โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ามีการประชุมคณะกรรมการการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณียิงชาวบ้าน 4 ศพ ที่ตำบลปุโละปุโย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ณ โรงแรม ซีเอส ปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมาว่า มีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 22 คน มีนายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี เป็นประธานการประชุม
ที่ประชุมได้เชิญเจ้าหน้าที่ทหารพรานที่ปฏิบัติหน้าที่ในจุดเกิดเหตุเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2555 จำนวน 3 นายมาให้ข้อมูล ได้แก่ สิบโท แสงอาทิตย์ บูรณเรืองกิจ, อาสาสมัครทหารพราน สุไลมาน เจะโก๊ะ, อาสาสมัครทหารพราน พรเทพ สุขสวัสดิ์ ส่วนช่วงบ่ายได้เชิญชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ 3 คน มาให้ข้อมูล ได้แก่ นายยา ดือราแม นายอับดุลเลาะห์ นิ และนายมูหะมะ นิ โดยใช้เวลาในการสอบถามข้อมูลจนถึงเวลาประมาณ 16.00 น.
นายเสรี ศรีหะไตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ ได้ขอมิให้เปิดเผยรายละเอียดในการให้ข้อมูล เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริง และการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรหนองจิก เพราะเกรงจะเสียรูปคดี
ที่ประชุมยังได้ตั้งคณะทำงานชุดหนึ่งเพื่อเดินทางไปสอบถามข้อมูลจากผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่ยังพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจังหวัดปัตตานีอีก 3 คน ได้แก่ นายมะรูดิง แวกือจิ อายุ 15 ปี นายฐอบรี บือราเฮง อายุ 19 ปี และนายมะแอ ดอเลาะ อายุ 76 ปี ในวันที่ 1 มีนาคม 2555
คณะทำงานชุดนี้ ประกอบด้วย นายอนุกูล อาแวปูเตะ, นายอัดนัน ดือราแม, พ.อ.ชุมพล แก้วล้วน, นายอาหามะ หะยีอาหวัง และนายเสรี ศรีหะไตร
ที่ประชุมยังมอบหมายให้นาย กิตติ สุระคำแหง ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานยุติธรรม ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ประสานงานกับ ร.ต.อ. พิสิษฐ บัวแก้ว นักวิทยาศาสตร์ (สบ.1) พิสูจน์หลักฐานจังหวัดปัตตานี เพื่อสอบถามข้อมูลบางส่วนและประสานงานกับนายสุรพงษ์ อินทสระ รองอัยการจังหวัดปัตตานี เพื่อมาข้อให้ข้อมูล ในวันที่ 10 มีนาคม 2555
ที่ประชุมมีนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 10 มีนาคม 2555 พร้อมกับนำร่างรายงานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ให้ที่ประชุมพิจารณา
นายกิตติเปิดเผยว่า คณะกรรมการจะนำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาประกอบการพิจารณาด้วย เพราะเป็นหลักฐานที่ไม่สามารถบิดเบือนได้
นายเสรีกล่าวว่า การให้ข้อมูลของทหารพรานกับชาวบ้านเหมือนหนังคนม้วน ดังนั้น ข้อมูลที่เป็นกลางที่สุดในขณะนี้คือหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ ดังนั้น คณะกรรมการต้องสอบถามข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายอย่างละเอียดและนำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาประกอบการพิจารณา