xs
xsm
sm
md
lg

ความเชื่อเรื่อง “ทวดตุมปัง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สายฝน จิตนุพงศ์
เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป
โครงการอาศรมวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มนุษย์ทุกสังคมส่วนใหญ่จะมีความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจลึกลับเหนือธรรมชาติหรือภูตผีวิญญาณที่สามารถให้คุณหรือให้โทษแก่มนุษย์ได้ แม้ในปัจจุบันสังคมมนุษย์เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย วิทยาการสมัยใหม่ด้านต่างๆ ได้ถูกคิดค้นและพัฒนาจนทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจและอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติได้แล้วก็ตาม แต่มนุษย์ก็ยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ ภาคใต้ของไทยก็มีการนับถือสิ่งที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติเช่นเดียวกัน โดยจะพบในตำนานและความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับผีบรรพบุรุษ หรือวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่เรียกว่า “ทวด”

ทวดในวัฒนธรรมทางความเชื่อของชาวไทยถิ่นใต้มีปรากฏให้ได้พบเห็นอยู่อย่างมากมาย อาทิ ทวดในรูปคน ทวดในรูปต้นไม้ ทวดไร้รูป นอกจากนี้ ยังปรากฏทวดในรูปสัตว์ อันเป็นทวดที่เชื่อกันว่า ดำรงตนอยู่ในรูปแบบ “กึ่งเทวดากึ่งสัตว์” เป็นพญาสัตว์มีความสามารถ และเดชานุภาพให้คุณและให้โทษได้ เช่น ทวดงู ทวดจระเข้ ทวดช้าง และ ทวดเสือ เป็นต้น กล่าวกันว่า “ทวด” เปรียบได้ดั่งเทวดาอารักษ์ประจำถิ่น ซึ่งมีฤทธิ์ อำนาจ สามารถให้คุณให้โทษแก่ผู้ใดก็ได้

ซึ่งในเรื่องนี้ เอมอร บุญช่วย (2544) ได้ศึกษาไว้พอที่จะสรุปได้ว่า “ทวด” (tuad) หมายถึง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อของชาวไทยถิ่นใต้และคนในรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ในหมู่ของชาวมาเลเซียเชื้อสายไทยอันเรียกตนเองว่า “ไทยสยาม” ดังมีความเชื่อร่วมกันว่า “ทวด” เป็นดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ พ่อ แม่ ของปู่ย่าตายาย บรรพชน หรือผู้มีบุญวาสนาที่ล่วงลับดับสูญไปแล้ว และรวมถึงเทวดากึ่งสัตว์ ประเภทพญาสัตว์ อันมีลักษณะพิเศษที่สง่าและน่ายำเกรงกว่าบรรดาสัตว์สามัญปกติโดยทั่วไป มีความเชื่อร่วมกันว่าหากเซ่นสรวงบูชาแก่ทวดแล้วจะก่อให้เกิดความรุ่งเรืองและได้รับความคุ้มครองตามมา แต่หากมีการลบหลู่ดูหมิ่นก็จะได้รับโทษ ผลเสีย รวมถึงความวิบัติตามมาในไม่ช้า ทวดจึงเป็นดวงวิญญาณอันมีเดชานุภาพสูง ต้องมีการปฏิบัติบูชาเอาใจจึงจะให้คุณ และให้โทษหากมีการล่วงละเมิด

ทวด แบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ ทวดที่เชื่อว่าอยู่ในรูปคน ทวดที่เชื่อว่าอยู่ในรูปสัตว์ และทวดที่เชื่อว่าไม่มีรูป

ทวดที่เชื่อว่าอยู่ในรูปคน หมายถึง วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตย์อยู่สถานที่ใดสถานที่หนึ่งและวิญญาณดังกล่าวสามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้ เช่น ทวดกลาย อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ทวดคำแก้ว และขุนโหร ต.สทิงหม้อ จ.สงขลา เป็นต้น

ภาพทวดกลาย
ที่มา : http://www.srakaew.go.th

ทวดที่เชื่อว่า เป็นรูปสัตว์ หมายถึง วิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตย์อยู่สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง สามารถให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้ และปรากฏรูปตามความเชื่อของชาวบ้านว่าอยู่ในรูปสัตว์ เช่น จระเข้ เสือ ช้าง และ งู เป็นต้น

ภาพทวดบองหลา (ทวดงู)
ที่มา : http//: image.ohozaa.com

ทวดที่เชื่อว่าไม่ปรากฏรูป คือ ความเชื่อในวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่มนุษย์เชื่อว่าสามารถให้คุณให้โทษได้ แต่ไม่ปรากฏรูป ได้แก่ ทวดสระโพธิ์ ทวดวัดเอก ทวดวัดเชิงแสใต้ ต.เชิงแส อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา และทวดเลียบ (ต้นเลียบขนาดใหญ่) ผู้คอยปกปักษ์รักษาและคุ้มครองตามความเชื่อของชาวมหาวิทยาลัยทักษิณ

ภาพทวดเลียบ
ที่มา : http://www.siamsouth.com

จากการที่ชาวบ้านยอมรับนับถือในอำนาจของทวดดังกล่าวว่าสามารถที่จะดลบันดาลให้เกิดผลดีและผลร้ายแก่ผู้เคารพนับถือ ไม่ว่าจะเป็นด้านโชคลาภ ด้านโรคภัยไข้เจ็บ ด้านคุ้มครองความปลอดภัย ด้านแคล้วคลาด และด้านคงกระพันมหาอุด ซึ่งความเชื่อที่เกี่ยวกับทวดดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งในด้านสังคมที่ก่อให้เกิดประเพณี และความเชื่อร่วมกันของคนในสังคม ก่อให้เกิดความรักสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ด้านเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดอาชีพอันเนื่องมาจากความเชื่อเรื่องทวด เช่น การรำโนรา และคนทรงซึ่งเป็นอาชีพรับทำพิธีบวงสรวงวิญญาณทวด และด้านสิ่งแวดล้อมที่ความเชื่อเรื่องทวดได้ก่อให้เกิดการอนุรักษ์ป่าไม้ และแม่น้ำลำธาร ตลอดจนแหล่งโบราณสถานและสถานที่สำคัญต่างๆ อีกด้วย

ตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับทวดที่คนในภาคใต้ได้ยึดถือสืบทอดต่อๆ กันมา มีเป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ในหลายจังหวัด ซึ่งในอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่มีตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับทวดอย่างแพร่หลาย เช่น ทวดกลาย ทวดเกียบ ทวดทอง และอีกหนึ่งในความเชื่อเรื่องทวดเหล่านั้นมี “ทวดตุมปัง” ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักษ์รักษาโบราณสถานตุมปังมาจนถึงปัจจุบันรวมอยู่ด้วย

ทวดตุมปัง เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในแถบอำเภอท่าศาลาเชื่อว่าเป็นงูบองหลา หรืองูจงอางเผือก (สีขาว) ที่คอยปกปักรักษาไม่ให้ใครเข้าไปทำลายแหล่งโบราณสถานที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดร้างตุมปัง” ซึ่งชาวบ้านเล่าว่า ผู้ที่เข้าไปขโมยสิ่งของในวัดร้างดังกล่าวไม่สามารถหาทางออกจากป่าได้ เดินหลงอยู่เป็นวัน จนเมื่อนำสิ่งของที่ขโมยกลับไปคืนไว้ที่เดิม และตั้งจิตอธิษฐานขอขมาทวดตุมปัง จึงสามารถหาทางออกจากป่าได้ นอกจากนี้ในช่วงเดือนห้าของทุกปีจะมีการทำพิธี “เชื้อทวดตุมปัง” ซึ่งเป็นพิธีเซ่นสรวงบูชาทวดตุมปัง โดยจะมีชาวบ้านที่ได้รับการคัดเลือกเป็นร่างทรงทำพิธีกรรมและมีการเดินลุยกองไฟ แต่ที่น่าประหลาดใจ คือ ผู้ที่เป็นร่างทรงนั้น ไม่มีบาดแผล หรือได้รับบาดเจ็บจากการทำพิธีกรรมดังกล่าวแต่ประการใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องทวดที่ปรากฏให้เห็นในชุมชนท่าศาลามาตั้งแต่ครั้งอดีตนั่นเอง

นายสุวิทย์ สังคภิรมณ์ (สัมภาษณ์, 17 กุมภาพันธ์ 2553) ได้เล่าว่า เมื่อตอนหนุ่มๆ ได้เข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตพื้นที่โบราณสถานตุมปังกับเพื่อนสองคน ในขณะที่เดินป่าอยู่ได้ยินเสียงสุนัขเห่า พร้อมกับเสียงเหมือนกิ่งไม้หักผสมกับเสียงเหยียบใบไม้แห้งดังอยู่อีกฟากใกล้ๆ ตนจึงตัดสินใจยืนบนตอไม้เพื่อสังเกตว่าต้นเสียงดังกล่าวคืออะไร เมื่อชะเง้อคอดูก็ต้องตกใจ เพราะเห็นงูตัวใหญ่ที่มีลำตัวเท่าต้นหมาก ได้ชูคอจะทำร้ายสุนัขที่ยืนเห่าอยู่ ตนและเพื่อนจึงวิ่งหนีกันสุดชีวิต และก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปล่าสัตว์ในเขตพื้นที่ป่าดังกล่าวอีกเลย เพราะคิดว่างูดังกล่าวเป็นงูทวด เพราะตนเห็นลักษณะที่มุมปากของงูมีสีขาวๆ ดวงตาโตเท่าผลมะเขือ

ตนจึงคิดว่า ทวดได้ออกมาเตือนไม่ให้มาล่าสัตว์ในเขตโบราณสถานตุมปัง และอีกหลายๆ คนที่เข้าไปเพื่อประสงค์ล่าสัตว์ หรือนำพาสิ่งของออกจากวัดร้างตุมปังดังกล่าวมักจะพบเจอกับเหตุการณ์ประหลาด บ้างก็เดินหลงทางหาทางออกไม่เจอ ต้องวางสิ่งของที่หยิบมาไปวางคืนที่เดิม พร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอขมาแก่ทวดตุมปังให้เมตตา จึงสามารถหาทางออกจากป่ากลับบ้านได้

นายอำนวย สังวาลย์ (สัมภาษณ์, 17 กุมภาพันธ์ 2553) เล่าว่า “เมื่อตอนเด็กๆ จำได้ว่า มีการเชิญพ่อหมอมาทำพิธีกรรมขอขุดสมบัติในบริเวณวัดร้างตุมปัง มีการจัดวางเครื่องเซ่นสรวงบูชามากมายหลายอย่าง พอพ่อหมอเริ่มทำพิธีได้มีอาการเหมือนคนผีเข้าตัวสั่น พรางพูดเป็นภาษาแปลกๆ ฟังไม่ออกว่าเป็นภาษาอะไร แต่พอมีคนเอาน้ำมนต์พ่นใส่ก็ได้ยินเสียงพูดว่า “กูไม่ใช่ขี้ชิด แต่กูไม่ให้” หลังจากพูดเสร็จก็อาละวาดทำลายเครื่องเซ่น แล้วได้วิ่งหายไปในป่า ผู้คนช่วยกันตามหาก็หาไม่พบ จนกระทั่งเวลาผ่านไป 3 วัน ได้ไปเจอร่างทรงคนดังกล่าวปรากฏตัวอยู่ที่บ้านโดนซึ่งเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากบริเวณวัดร้างตุมปังออกไปมาก ถามร่างทรงว่าจำอะไรได้บ้าง คำตอบคือไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น จำอะไรไม่ได้เลย”

นั่นคือ ความศักดิ์สิทธิ์ของทวดตุมปังที่ชาวบ้านได้เล่าขานสืบต่อกันมา ซึ่งปัจจุบันความเชื่อเรื่องทวดตุมปังยังคงมีอยู่ในชุมชนอำเภอท่าศาลา โดยชาวบ้านมักอธิษฐานขอสิ่งที่ตนปรารถนา จากทวดตุมปัง เมื่อสมหวังก็จะมีการนำปลาทู (ปลามีหัวมีหาง) และข้าวสวย หรือข้าวเปียก (ข้าวต้ม) ใส่แสกขนาดเล็ก ไก่ต้ม หัวหมูไปเซ่นไหว้ บ้างก็จุดประทัดเพื่อเป็นการแก้บน บ้างก็แก้บนด้วยการสร้างศาลเจ้าใหม่พร้อมนำไม้เท้ารูปงูมาใส่ไว้ในศาลเพื่อเป็นการบูชาและแก้บนในสิ่งที่ชาวบ้านได้ขอไว้

ดังนั้น รูปแบบความเชื่อในเรื่อง “ทวด” จึงถือได้ว่าเป็นความเชื่ออีกรูปแบบหนึ่งที่ยังคงมีอิทธิพลต่อจิตใจ และการวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านที่เชื่อในเทวดาอารักษ์ประจำถิ่นในรูปของคนและสัตว์ ผู้คอยปกป้องรักษาสถานที่ต่างๆ และเป็นผู้ให้คุณให้โทษแก่มนุษย์ได้ ซึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติและพงศาวดารของมนุษย์ต่างๆ เรามักจะพบความจริงอย่างหนึ่งว่า มนุษย์ในสมัยโบราณนั้นล้วนมีความสัมพันธ์กับธรรมชาติ และสัตว์มาอย่างใกล้ชิดมาก

บางชาตินับถือสัตว์เป็นเทพเจ้า บางชาตินับถือสัตว์เป็นต้นตระกูลของตน ความเชื่ออันนี้ได้สืบต่อกันมาเป็นเวลายาวนานแม้ในเวลานี้ก็ยังมีคนเชื่อถือกันอยู่ ระบบความเชื่อดังกล่าวได้สร้างให้มนุษย์ตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของธรรมชาติ และเป็นกลอุบายที่สร้างให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งในเดียว เกิดพลังศรัทธาและที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ให้ดำรงอยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม และเกิดความรักใคร่ปรองดองสามารถดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันตินั่นเอง

เชิงอรรถ

เอมอร บุญช่วย (2544). ศึกษาตำนานและความเชื่อที่เกี่ยวกับทวดในคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา.(วิทยานิพนธ์, ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ไทยคดีศึกษา), มหาวิทยาลัยทักษิณ)

นายสุวิทย์ สังคภิรมณ์ สัมภาษณ์. เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553. บ้านเลขที่ 121 หมู่ 6 ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

นายอำนวย สังวาล สัมภาษณ์.เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553. บ้านเลขที่ 297/1 หมู่ 8 ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

กำลังโหลดความคิดเห็น