ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา เร่งสร้างความเข้าใจนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและการเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์นายจ้างและลูกจ้าง จ.สงขลา ซึ่งจากเดิมวันละ 176 บาท เป็นวันละ 246 บาท
วันนี้ (29 มี.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่โรงแรมกรีนเวิลด์พาเลซ อ.เมือง จ.สงขลา นายสุรพล พนัสอำพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานเปิดการอบรมหลักสูตรนโยบายการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและการเสริมสร้างแรงงานสัมพันธ์นายจ้าง ลูกจ้าง ในสถานประกอบการกิจการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายปราโมทย์ ประสิทธิ์พรม สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ ทั้งนี้ มีนายจ้าง ลูกจ้างในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนนายจ้าง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองอำเภอต่างๆ ในจังหวัดสงขลา เข้าร่วมอบรมกว่า 320 คน
นายสุรพล พนัสอำพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า การจัดอบรมในหลักสูตรดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ดีมากที่เปิดโอกาสให้ผู้แทนของนายจ้าง และลูกจ้างในสถานประกอบกิจการ มีโอกาสรับทราบถึงความจำเป็น ประโยชน์ของการปรับอัตราค่าจ้าง อีกทั้งเรียนรู้ปัญหาทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างในรูปแบบต่างๆ เพื่อจะได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ตรงกัน และมีแนวทางร่วมคิด ร่วมแก้ปัญหาด้วย
ซึ่งทางจังหวัดมีความห่วงใยในประเด็นปัญหาด้านแรงงานต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น จึงฝากข้อคิดไปยังฝ่ายนายจ้าง ขอให้ดำเนินการปรับอัตราค่าจ้างให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการค่าจ้างได้มีประกาศฉบับที่ 6 กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใน จ.สงขลา จากเดิมวันละ 176 บาท เป็นวันละ 246 บาท และต้องดูแลสวัสดิการพื้นฐานให้ทั่วถึง เพิ่มเติมสวัสดิการอื่นๆ ตามความเหมาะสมด้วย
ที่สำคัญคือการสร้างความเข้าใจกับลูกจ้างทุกระดับ นายจ้างต้องมีทีมงาน มีเครือข่ายที่ดี ต้องส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกจ้างให้มากที่สุด หากมีปัญหาหรือข้อขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น ขอให้ท่านรีบลงไปแก้ไขเยียวยาโดยเร็ว หากมีปัญหาใดที่เห็นว่าไม่สามารถที่จะแก้ไขโดยลำพังในระดับทวิภาคีได้ ก็ขอให้รีบแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้เข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ยุติได้โดยเร็วที่สุด
นายสุรพล พนัสอำพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวเน้นย้ำแก่ผู้ที่เข้าร่วมอบรบในครั้งนี้ โดยให้ทุกคนน้อมนำแนวพระราชดำรัสเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตในยุคเศรษฐกิจเช่นปัจจุบัน คือ วิถีชีวิตไทยที่ยึดทางสายกลางของความพอดี ความเป็นอยู่ที่ไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องประหยัดไปในทางที่ถูกต้อง เพื่อความเจริญก้าวหน้าในชีวิตต่อไป