xs
xsm
sm
md
lg

หนอนดำมะพร้าวระบาดหนักเสียหายกว่า 2.4 หมื่นไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุราษฏร์ธานี - เกษตรฯสุราษฎร์ธานี เร่งกำจัดหนอนหัวดำแมลงศัตรูมะพร้าว หลังสำรวจพบพื้นที่ 4 อำเภอเสียหายหนักกว่า 1 พันไร่ 2.4 หมื่นต้น โดยเฉพาะเกาะสมุย และเกาะพะงัน นั้น อาจทำให้ภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวเสียหายขึ้นได้

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (30 ม.ค.) นายวงศ์ศิริ พรหมชนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เผยว่า ได้ประชุมส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรึกษาหารือการดำเนินงานกำจัดแมลงศัตรูมะพร้าว โดยเฉพาะหนอนหัวดำ ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่ต้นมะพร้าวรุนแรงกว่าแมลงดำหนาม ซึ่งจากการสำรวจพบการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ อ.เมือง อ.กาญจนดิษฐ์ อ.เกาะสมุย และ อ.เกาะพะงัน รวมพื้นที่ได้รับความเสียหายประมาณกว่า 1,100 ไร่ ต้นมะพร้าวถูกแมลงศัตรูพืชทำลายกว่า 2.4 หมื่นต้น

ด้าน นายสมชาย โพชนุกูล เกษตรและสหกรณ์ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า การแพร่ระบาดของหนอนหัวดำ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูมะพร้าว นับเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไขในพื้นที่ เนื่องจากพฤติกรรมการทำลายจะเกาะอยู่ติดต้นใดต้นหนึ่งจนมะพร้าวตาย ในขณะที่แมลงดำหนามจะย้ายไปกินใบอ่อนของต้นอื่นๆ หากการแพร่ระบาดรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะในแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น เกาะสมุย และเกาะพะงัน นั้น อาจทำให้ภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวเสียหายขึ้นได้

สำหรับแนวทางการป้องกันและกำจัดในปัจจุบันนั้น มีหลายวิธี คือ การตัดทางใบที่พบหนอนมาเผาทำลาย แต่พบว่า การปฏิบัติค่อนข้างยุ่งยาก ส่วนการใช้สารเคมีกำจัด อยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่มีผลทางวิชาการที่แน่นอน และอีกวิธีคือการใช้แตนเบียน หรือหนอนหัวดำจากประเทศอินเดียเข้ามากำจัดทำลาย ซึ่งอยู่ในขั้นตอนระเบียบข้อกฎหมาย

ทั้งนี้ จากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อเสนอและแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ เสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ประกาศเขตภัยพิบัติเฉพาะพื้นที่ เพื่อใช้งบประมาณเร่งด่วนได้ทันที พร้อมแจ้งไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อขอสนับสนุนและเร่งรัดหาวิธีการป้องกันกำจัดที่ปฏิบัติง่ายและมีประสิทธิภาพ เช่น การนำเข้าแตนเบียนจากอินเดีย พร้อมทั้งขอความร่วมมือดำเนินการหลายๆ วิธีจากชุมชน หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าว

นอกจากนี้ วิธีการเจาะลำต้นฉีดสารเคมีเป็นวิธีที่ปฏิบัติได้ง่าย และคาดว่า จะได้ผลเร็ว ซึ่งนักวิชาการด้านการเกษตรของจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีศักยภาพที่จะศึกษาวิจัยได้ แต่ต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้าง ซึ่งต้องนำตัวอย่างไปวิเคราะห์ทันทีในห้องปฏิบัติการที่ กทม.หากล่าช้าสารพิษตกค้างจะสลายตัว
กำลังโหลดความคิดเห็น