สงขลา - ชง 11 เรื่องให้‘ยิ่งลักษณ์’เจรจา‘นายกฯมาเลย์’‘ใบกระท่อม’ขึ้นชั้นปัญหาระหว่างประเทศ พ่อค้าหัวใสเก็บส่งขายในไทยไม่ถูกจับ เหตุกฎหมายให้เป็นแค่สมุนไพร เด็กทุนเรียนอ่อน มีสิทธิตกยกรุ่น แต่ยังอ้อนขอเพิ่มอีกช่วยนักเรียนชายแดนใต้
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดประชุมหารือแนวทางแก้ปัญหาชายแดนไทย-มาเลเซีย ณ โรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อเสนอกรอบประเด็นให้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปประชุมหารือกับ นายราจิบ นาซัค นายกรัฐมนตรีประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 โดยมี นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน
ที่ประชุมมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.), นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมศุลกากร กระทรวงการต่างประเทศ, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.), ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล สงขลา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประมาณ 100 คน
ที่ประชุมได้หารือกรอบประเด็นการหารือรวม 11 ประเด็น ได้แก่ ความร่วมมือด้านความมั่นคง, ความร่วมมือด้านการบรรเทาภัยพิบัติ, การก่อสร้างสะพานตากใบและสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลกแห่งที่ 2, การแก้ปัญหาแรงงานไทยในร้านต้มยำในมาเลเซีย, การแก้ปัญหารถตู้ไทยในมาเลเซีย, การขอต่ออายุและขยายระดับทุนการศึกษาของรัฐบาลมาเลเซีย, การเปิดการค้าเสรีต้นกล้ายาง, เมล็ดปาล์มน้ำมัน และตั้ง Oil Palm Belt การขยายด่านสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม, การส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ความร่วมมือด้านเกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) และความร่วมมือในการส่งออกทุเรียนไปตลาดจีน
ในประเด็นความมั่นคง ที่ประชุมได้เสนอหารือเรื่องปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะใบกระท่อม ซึ่งเป็นยาเสพติดที่กำลังระบาดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่มาเลเซียถือว่าเป็นยาสมุนไพรรักษาโรคและไม่ผิดกฏหมาย ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะทำให้มาเลเซียมองว่าเป็นปัญหาระหว่างประเทศที่อาจนำไปสู่ความไม่สงบในมาเลเซียเองด้วย เนื่องจากขณะนี้มีพ่อค้าไปเก็บใบกระท่อมในมาเลเซียมาขายในไทยจำนวนมาก โดยไม่ผิดกฎหมายของมาเลเซีย
ส่วนการแก้ปัญหาแรงงานไทยทำงานร้านต้มยำในมาเลเซีย ที่ประชุมเสนอขอให้มาเลเซียเก็บค่าภาษีตามระดับรายได้ของแรงงานไทย แทนการเก็บในอัตราเดียวที่สูง และให้เปิดรับแรงงานประเภทอื่นนอกจากคนปรุงอาหารด้วย ทั้งนี้ ผู้ประกอบการพร้อมจดทะเบียนลูกจ้างให้ถูกต้องตามกฏหมายอยู่แล้ว
ประเด็นการขอต่ออายุและขยายระดับทุนการศึกษาของรัฐบาลมาเลเซีย ที่ประชุมเสนอขอให้ประเทศมาเลเซียสนับสนุนทุนการศึกษาต่อไป แม้ว่าขณะนี้นักเรียนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับทุนแล้ว 4 รุ่น จำนวน 200 กว่าคน มีการเรียนที่อ่อนอย่างหนัก จนต้องลาออกไปแล้ว 5 คน และที่เหลือมีแนวโน้มที่จะเรียนไม่จบชั้นมัธยมปลาย ขณะเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการได้ส่งครูไปสอนพิเศษให้กับเด็กกลุ่มนี้แล้วก็ตาม
ด้านการขยายด่านสะเดา-บูกิตกายูฮิตัม ที่ประชุมขอให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอของบประมาณเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี 40 กว่าล้านบาท ในคราวการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดภูเก็ต ในเดือนมีนาคม 2555 เพื่อใช้ในการจ่ายจดเชยผลอาสินในที่ดินโครงการปรับปรุงด่านสะเดาเนื้อที่ 19 ไร่ เนื่องจากมีข้อตกลงกับชาวบ้านแล้วว่า จะชดเชยต้นยางพาราต้นละ 5,000 บาท
ขณะที่โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ เนื้อที่ 720 ไร่ ชาวบ้านบางส่วนได้เสนอขอค่าชดเชยต้นยางพาราต้นละ 8,100 บาท จึงจะยินยอมให้ก่อสร้างด่านดังกล่าว
ส่วนการส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ขอให้กระทรวงการต่างประเทศตรวจสอบศักยภาพของ บริษัท ลังกาสุกะ กรุ๊ป ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจประเทศมาเลเซียและไทย ที่ระบุว่า จะลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกและอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลที่ปัตตานี มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ว่า เป็นบริษัทที่มีศักยภาพจริงหรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีทุนจดทะเบียนบริษัทเพียง 1 ล้านบาทเศษเท่านั้น
ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)