ตรัง - กลุ่ม NGO เปิดเวทีเรียนรู้ "โรงไฟฟ้าถ่านหินดีจริงหรือ" ให้ชาว อ.กันตัง จ.ตรัง มีความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจน ตอก กฟผ. อย่าหมกเม็ดเข้ามาก่อสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่ พร้อมเผยข้อมูลมีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินความต้องการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง
วันนี้ (9 ก.พ.) ที่ห้องประชุมคอซิมบี้ อ.กันตัง จ.ตรัง องค์กรชุมชน หรือกลุ่มเอ็นจีโอ. จ.ตรัง ประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำปะเหลียน เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำตรัง ชมรมประมงพื้นบ้าน และสภาองค์กรชุมชน ได้จัดสัมมนาเวทีเรียนรู้ ในประเด็น "โรงไฟฟ้าถ่านหิน ดีจริงหรือ" เพื่อให้คนในชุมชน อ.กันตัง ได้มีความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจน โดยเชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเข้าใจ มาร่วมในเวทีสัมมนาในครั้งนี้ และมีประชาชนสนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 200 คน
น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ในการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องตามกระแสโลกทุนนิยมสมัยใหม่ และเป็นความต้องการของนักลงทุนที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ชุมชนในจังหวัดตรังได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง และในบางพื้นที่ได้มีการต่อสู้กับนายทุนมาไม่น้อย เพราะการพัฒนาที่นายทุนต้องการนั้น ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และเกิดผลกระทบกับชุมชน
เช่นเดียวกับพื้นที่ใน ต.วังวน อ.กันตัง ซึ่งจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยผู้ลงทุนอ้างว่า เป็นการผลิตไฟฟ้าที่สะอาดปราศจากผลกระทบกับชุมชน เพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย ส่วนผลประโยชน์จากกำไร ชุมชนก็จะได้รับปีละจำนวนหลายสิบล้านบาท แต่ด้วยกระบวนการในการดำเนินการที่ผ่านมานั้น ชุมชนไม่สามารถรู้ข้อมูลข้อเท็จได้ เพราะไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาชี้แจง และทำความความเข้าใจอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา
ในเบื้องต้นจึงทำให้คนในชุมชนเกิดความสับสนและเกิดความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ระหว่างคนที่สนับสนุนและคนที่ต้องการทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อนำมาสู่การตัดสินใจว่าหากมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น จะทำให้ชุมชนในตำบลและในพื้นที่ใกล้เคียงได้รับผลประโยชน์จริงหรือไม่ ส่วนกิจการของโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตชุมชน หรือสุขภาพ เหมือนที่มาบตาพุด จ.ระยอง หรือไม่ รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่ชุมชนยังไม่ได้เรียนรู้ด้วย
น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ หัวหน้าโครงการเสริมสร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา (สจน.) กล่าวว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2550-2564 ซึ่งได้รับการอนุมัติในปี พ.ศ.2550 มีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงเกินความต้องการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริง จนนำมาสู่การก่อสร้างโรงไฟฟ้าต่างๆ มากเกินความจำเป็น และเป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องจ่ายค่าไฟฟ้ามากขึ้นทั้งประเทศ โดยเฉพาะแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2553-2573 ซึ่งได้รับอนุมัติในปีที่แล้ว (พ.ศ.2553) แต่ผ่านมาเพียงปีเดียว ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดที่เกิดขึ้นจริงในปี 2554 กลับต่ำกว่าการพยากรณ์ในแผน PDP2010 ถึง 668 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ เมื่อนำค่าจริงของปี 2554 ไปคำนวณตามอัตราการเติบโตของการใช้ไฟฟ้าตามแผน PDP2010 จะทำให้ได้ค่าการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าต่ำลง โดยในปี 2573 จะมีค่าลดลง 1,436 เมกะวัตต์ และเมื่อรวมกับกำลังผลิตสำรองอีกร้อยละ 15 จะส่งผลให้ลดความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลดลงไปได้ 1,652 เมกะวัตต์ หรือลดภาระในการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้อย่างน้อย 50,000 ล้านบาท
ดังนั้น โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในช่วงปี 2554-2559 ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน โครงการโรงไฟฟ้าในภาคใต้ โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ของเอกชนอีก 2 โครงการ และโครงการโรงไฟฟ้าลิกไนท์ในลาวและพม่า จึงสามารถเลื่อนออกไปได้ถึงปี 2560 หรือยกเลิกโครงการไปเลย เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นภาระส่วนเกินของผู้บริโภคที่เกิดจากค่าไฟฟ้า
ขณะเดียวกัน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการจัดการด้านความต้องการไฟฟ้า ถือเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และมีผลกระทบในด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร หรือสุขภาพ ต่ำกว่าการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงต่างๆ
อย่างไรก็ตาม กฟผ.ต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ 9 โรง โดยเฉลี่ยกำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 700 เมกะวัตต์ แต่การผลิตไฟฟ้าต้องใช้ถ่านหินบิทูมินัส ที่นำเข้าจากอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งมีองค์ประกอบของสารซัลเฟอร์ สารหนู แคดเมียม ปรอท ตะกั่ว โครเมียม ซีรีเนียม โดยจะทำให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ อย่างแน่นนอน ทางกลุ่มเอ็มจีโอ. จึงขอเรียกร้องให้ กฟผ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาเปิดเผยข้อมูลที่รอบด้านให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างโปร่งใสไม่มีหมกเม็ด