “เรื่องลอกข่าวเช้านี้” หรือ “คุยคุ้ยเขี่ย”
ความจริงแล้ว ผมไม่อยากกล่าวถึง แต่ถ้าไม่ยืนยันไว้ในที่นี้ด้วยแล้ว เกรงว่าจะเป็นการกล่าวหาสรยุทธมากจนเกินไป สื่อเครือ ASTVผู้จัดการ ถูกเขาแอบหยิบไปใช้ในลักษณะนี้บ่อยๆ หรือเอาให้ชัดๆ ก็คือ ผลงานของผมก็เคยตกเป็นเหยื่อการฉกฉวยของเขา
อย่างเหตุการณ์ที่กลุ่มโจรใต้โจมตีแบบปิดเมืองยะลาในค่ำคืนหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นค่ำคืนของวันที่ 14 ก.ค.2548 (ถ้าจำไม่ผิด) ผมประมวลจากแหล่งข่าวที่ผจญเหตุในพื้นที่ แล้วรายงานข่าวลง ASTVผู้จัดการออนไลน์ แบบชนิดนาทีต่อนาที ปรากฏว่าค่ำคืนนั้น สรยุทธก็เชิดหน้าเชิดตาเล่าข่าวในรายการของเขาอย่างออกรสชาติ แต่มีข้อสังเกตคือ ผมนำเสนอข้อมูลลงใน ASTVผู้จัดการออนไลน์ ไปอย่างไร ข้อมูลที่เขาเล่าข่าออกไปก็แทบไม่แตกต่างกัน
เหตุการณ์ในคืนนั้น ผมประมวลแล้วจึงกล้าที่จะตัดสินใจใช้คำว่า ชาวเมืองยะลากำลังเผชิญกับ “มิคสัญญี” และเมื่อข่าวออนไลน์ได้ไม่กี่นาที คำๆ นี้ก็หลุดจากเรียวปากบางของสรยุทธ และมีสิ่งที่ย้ำว่าใช่เลยก็คือ ต่อมาเขาพยายามติดต่อนักข่าวในเครือข่ายเขาทางหน้าจอทีวี แต่ปรากฏว่า มีเสียงที่ตอบกลับไปว่ายังไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้
ถามว่าการหยิบข่าวของคนอื่นไปสร้างประโยชน์มากมายแบบที่ไม่เคยให้เครดิตใครนี้ เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายหรือไม่ หรือผิดจรรยาบรรณวิชาชีพไหม ประเด็นนี้ผมเองคงให้คำตอบไม่ได้
ผมเพียงยืนยันได้ว่า เป็นการ “ผิดมารยาท” แน่นอน