xs
xsm
sm
md
lg

ไทยต้องมี “กระทรวงภัยพิบัติธรรมชาติ” ได้แล้ว?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

จากกรณีเกิดแผ่นดินไหว 2.7 ริกเตอร์ ที่จังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 และจากการติดตามสื่อสังคมออนไลน์ของผู้เขียน พบว่า มีประเด็นที่ประชาชนกังวลและต้องการคำตอบเกี่ยวกับเรื่องแผ่นดินไหวจำนวนมาก ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้มาตลอด ขอไขข้อข้องใจของประชาชนดังกล่าว ดังนี้

1.ประเทศไทยเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวหรือไม่ และบริเวณไหนที่เสี่ยง
เสี่ยงในบางพื้นที่ โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ชายแดนไทย-พม่า ไทย-ลาว และ ลาว มีแผ่นดินไหวขนาดเล็กถึงปานกลาง แต่ก็มีโอกาสสร้างความเสียหายได้ โดยเฉพาะอาคารที่ไม่แข็งแรง หรือโบราณวัตถุ ทางตะวันตก จ.กาญจนบุรี และทางภาคใต้ ชุมพร สุราษฎร์ พังงา ภูเก็ต มีแผ่นดินไหวขนาดเล็ก แต่อัตราการเกิดต่ำ

2.มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง (M=9) ใกล้กรุงเทพฯ ตามข่าวหรือคำทำนายของโหรในประเทศไทยหรือไม่?
ไม่มีโอกาสแน่นอน เพราะแผ่นดินไหวรุนแรงหรือขนาดยักษ์ มักจะเกิดในแนวมุดตัว เช่น แนวมุดตัวซุนดา แนวมุดตัวในญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อเมริกาใต้ สำหรับรอยเลื่อนที่ไม่ใช่แนวมุดตัวระหว่างเปลือกโลก หรือรอยเลื่อนต่างๆ จะไม่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรง

3.ที่เขื่อนศรีนครินทร์มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวที่รุนแรงตามที่หลายคนออกมาให้ความเห็นหรือไม่?
น้อยมาก เพราะน้ำในเขื่อนทำให้ความแข็งแรงของรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ที่พาดอยู่ในเขื่อนลดความแข็งแรงลงไปมาก แผ่นดินไหวขนาดใหญ่สุดที่เคยเกิดเท่ากับ 5.9 (mb) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2526 และหลังจากนั้น จนถึงปัจจุบัน 30 ปี ก็จะมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กขนาดเฉลี่ยประมาณ 3.0 ริกเตอร์ และอัตราการเกิดก็ลดลงมาก ซึ่งหมายถึงว่ารอยเลื่อนไม่สามารถสะสมความเค้นได้มากอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม การติดตามแผ่นดินไหวบริเวณเขื่อนก็ต้องทำอย่างต่อเนื่องต่อไป การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต้องนำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณชน และอธิบายให้ประชาชนทราบถึงข้อเท็จจริง เพราะข้อมูลแผ่นดินไหวในอดีตสามารถใช้ในการพยากรณ์การเกิดแผ่นดินไหวในอนาคตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขนาดสูงสุดของแผ่นดินไหวในรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ที่กังวลกันอยู่

 
4.มีโอกาสเกิดสึนามิที่รุนแรงแบบ 26 ธันวาคม 2547 อีกหรือไม่?
จากการประเมินจากสถิติก็ต้องใช้เวลาเป็นร้อยปีครับ เรื่องสึนามิก็ไม่ต้องกังวลมาก เพราะหลังจากสึนามิ 2547-2554 ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา มีแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 7-14 ครั้ง และเกิดสึนามิ 4 ครั้ง แต่ก็มีความสูงของคลื่น 20-50 ซม.เท่านั้น เราเลยไม่ได้ยินข่าว

ประเด็นก็คือ ถึงแม้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงในมหาสมุทร ก็ไม่ได้หมายความว่า จะเกิดสึนามิทุกครั้ง และหากเกิดสึนามิก็ไม่ได้หมายความว่าจะเหมือน 26 ธ.ค.2547 ในสุมาตราเหนือ และ 11 มีนาคม 2554 ที่ญี่ปุ่น

5.ความก้าวหน้าด้านวิชาการทางแผ่นดินไหวและการตรวจวัดแผ่นดินไหวในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้าง?
แผ่นดินไหว หรือ seismology นับว่าเป็นสาขาวิชาที่เพิ่งจะเกิดขึ้น หากเทียบกับฟิสิกส์ เคมี ชีวะ และต้องยอมรับว่า คนไทยเพิ่งรู้จักแผ่นดินไหวหลังเหตุการณ์สึนามิ 2547 นี้เอง ในอดีตที่ผ่านมา เราไม่ค่อยได้ทราบ เนื่องจากภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับธรณีพิบัติภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจวัดแผ่นดินไหว ทำให้ช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเราขาดข้อมูลแผ่นดินไหวในประเทศและบริเวณใกล้เคียงไปมาก

พอถึงวันนี้ทุกคนตระหนักแล้วว่าเราจะเพิกเฉยต่อภัยแผ่นดินไหวไม่ได้แล้ว จึงเพิ่งเริ่มมาให้ความสนใจ และเพิ่งมาทำการปรับปรุงเครือข่ายสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเมื่อ ปี 2548 จึงทำให้เราขาดองค์ความรู้ กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน มีเครื่องมือตรวจวัด แต่ก็ไม่สามารถจะเก็บข้อมูลได้ละเอียดมากเนื่องจากยังขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะมาแปลผลและจัดเก็บข้อมูลที่เป็นระบบและเรียกใช้งานได้ง่าย

6.การศึกษาวิจัยทางแผ่นดินไหวที่คณะวิทยาศาสตร์ไปทางไหน?
การศึกษาวิจัยที่ภาควิชาฟิสิกส์จะเน้น 2 ทาง คือ การศึกษาโครงสร้างของเปลือกโลกจากคลื่นแผ่นดินไหว การวิเคราะห์แผ่นดินไหว และการทำนายการเกิดแผ่นดินไหว เพื่อจะหารูปแบบหรือโมเดลที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ประเทศไทยและบริเวณใกล้เคียง

7.ประเทศไทยมีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหวหรือไม่
ยังไม่มีระบบเตือนภัยแผ่นดินไหว ทุกหน่วยงานของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นศูนย์เตือนภัยพิบัติ กรมอุตุฯ หรือกรมทรัพยากรธรณี รายงานการเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างเดียว ยังเตือนภัยแผ่นดินไหวไม่ได้ เพราะขาดเครื่องมือไม่พอและยังขาดองค์ความรู้

ส่วนสึนามิสามารถเตือนภัยได้ แต่ก็ยังต้องพึ่งข้อมูลจากต่างประเทศอยู่มาก เพราะเรายังไม่มีองค์ความรู้นั่นเอง ขอย้ำว่าเครื่องมือที่ทันสมัยต้องการผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการแปลผล ภาครัฐต้องสร้างและพัฒนากำลังคนด้านนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งเรายังขาดอยู่อีกมาก

 
8.เกี่ยวกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว 2.7 ริกเตอร์ ที่ อ. ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ชาวบ้านกังวลเรื่องอาฟเตอร์ช็อก อยากให้อธิบายว่าเป็นอย่างไร
ปกติอาฟเตอร์ช็อก หรือแผ่นดินไหวตามหลัง จะมีขนาดต่ำกว่าแผ่นดินไหวหลักอยู่ประมาณ 1.2 หน่วย แต่จะเกิดกับแผ่นดินไหวขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ (มากกว่า 5 ริกเตอร์) ดังนั้น สำหรับกรณีนี้ ขนาดแผ่นดินไหว 2.7 ริกเตอร์ ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็กไม่น่าจะเกิดอาฟเตอร์ช็อก แต่หากเกิดอาฟเตอร์ช็อกก็จะมีขนาดสูงสุดประมาณ 1.5 หรือพลังงานน้อยกว่าเมนช็อกอยู่ประมาณ 35 เท่า จึงไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด

ยกเว้นว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้เป็นโฟร์ช็อก หรือแผ่นดินไหวนำ ซึ่งจะตามมาด้วยแผ่นดินไหวที่มีขนาดสูงกว่าประมาณ 1.5-2.5 หน่วย ก็อาจจะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ต้องติดตามข้อมูลจากสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวสักระยะหนึ่ง

9.ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือเกี่ยวกับแผ่นดินไหวและสึนามิอย่างไร
ต้องยอมรับว่า ถึงแม้เรามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ เช่น กรมอุตุฯ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ก็เป็นการทำงานแบบต่างคนต่างทำเพราะอยู่กันคนละกระทรวง ขาดการบูรณาการองค์ความรู้ที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา เราไม่พร้อมเพราะไม่ได้สร้างองค์กรและฐานความรู้ไว้

แม้กระทั่งการซักซ้อมการอพยพหนีภัยก็ยังไม่เข้าใจว่าหากเกิดแผ่นดินไหวขึ้นจะทำอย่างไรบ้าง เราต้องซ้อมทั้งประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย ตัวอย่างเช่น หากเกิดแผ่นดินไหว 6.5 ริกเตอร์กลางเชียงใหม่ จะบริหารจัดการกันอย่างไร สถานการณ์จริงอาจจะมีอาคารถล่มเป็นแถบ ผู้คนอยู่ใต้ซากตึกเป็นร้อย จะทำอย่างไร เราไม่เคยซ้อมกัน แม้ซ้อมการอพยพสึนามิก็ให้เด็กนักเรียนวิ่งหนีในขณะที่เจ้าหน้าที่จอดรถขวางทางเต็มไปหมด

ความเห็นส่วนตัวผมคิดว่าจะต้องมี กระทรวงภัยพิบัติธรรมชาติ (Ministry of Natural Disaster) โดยเอาหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาทำงานด้วยกันเพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการและสั่งการเมื่อมีเหตุพิบัติภัยเกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น