ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - เครือข่ายสุขภาพ ดันสมัชชาสุขภาพ 4 ภาค เสนอใช้เทคโนโลยีสื่อสารประสานเครือข่ายทั่วประเทศ จัดประชุมสมัชชาออนแอร์ผ่านสื่อวิยุ-โทรทัศน์ออนไลน์ ผลักดันนโยบายสาธารณะจากเวทีท้องถิ่นแต่ละภาค
ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์ตรัง เครือข่ายสุขภาพภาคใต้ ได้จัดเวทีเสวนาสมัชชาสุขภาพภาคใต้ขึ้น ภายใต้มุมมองกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมพื้นที่ภาคใต้ โดยจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา
นางรัตนา สมบูรณ์วิทย์ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคกลาง กล่าวว่า คนภาคใต้ต่างกับคนภาคกลาง ตรงที่คนภาคใต้มีข้อมูลมีกำลังคน ต่างจากภาคกลางที่มีข้อมูล แต่มีกำลังคนน้อย การจัดกระบวนของภาคกลางจึงทำได้ช้ากว่าภาคใต้ เมื่อถึงคราวที่ต้องสู้ คนภาคใต้วิญญาณจะปรากฏออกมาทันที ต่างกับภาคกลางที่อยู่กับสังคมอุปถัมภ์ ทำให้มีคนออกมาต่อสู้น้อย
นายสมัย รัตนจันทร์ เครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคเหนือ กล่าวว่า ตนเสนอว่า หลังจากคนภาคใต้กำหนดวาระร่วม หรือ ONE VOICE ได้แล้ว ให้นำไปขับเคลื่อนในพื้นที่เลย ไม่ต้องรอมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เพราะต้องไปยื้อกับ 70 จังหวัด เจอขั้นตอนคณะอนุกรรมการประเด็น และฝ่ายวิชาการ ทำให้ล่าช้า อย่างภาคเหนือเมื่อคุยได้วาระร่วมแล้ว ก็นำไปปฏิบัติการทันที ทำแบบนี้ตรงกับจริตของคนล้านนา
“ผมเสนอให้มีเวทีสมัชชาสุขภาพ 4 ภาค มาพัฒนานโยบายสาธารณะร่วมกัน ในแต่ละปีให้มาเจอกัน เพื่อมองและพัฒนาประเด็นร่วมกัน ต้องเชื่อว่าเราสามารถร่วมกันผลักดันนโยบายสาธารณะได้” นายสมัย กล่าว
นายวีรพล เจริญธรรม เครือข่ายภาคอีสาน กล่าวว่า จากปฏิบัติการเพชรเกษม 41 ถึงไอดิน กลิ่นใต้ ทำให้ตนศรัทธาต่อการทำงานสมัชชาสุขภาพ 14 จังหวัดภาคใต้ ที่ทำงานอย่างเป็นระบบ ในยอมรับในความหลากหลายของพื้นที่ กระบวนการทำงานของที่นี่ มีนักคิดที่ไม่ธรรมดา มีแกนนำที่มีความสามารถ และนักปฏิบัติที่ไม่ธรรมดา มีสื่อที่ผนึกการทำงานกันอย่างเป็นระบบ ในการขับเคลื่อนประเด็น และการทำงานของสมัชชาสุขภาพภาคใต้ มี 3 องค์ประกอบที่สำคัญ หนึ่ง ข้อมูลจากการปฏิบัติ สอง ข้อมูลจากการศึกษาและวิจัย และสาม ข้อมูลระดับสากล ที่นำมาใช้ขับเคลื่อนสมัชชาสุขภาพ
นายวีรพล กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องหนึ่งคือ การเคลื่อนไหวทางสังคม ที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นมาตั้งแต่ระดับพื้นที่ ระดับชุมชน แกนนำในระดับจังหวัดก็กล้าที่ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ บุคคลที่มีความรู้ในสังคม ก็เข้ามาร่วมในกระบวนการเคลื่อนไหว ซึ่งภาคอีสานเป็นเรื่องยากที่ปรากฏการณ์เหล่านี้จะเกิดขึ้น สิ่งที่สำคัญของสมัชชาสุขภาพภาคใต้คือ มีการติดตามสิ่งที่เคยเสนอเอาไว้ สิ่งนี้จะเป็นแสงสว่างแก่คนภาคใต้
นายชัยพร จันทร์หอม เครือข่ายสมัชชาสุขภาพภาคใต้ กล่าวว่า จากยุคแสวงหาทางออกในสมัยปฏิรูประบบสุขภาพ ที่ต่อสู้กันมาจนได้พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติกันมา ซึ่งมีแนวทางชัดเจน การสร้างความฝันที่เป็นความจริง มันเป็นผลิตจากหยาดเหงื่อแรงกายแรงใจของคนทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อคิดถึงเรื่องนี้ก็ต้องคิดถึงกลไกและกระบวนการ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นความสำเร็จ จากระยะที่ 1 สู่ระยะที่ 2 ได้สร้างพลังและสร้างภาคี ไปสู่สุขภาวะ และนำไปสู่สุขภาพแห่งชาติ ความสำเร็จจะเกิดขึ้น ถ้าเป้าหมายไม่เปลี่ยนแปลง นี่เป็นโจทย์และมุมมองของขบวนภาคใต้
“ที่มีการเสนอให้จัดสมัชชาสุขภาพ 4 ภาคนั้น ผมคิดว่าสามารถทำได้เลย ในรูปของการจัดสมัชชาทางอากาศ ผ่านการจัดประชุมออนแอร์ โดยให้แต่ละภาคค้นหาพื้นที่ที่มีวิทยุชุมชน และโทรทัศน์ออนไลน์ เชื่อมเป็นเครือข่ายทางอินเตอร์เน็ต ยกระดับขึ้นมาเป็นกลุ่มเครือข่ายของแต่ละภาค จัดตั้งเป็นกลไกสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ผ่านการประชุมสมัชชาทางอากาศ ชักชวนผู้ฟังเข้าร่วมภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วม” นายชัยพร กล่าว
ด้าน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เครือข่ายสุขภาพต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่หลากหลายโดยเฉพาะคนที่มีความเห็นต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ เพราะหากกลุ่มคนที่หลากหลายได้เข้ามามีส่วนร่วม จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะมีน้ำหนักมากขึ้น
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)