xs
xsm
sm
md
lg

ชาวนครศรีฯวิตกโครงการทาสีองค์พระบรมธาตุหวั่นทำรูปลักษณ์เก่าพัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นครศรีธรรมราช - ชาวนครศรีฯวิตกโครงการ “ทาสีองค์พระบรมธาตุ” หวั่นทำอัตลักษณ์เก่าแก่เสียหาย ปธ.สภาวัฒนธรรมหัวหอกระดมทุนบอกทำให้ดูดีขึ้นควรเห็นด้วย เงินเหลือติดไฟฟ้าต่อ อธิการ มรภ.เผย ไม่สู้เห็นด้วย แต่เป็นมติที่ประชุม ศิลปากรเบรกต้องซ่อมตามแบบแผน

วันนี้ (11 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากวันมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดมายาวนานกว่า 785 ปี จนถึงปัจจุบัน ประชาชนที่มาร่วมงานได้ทราบข่าวโครงการทาสีองค์พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตั้งอยู่ในเขตพุทธาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ถ.ราชดำเนิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เพื่อเฉลิมฉลองปีสัมพุทธชยันตีครบ 2600 ปีในเดือนวิสาขะปีนี้

โดยในโครงการทาสีองค์พระบรมธาตุเจดีห์แห่งนี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้ที่เคารพศรัทธาจำนวนมาก เนื่องจากเกรงว่าจะทำให้ความเป็นขนานแท้ และดั้งเดิมขององค์พระบรมธาตุเจดีย์เปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ไปจากสี ซึ่งเป็นสารเคมีสมัยใหม่ ที่ไม่เคยถูกทาทับผิวองค์พระบรมธาตุเจดีย์มาก่อนตลอดเวลากว่า 785 ปีที่ผ่านมา เว้นแต่มีการบูรณะที่เป็นไปตามหลักการอนุรักษ์โบราณสถานของกรมศิลปากรครั้งใหญ่เมื่อปี 2530 และปี 2550 ที่ผ่านมาเท่านั้น

ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นที่ศึกษาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช อย่างลึกซึ้งและยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเปิดเผยว่า โครงการนี้ต้องบอกตามตรงว่าผมไม่สู้จะเห็นด้วย แต่เมื่อผ่านมติที่ประชุมซึ่งมีแนวคิดกันว่าจะทำในส่วนองค์พระบรมธาตุเป็นอคริลิกสีขาว แต่ต้องตามความยินยอมของกรมศิลปากร ซึ่งยังไม่เห็นเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะดำเนินการไปอย่างไร

ขณะนี้เริ่มมีการระดมทุนเพื่อการบูรณะแล้ว โดยที่ประชุมโดยนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานได้มอบให้กับนายสวัสดิ์ กฤติรัชตนันท์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ดำเนินการจัดหาทุน

“ผมได้ศึกษาแล้วเข้าใจว่าไม่ส่งผลกระทบการเข้าสู่การเป็นมรดกโลก ในการเปลี่ยนรูปแบบ จากการทาสีบูรณะ ตามแนวของยูเนสโกแล้วจะไปเข้าข้อวิธีการบำรุงรักษา แต่เท่าที่ได้ศึกษาความเป็นของพระบรมธาตุเจดีย์ ผมไม่พบว่ามีการทาสีบูรณะมาเลย แต่มีการใช้เทคนิคการเคลือบผิวหลังจากทำความสะอาดขูดเอาตะไคร่น้ำ วัชพืชออก ซึ่งน่าจะควรใช้วิธีการแบบดั้งเดิมจะดีกว่า และในปีสัมพุทธชยันตีควรคิดร่วมกันว่าทำอย่างไรให้คนหันกลับมาเข้าใกล้พระพุทธศาสนา เข้าใกล้องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานอยู่ที่นี่ ที่มีของดีอยู่ 3 ประการคือ การทำความดี ละเว้นความชั่ว และการทำจิตใจให้ผ่องใส” อธิการ ม.ราชภัฎนครศรีฯกล่าว

ขณะที่นายสวัสดิ์ กฤติรัชตนันท์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ในฐานะประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ความเป็นมาของโครงการทาสีองค์พระบรมธาตุ คือจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับวัดเห็นว่ามีคนที่มีจิตศรัทธาต้องการบูรณะองค์พระบรมธาตุด้วยการทาสี เอาตะไคร่น้ำออก ได้ทำเรื่องไปยังสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เพื่อการบูรณะชั้นต้นไม่ขัดข้อง ซึ่งได้มีการประมาณค่าใช้จ่ายเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามการจะอนุญาตหรือไม่นั้นต้องเสนอผ่านไปยังกรมนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณา การทาสีนั้นอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงโบราณสถาน จะต้องดูแลอย่างรอบคอบ ได้เสนอไปแล้วเมื่อช่วงต้นเดือน ทราบว่าที่ประชุมคณะกรรมการของกรมศิลป์ไม่ขัดข้อง แต่มีข้อสังเกตกลับมาด้วยแต่ยังไม่มีหนังสือตอบกลับมา

“การทำหนังสือนั้นลงนามไปโดยพระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ส่วนสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเป็นตัวกลางในการประสานงานเพื่อการเฉลิมฉลองในปีสัมพุทธชยันตี ทำให้ดูดีขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจ ซึ่งขณะนี้ได้แบ่งออกเป็นสองส่วนแล้ว ในส่วนของการบูณะคือ 1.ผู้บริจาครายสำคัญ และ 2.การสร้างเหรียญสัมพุทธชยันตี ระดมเงินทุนมาบูรณะ ถ้ายังมีเงินเหลือเราจะติดตั้งไฟฟ้าหรือรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ด้วย กรมศิลป์จะต้องเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนเรามีหน้าที่หาเงินให้เขาไป การทาสีนั้นเข้าใจว่าทาสีในแบบเดิมๆ อยู่ที่กรมศิลป์ให้ดูดี ผู้ที่ไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าทำแล้วดีขึ้นควรที่จะเห็นด้วย ช่วยอะไรกันได้ควรมาช่วยกันดีกว่า” ประธานสภาวัฒนธรรมนครศรีธรรมราช กล่าว

ด้านนางแสงจันทร์ ไตรเกษม ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 เปิดเผยว่า กรณีนี้สืบเนื่องจากวัด กลุ่มบุคคล และคณะกรรมต่างๆ ของจังหวัดได้มีความคิดขึ้นมาในการซ่อมแซมบูรณะซึ่งเบื้องต้นนั้นเป็นเจตนาในการทาสี และได้แจ้งมาที่กรมศิลปากร ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.โบราณสถาน พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ถือเป็นจอมเจดีย์สำคัญ 1 ใน 5 ของประเทศไทย ยอมรับว่าคิดหนักเช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามเป็นอำนาจของกรมศิลปากร ซึ่งในเบื้องต้นนั้นได้ส่งเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการวิชาการชุดใหญ่ของกรมศิลปากร ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิ อดีตอธิบดีกรมศิลปากรหลายท่าน ซึ่งสำนักศิลปากรที่ 14 ได้ทำเรื่องขอไป

ประเด็นมันอยู่ที่จะทาสีอะไร ถ้าเป็นอคริลิกนั้นเป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาด หากจะบูรณะต้องเป็นไปตามรูปแบบเดิมเท่านั้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทำรายละเอียด เมื่อปี 2550 ที่ผ่านมาได้บูรณะใหญ่ไปแล้ว คือการกะเทาะส่วนที่ผุกร่อนแล้วใช้ปูนแบบโบราณคือปูนหมัก ปูนตำ น้ำปูนทาเท่านั้น ถ้าทำคือต้องทำการทำลายวัชพืชตะไคร่น้ำต่างๆ ทำความสะอาด ซ่อมแซมส่วนที่หลุดร่อน ซ่อมแซมปูนหมักขัดปูนตำ ทาสีน้ำปูนตามรูปแบบเมื่อปี 2550

"ได้ถามไปแล้วว่า ประชาพิจารณ์กันหรือยัง กรมศิลป์ได้นำเรื่องเข้าสู่กรรมการชุดใหญ่ไปแล้ว การดำเนินการต้องทำเหมือนเดิมต้องใช้น้ำปูนเราจะเป็นมรดกโลก ต้องเหมือนเดิมคือปูนหมักขัดปูนตำ และจะต้องทำต่อไปกันเรื่อยๆ บอกเลยว่า หากเป็นอคริลิกเรายอมไม่ได้อย่างเด็ดขาด ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวลหากมีข้อสงสัยสำนักศิลปากรที่ 14 ยินดีตอบคำถามทุกประการ" ผอ.สำนักศิลปากรที่ 14 กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมว่า สิ่งที่นักอนุรักษ์ รวมทั้งประชาชนวิตกกังวลเป็นอย่างมากในขณะนี้คือ มีพระชั้นผู้ใหญ่ และผู้ที่เกี่ยวข้องต่างต้องการเปลี่ยนแปลงพื้นผิวองค์พระบรมธาตุเจดีย์อย่างหลากหลาย เช่น การปิดทองทั้งองค์ การทาสีอคริลิคกล้ายกับสีงาช้าง โดยยกตัวอย่างสีที่ใช้กับเสาในพระวิหารหลวงวัดพระมหาธาตุ บ้างต้องการติดโมเสกทั้งองค์ ซึ่งทำให้ผู้ที่ไม่รู้ขั้นตอนการดำเนินการนั้นวิตกอย่างมากเกรงว่าความเป็น “ขนานแท้ และดั้งเดิม” ของโบราณสถานที่ยังคงมีชีวิตคงอยู่ยาวนานพร้อมกับวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนมาตลอดนับพันปีเสียหายไป
กำลังโหลดความคิดเห็น