xs
xsm
sm
md
lg

นครศรีฯ ทำพิธีเช็งเม้งถวาย “พระเจ้าตากสินมหาราช”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
นครศรีธรรมราช - ชาวนครศรีธรรมราชทำพิธีเช็งเม้งถวายหน้าสถูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เผยเกร็ดประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราชเชื่อทรงสิ้นพระชนม์ที่นี่


 
วันนี้ (5 เม.ย.) ที่วัดประดู่ ถ.ราชดำเนิน อ.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช บริเวณเก๋งจีนวัดประดู่ หรือที่ชาวนครศรีธรรมราชเรียกว่า “บัว” หรือสถูปบรรจุพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคารของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นายพิชัย บุณยเกียรติ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช นายสุทธิพร เพ็งเจริญ สื่อมวลชนอาวุโส และประชาชนจำนวนหนึ่ง ได้ร่วมกันประกอบพิธีเช็งเม้ง ถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อแสดงความกตัญญูและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณในการกอบกู้เอกราชของชาติไทย

 
โดยมีเครื่องประกอบพิธีตามคติความเชื่อคนไทยเชื้อสายจีนครบครัน ทั้งเครื่องคาวหวาน ผลไม้เซ่นไหว้ เครื่องประกอบพิธีกงเต๊ก และข้าวตอกดอกไม้ โดยเริ่มจากการจุดธูปเทียนถวายเครื่องเช่นไหว้ในพิธีเช็งเม้ง จากนั้นได้ประกอบพิธีกงเต๊ก และจุดประทัดถวาย




 
สำหรับเก๋งจีนวัดประดู่ หรือบัวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นสถานที่ตามความเชื่อถือทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนครศรีธรรมราชที่สืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมิได้สิ้นพระชนม์ในเมืองหลวงด้วยท่อนจันทร์ตามประวัติศาสตร์ที่ได้บันทึกไว้ แต่ได้ทรงหลบลี้มาพำนักที่นครศรีธรรมราช หลังมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินเมื่อกว่า 250 ปีที่ผ่านมา


 
ซึ่งพระองค์ทรงมีสัมพันธ์เชื่อมโยงกับเจ้าผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ต้นสกุล ณ นคร และได้ทรงสิ้นพระชนม์ที่นครศรีธรรมราช โดยเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และสายสกุล ณ นคร เมื่อกว่า 200 ปีที่แล้ว ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพอย่างเรียบง่ายที่สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช แล้วจึงได้นำพระบรมอัฐิ และพระบรมราชสรีรางคาร จากการถวายพระเพลิงมาเก็บไว้ใน “บัว” หรือสถูปตามประเพณีของชาวภาคใต้

 
โดยสถูปนั้นถูกสร้างขึ้นมาอย่างวิจิตรบรรจง มีลักษณะที่สำคัญคือ บริเวณซุ้มประตูทางเข้าสถูป จะมีมังกรคู่ และแก้วมังกรอยู่ตรงกลาง หน้าบันทั้งสองข้างมีนกกระเรียนคู่ และรอบสถูปนั้นมีพระยาครุฑ อยู่รอบทั้ง 4 ทิศ ซึ่งเป็นเครื่องหมายว่า สถูปหรือบัวนั้น เป็นที่บรรจุพระสรีรางคารของพระมหากษัตริย์เท่านั้น ไม่ใช่บุคคลธรรมดาที่จะสามารถใช้สัญลักษณ์มังกร นกกระเรียน และพญาครุฑได้ โดยสถานที่แห่งนี้ได้ถูกบูรณะ และดูแลอย่างดีโดยกรมศิลปากร และสายสกุล ณ นคร อดีตผู้ครองอาณาจักรนครศรีธรรมราชตั้งแต่โบราณ


กำลังโหลดความคิดเห็น