ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ผลสำรวจหาดใหญ่โพล เยาวชนไทยคิดอย่างไรกับวันวาเลนไทน์ ร้อยละ 68.7 ให้ความสำคัญกับวาเวนไทน์ แต่ต้นทุนซื้อของขวัญน้อย อยากบอกรักแฟนในวันวาเลนไทน์ แต่เห็นว่าในที่สาธารณะไม่เหมาะสมกับสังคมไทย กิจกรรมที่อยากทำที่สุด คือ ดูหนัง
หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ เกี่ยวกับเยาวชนไทยคิดอย่างไรกับวันวาเลนไทน์โดยเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน จำนวน 1,102 ตัวอย่าง และใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 7-11 กุมภาพันธ์ 2555 สรุปผลการสำรวจ ดังนี้
กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 67.0 มีสถานภาพโสด ร้อยละ 52.9 รองลงมา มีแฟนแล้ว ร้อยละ 34.9 และสถานภาพสมรสแล้ว ร้อยละ 11.9 ตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 70.2 มีเพียงร้อยละ 29.8 เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน
รศ.ทัศนีย์ ประธาน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยผลการสำรวจหาดใหญ่โพล พบว่า ประชาชน 14 จังหวัดภาคใต้ส่วนใหญ่ร้อยละ 68.7 ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์แต่ส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญในระดับน้อยถึงปานกลาง มีเพียงร้อยละ 6.6 ที่ให้ความสำคัญวันวาเลนไทน์ในระดับมาก แต่ร้อยละ 31.3 ไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์เลย จากผลการสำรวจ พบว่า กลุ่มคนทำงานช่วงอายุต่ำกว่า 30 ปี ร้อยละ 77.9 ให้ความสำคัญวันวาเลนไทน์มากกว่ากลุ่มนักศึกษาที่ให้ความสำคัญวันวาเลนไทน์เพียงร้อยละ 63.1 เท่านั้น
เยาวชนร้อยละ 47.8 ต้องการออกไปเที่ยวในวันวาเลนไทน์ โดยที่ส่วนใหญ่ร้อยละ 59.7 ไปเที่ยวกับแฟน/คนรัก มากที่สุด รองลงมา คือ ไปเที่ยวกับเพื่อน ร้อยละ 18.6 และครอบครัว ร้อยละ 18.0 ตามลำดับ นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 49.2 ต้องการทำกิจกรรมการไปดูหนังในช่วงวันวาเลนไทน์ มากที่สุด รองลงมาคือ รับประทานอาหารนอกบ้าน, เที่ยวกลางคืนเธค ผับ บาร์ และเดินช้อปปิ้งในห้างสรรพสินค้า คิดเป็นร้อยละ 35.4, 23.3 และ 21.5 ตามลำดับ
ทั้งนี้ เยาวชนร้อยละ 58.5 มีการซื้อสิ่งของในช่วงวาเลนไทน์ โดยที่เยาวชนร้อยละ 18.2 จะมีค่าใช้จ่ายในช่วงวันวาเลนไทน์ น้อยกว่า 300 บาท มากที่สุด รองลงมา จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 501-1,000 บาท และมากกว่า 301-500 บาท คิดเป็นร้อยละ 16.8 และ 12.7 ตามลำดับ มีเพียงเยาวชนร้อยละ 5.9 ที่ทำของมอบให้กับคนรัก/แฟนด้วยตนเอง และร้อยละ 35.6 ไม่ได้ซื้อของขวัญมอบให้กับคนรัก/แฟน
เยาวชนร้อยละ 43.1 ต้องการบอกรักแก่คนรักหรือแฟนด้วยตนเอง มากที่สุด รองลงมา บอกรักผ่านอินเทอร์เน็ตหรือสังคมออนไลน์, บอกรักผ่านการมอบของขวัญ และบอกรักผ่านโทรศัพท์ คิดเป็นร้อยละ 18.0, 15.2 และ 8.4 ตามลำดับ
ส่วนความคิดเห็นต่อความคาดหวังจากคนรักในวันวาเลนไทน์ พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 71.1 คาดหวังจากคนรักหรือแฟนในช่วงวันวาเลนไทน์ โดยที่ร้อยละ 37.5 คาดหวังให้คนรักหรือแฟนบอกรักและแสดงความรัก มากที่สุด รองลงมา คาดหวังจากคนรักหรือแฟนให้มอบดอกไม้และของขวัญ คิดเป็นร้อยละ 9.7 และ 9.5 ตามลำดับ
ทั้งนี้ เยาวชนร้อยละ 48.6 จะเสียใจเล็กน้อยหากไม่ได้สิ่งที่หวังจากคนรักหรือแฟน รองลงมา รู้สึกเฉยๆ และเสียใจมาก คิดเป็นร้อยละ 32.8 และ 14.2 ตามลำดับ
เยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 83.7 คิดว่าการแสดงความรักในที่สาธารณะในช่วงวันวาเลนไทน์เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมของสังคมไทย มีเพียงร้อยละ 16.3 เป็นเรื่องที่สามารถแสดงความรักในที่สาธารณะทำได้ในช่วงวันวาเลนไทน์ นอกจากนี้เยาวชนส่วนใหญ่ร้อยละ 66.0 เห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์เป็นเรื่องผิดปกติสำหรับสังคมไทย
เยาวชนร้อยละ 31.2 คิดว่า ปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ของเยาวชนในช่วงวันวาเลน์ไทน์ เป็นประเด็นที่ผู้ปกครองและสังคมไทยเป็นห่วงมากที่สุด รองลงมา คือ ปัญหาท้องก่อนวัยอันควร และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชน คิดเป็นร้อยละ 25.2 และ 20.0 ตามลำดับ
นอกจากนี้ เยาวชนร้อยละ 58.7 เห็นว่าเด็กควรได้รับความอบอุ่นจากครอบครัว มากที่สุด รองลงมา คือ ควรสั่งสอน ศีลธรรม และจริยธรรมให้แก่เยาวชน, ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม และมีมาตรการควบคุมสื่อต่างๆ ที่ยั่วยุพฤติกรรมซ่อนเร้นของเยาวชน คิดเป็นร้อยละ 43.5, 42.9 และ 38.5 ตามลำดับ