xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์ระบุเหรียญที่ชาวบ้านงมได้พบในสมัย ร.ศ.115

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุมพร - กรมศิลป์ลงพื้นที่ตรวจสอบเก็บข้อมูลพิสูจน์เหรียญ ร.5 ในแม่น้ำชุมพร หลังชาวบ้านงมเจอจำนวนมาก พบเป็นสมัย ร.ศ.115 พร้อมศึกษาประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีจากอดีตสู่ปัจจุบัน เป็นแหล่งชุมชนโบราณหรือไม่
ประชาชนยังคงรอดูสถานการร์บริเวณแม่น้ำชุมพรหลังมีประกาศห้ามลงงมหาเหรียญ
จากกรณีที่มีชาวบ้านลงไปงมหาเหรียญ ร.5 ได้จำนวนมาก ที่บริเวณแม่น้ำชุมพร หมู่ที่ 6 ต.ขุนกระทิง อ.เมือง จ.ชุมพร ทำให้มีชาวบ้านทั้งในจังหวัดและใกล้เคียง ได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่เพื่อลงไปงมหาเหรียญ ร.5 ในบริเวณดังกล่าว จนแน่นขนัดทุกวัน ล่าสุด เมื่อเวลา 11.00 น.วันนี้ (28 มี.ค.) นายสาร์ท ชะลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช พร้อมคณะได้ลงพื้นที่บริเวณดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่สำนักศิลปากรที่ 14 ได้ปิดประกาศไว้บริเวณทางลงแม่น้ำชุมพร และกั้นอาณาเขตในรัศมี 100 เมตร ห้ามไม่ให้ผู้ใดลงไปงมหาเหรียญ

และขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนให้ยุติการขุดค้น หรืองมหาโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุในบริเวณดังกล่าว เพื่อรักษาโบราณวัตถุซึ่งเป็นทรัพย์แผ่นดิน ไว้เป็นสมบัติของชาติ และจังหวัดชุมพร หากผู้ใดฝ่าฝืน หรือเก็บได้ เบียดบังเอาไปเป็นของตนเอง จะมีโทษตามมาตรา 24 พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2535 มีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี และ ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

โดยมีชาวบ้านจำนวนมากที่เดินทางมาจากพื้นที่ต่างๆ ได้มายืนมุงดูการทำงานของเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร อยู่บนตลิ่ง ในขณะที่หลายรายต้องผิดหวัง เพราะตั้งใจจะมางมหาเหรียญ ร.5 แต่เจ้าหน้าที่ได้ปิดประกาศห้ามเข้าพื้นที่ดังกล่าว ทำให้รู้สึกผิดหวังไปตามๆ กัน นอกจากนั้น ยังมีกำลังเจ้าหน้าที่ อส.จ.ชุมพร ประมาณ 10 นาย มาคอยยืนตรวจตรารักษาความเรียบร้อยอยู่บริเวณพื้นที่ปิดประกาศห้ามเข้าจุดที่พบเหรียญ ร 5 ดังกล่าวด้วย

เจ้าหน้าที่นักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช ได้ลงไปตรวจสอบและบันทึกภาพบริเวณจุดที่ชาวบ้านงมพบวัตถุโบราณและเหรียญ ร.5 จำนวนมาก พบในพื้นที่มีการจุดธูปจุดเทียนบนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไว้รอบๆ ตลิ่ง และพบว่า ตั้งแต่ช่วงกลางวัน ไปถึงกลางคืน เกือบสว่าง ยังมีชาวบ้านลงไปงมหาวัตถุโบราณและเหรียญ ร.5 กันอยู่ โดยมีร่องรอยการก่อไฟทิ้งไว้หลายจุด นอกจากนี้ บริเวณริมตลิ่ง สันดอน และตามคุ้งน้ำ มีร่องรอยการขุดคุ้ยดินทรายไปทั่วบริเวณ

จากกรตรวจสอบเบื้องต้น จากภาพข่าวและสื่อต่างๆ ที่นำเสนอเหรียญ ร.5 ที่ชาวบ้านเจอส่วนใหญ่เป็นเหรียญกษาปณ์ทองแดง ชนิด 1 เซียว 1 อัฐ 1 เฟื่อง และ 1 ไพ โดยด้านหน้าเหรียญเป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ครึ่งพระองค์ มีพระปรมาภิไธย “จุฬาลงกรณ์ ปร.” อยู่ริมขอบซ้าย และอักษร “พระจุลจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม” อยู่ริมขอบขวา ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชประทับนั่ง พระหัตถ์ซ้ายทรงธารพระกร พระหัตถ์ขวาทรงท้าวขอบโล่ รอบวงขอบมีอักษรบอกราคาเหรียญ เบื้องล่างเป็นเลขบอกศักราช เป็นตัวอักษร “ร.ศ. 115” เป็นเหรียญที่ผลิตออกมาใช้จ่ายแก่ประชาชนทั่วไป เมื่อประมาณปี พ.ศ.2430 หรือราว 125 ปีที่ผ่านมา

นายสาร์ท ชะลอสันติสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 14 กล่าวว่า ตนลงมาตรวจสอบหาข้อมูลเก็บหลักฐานในพื้นที่เพื่อรายงานเสนอไปยังกรมศิลปากร และกระทรวงวัฒนธรรม ตามลำดับ เพื่อจะได้ศึกษาประวัติศาสตร์ทางโบราณคดี ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความเป็นไปเป็นมาอย่างไร เคยเป็นชุมชนโบราณ หรือ เส้นทางค้าขายทางเรือในสมัยโบราณหรือไม่ และตนได้รับบริจาคเหรียญที่ชาวบ้านขุดพบในแม่น้ำชุมพร จำนวน 2 เหรียญ เป็นเหรียญชนิด 1 เฟื่อง และ 1 อัฐ ผู้มอบชื่อ นายทิวา ทองศิริ และ นายปิยพงศ์ โชติกวนิช สองผู้สื่อข่าวท้องถิ่น ที่เข้าไปทำข่าววันแรก และชาวบ้านมอบให้ ซึ่งก็ต้องส่งไปพิสูจน์หากเป็นเหรียญสมัย ร.5 จริง ก็จะส่งไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.ชุมพร ต่อไปพร้อมกับทำหนังสือขอบคุณให้กับผู้บริจาคที่มองเหรียญดังกล่าวให้กับทางราชการด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น