สตูล - รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล หัวหน้าคณะกรรมการฯ เดินทางตรวจสอบปัญหาที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านและอุทยานฯ ตะรุเตาที่มีการประกาศที่ทับซ้อนที่ทำกิน และพบว่าพื้นที่ป่าเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 80 ไร่ ที่ขณะนี้มีการบุกรุกไปแล้วถึง 60 ไร่
จากกรณีข้อพิพาทระหว่างชาวบ้านบนเกาะหลีเป๊ะ กับอุทยานฯแห่งชาติตะรุเตา ว่ามีการประกาศทับที่ชาวบ้าน และมีการเข้าทำลายผลอาสินของชาวบ้านจนมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ทำให้จังหวัดสตูลตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้น
วันนี้ (22 ก.พ.) นายกฤติพงษ์ คงแข็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล หัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ ได้เดินทางลงพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ หมู่ที่ 7 ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล พร้อมคณะทำงานที่ประกอบด้วย สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อัยการจังหวัด, โยธาธิการและผังเมือง, สำนักงานที่ดิน, สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 สาขาสตูล พร้อมตำรวจภูธรจังหวัด ร่วมคณะจำนวน 8 คน ลงดูข้อเท็จจริงในพื้นที่ป่าเฉลิมพระเกียรติ จำนวน 80 ไร่ ที่ขณะนี้มีการบุกรุกไปแล้วถึง 60 ไร่ และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีอีก 1 แปลง ซึ่งชาวบ้านได้อ้างว่าที่ดินป่าเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวเป็นของพวกตนนั้น ทางคณะกรรมการฯได้ให้แต่ละฝ่ายหาเอกสารมายืนยันการครอบครองสิทธิ์
ก่อนจะพากันไปดูพื้นที่ข้อพิพาทอีก 1 จุด จำนวน 40 ไร่ ซึ่งอยู่ติดที่ตั้งของหน่วยทหารเรือ หลังชาวบ้านอ้างว่าจุดนี้เป็นพื้นที่ของพวกตนเช่นเดียวกัน ซึ่งทางทหารเรือก็กล่าวอ้างว่าได้ขออนุญาตทางอุทยานฯในการขอใช้พื้นที่ดูแลแล้ว โดยจุดนี้เป็นการลงตรวจสอบหาข้อเท็จจริงอีกครั้ง หลังพบหลุมฝังศพของชาวบ้านในพื้นที่ และเครื่องปั่นไฟที่อยู่ในสภาพที่ชำรุดผุพัง โดยมีชาวบ้านมายื่นคำร้องให้มีการตรวจสอบเอกสารพื้นที่ดังกล่าวแล้วเพียง 1 ราย
การลงตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะฯ จังหวัดชุดนี้ยอมรับว่า ยังต้องแกะปมปัญหาอีกหลายส่วน พร้อมให้ชาวบ้านที่กล่าวอ้างว่าครอบครองสิทธิ์ที่ดินมาก่อนที่อุทยานฯตะรุเตาจะมาประกาศ ในปี 2517 ให้มายื่นเจตจำนงกับที่ดินจังหวัด ในการขอให้มีการรางวัดที่ดินใหม่ เพื่อตรวจสอบสิทธิ์ในลำดับต่อไป
ด้านนายกฤติพงษ์ คงแข็ง รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล หัวหน้าคณะกรรมการตรวจสอบปัญหาที่ดินบนเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล บอกว่า การตรวจสอบในครั้งนี้หลังมีการร้องเรียน คงต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้กฎหมายและความเป็นธรรม หรือหากอยู่ดีมีสุขอยู่แล้วหากเห็นควรมีการปรับปรุงก็ควรกระทำ นอกจากนี้ปัญหาโต้แย้งหากไม่ยุติก็จะใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นผู้ตัดสินถือที่สุดของปัญหาแล้ว