โดย..บรรจง นะแส
วิกฤตของมหาอุทกภัยในประเทศครั้งนี้ จะส่งผลให้เกิดวิกฤตต่างๆ ตามมาอีกหลายประการ หนึ่งในวิกฤตที่จะกระทบกับผู้คนส่วนใหญ่ก็คือ เรื่องอาหาร ที่นาแหล่งผลิตข้าวหลายแสนไร่ สัตว์เลี้ยง พืชสวนผักผลไม้ที่จมอยู่ใต้น้ำล้มตาย กว่าจะฟื้นตัว กว่าผลผลิตจะผลิดอกออกผลให้เป็นอาหารของผู้คนในสังคม จะต้องใช้ระยะเวลาอีกนาน แต่สังคมไทยยังมีความโชคดีที่เรามีแหล่งอาหารโปรตีนตามธรรมชาติอยู่อีกมากโดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลา จากแหล่งน้ำ โดยเฉพาะจากทะเล การเร่งกู้วิกฤตของทะเลไทยจึงเป็นหนึ่งในการกู้วิกฤตแหล่งอาหารที่สำคัญ โดยเฉพาะแหล่งอาหารโปรตีนของสังคมจากทะเล
โปรตีนเป็นสารอาหารที่สำคัญของร่างกาย ปกติร่างกายของคนเรา จะต้องการโปรตีนแตกต่างกันไปแล้วแต่ช่วงวัย เช่น ในวัยเด็กจะต้องการโปรตีนสูง 1.2-1.5 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในผู้ใหญ่ 0.8-1 กรัม/กิโลกรัม/วัน มีการศึกษาจากการเปรียบเทียบเกี่ยวกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจในชาวเอสกิโม เมื่อเปรียบเทียบกับคนทั่วไป พบว่าชาวเอสกิโมมีอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจน้อยกว่าคนทั่วไป เพราะว่าชาวเอสกิโมรับประทานปลามากกว่าคนทั่วๆ ไป จึงทำให้ได้รับสารอาหารจากปลามากกว่า ซึ่งปลามีสารอาหารที่จะมีฤทธิ์ลดกรดของเกล็ดเลือด และลดไตรกลีเซอไรด์ได้ดี ทำให้คนมีความสนใจแหล่งโปรตีนที่ได้จากสัตว์น้ำโดยเฉพาะกุ้ง หอย ปู ปลา ในทะเลมากขึ้น
นักวิชาการได้ศึกษาและให้น้ำหนักแหล่งอาหารโปรตีนที่จำเป็นและสำคัญต่อร่างกายเอาไว้คร่าวๆ ว่า โปรตีนที่ร่างกายของคนเราได้จากไข่ 94 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 100) จากนม/ผลิตภัณฑ์นม 82 คะแนน จากปลา 80 คะแนน เนื้อสัตว์ 68 คะแนน ถั่วเหลือง 61 คะแนนและจากเมล็ดพืชต่างๆ 37-58 คะแนน ซึ่งเมื่อเรามาพิจารณาโปรตีนที่สังคมไทยบริโภคหลักๆ ในปัจจุบันเราจะพบว่ามีปัญหาตามมาจากการผลิตโปรตีน ไม่ว่า เนื้อหมู ที่มีสารเร่งเนื้อแดง ที่เรียกว่า “แรนดอน” ซึ่งพบว่าเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็งในหนูทดลอง เนื้อไก่ มีฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต ยาฆ่าเชื้อ หรือเชื้อโรคไข้หวัดนกที่ระบาดเป็นช่วงๆ เนื้อวัว บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องเชื้อวัวบ้า
“ถั่ว” แม้จะเป็นแหล่งของโปรตีนที่มีคุณภาพในกลุ่มของพืชก็จริง แต่การเพาะปลูกก็มีการปนเปื้อน สารเคมีและยาฆ่าแมลง รวมถึงสารอัลฟาทอกซิน ซึ่งมักจะพบในถั่วลิสง เนื่องจากมีความชื้นสูง สารตัวนี้มักก่อให้เกิดมะเร็งในตับ นมแม้จะเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูงในกลุ่มของโปรตีนจากสัตว์ แต่โปรตีนคุณภาพสูงเหล่านั้น มีปริมาณเพียงแค่ 4% เพราะส่วนใหญ่นมจะมีองค์ประกอบของ “หางนม” ซึ่งมีสารอาหารหลักคือ “ไขมัน” นอกจากนี้นมหรือผลิตภัณฑ์นมยังต้องเสี่ยงกับ ยาและฮอร์โมน ที่ใช้เลี้ยงวัวปนเปื้อนมาอีกด้วย
ปลาจึงเป็นคำตอบสุดท้ายที่ดีที่สุด เพราะปลาแม้จะมีโปรตีน 80 คะแนน ซึ่งต่ำกว่าน้ำนมเพียงเล็กน้อย ถ้าจะว่าไปแล้วเนื้อปลายังเป็นสารอาหารที่มีไขมันต่ำยกเว้นปลาดุก และปลาทุกชนิดที่ทำให้สุกโดยการทอด นอกจากเนื้อปลาจะมีสารอาหารโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางร่างกายแล้ว ในเนื้อปลายังมีสารอาหารชนิดหนึ่งมีชื่อว่า omega - 3 fatty acids ซึ่งมีประโยชน์ในการช่วยป้องกันโรคหัวใจ ปลาจึงเป็นโปรตีนที่จะเป็นทางออกของวิกฤตในเรื่องอาหารที่จะเกิดตามมาหลังมหาอุทกภัยในครั้งนี้อย่างมีนัยที่สำคัญ
ประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่มีความโชคดีในแง่ของการตั้งอยู่ในเขตภูมิประเทศ ที่สองฟากฝั่งอยู่ติดกับทะเลมหาสมุทร คือ ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน มีจังหวัดที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลถึง 22 จังหวัด ประเทศของเรามีพื้นที่ชายฝั่งรวมกันทั้งสองฝั่งกว่า 2,600 กิโลเมตร และที่สำคัญประเทศของเราตั้งอยู่ในเขตศูนย์สูตร ทำให้ท้องทะเลไทยเต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มีพันธุ์สัตว์น้ำหลากหลายชนิดและสามารถเจริญเติบโตในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่เราขาดการบริหารจัดการทะเลที่ผิดพลาด และเปิดโอกาสสร้างเงื่อนไขให้มีการทำลายแหล่งอาหารโปรตีนของสังคมลงอย่างรวดเร็ว
วันนี้เราปล่อยให้ทะเลไทยอยู่ในขั้นวิกฤต มีสภาพที่เสื่อมโทรมลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับในอดีต จนอาจกล่าวได้ว่าวิกฤตที่จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อกู้วิกฤตของทะเลที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญแก่สังคมเราในอนาคต ดังจะเห็นได้จากอัตราการจับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมืออวนลากของเรือสำรวจกรมประมงในอ่าวไทย ที่พบว่าในปี 2504 มีค่าเท่ากับ 297.8 กิโลกรัม/ชั่วโมง ลดลงเหลือ 62.11 กิโลกรัม/ชั่วโมง ในปี 2520 และลดลงเหลือ 40.59 และ 17.8 กิโลกรัม/ชั่วโมง ในปี 2530 และ 2552 ตามลำดับ
เรืออวนลาก เรืออวนรุน เรือปั่นไฟ เป็นเครื่องมือทำการประมงแบบทำลายล้าง ที่อารยประเทศทั่วโลกเขายกเลิกกันเกือบหมดแล้ว เพราะเป็นเครื่องมือที่ทำลายพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นตัวทำลายสัตว์น้ำให้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ร้อยละ 60 ของปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ทั้งหมดจากเรืออวนลาก เรืออวนรุน และเรือปั่นไฟ ประกอบด้วยลูกปลาทางเศรษฐกิจ เช่น ลูกปลาหลังเขียว ลูกปูม้า ลูกปลาจวด ร้อยละ 65-70 ของปริมาณปลาเป็ดที่จับได้ ในปีหนึ่งๆ สัตว์น้ำที่จับได้จากอวนรุนทุกขนาดมีประมาณ 26,289 ตัน ประกอบด้วยกุ้งใหญ่ ร้อยละ 15-16 ปูม้าร้อยละ 8-9 ปลาร้อยละ 7 ปลาหมึกร้อยละ 4-5 นอกนั้นเป็นสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ
ซึ่งพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจดังกล่าวควรจะได้เติบโตมาเป็นอาหารให้กับผู้คน แต่ต้องถูกจับขึ้นมาในเวลาไม่อันควร สาเหตุหนึ่งที่สำคัญก็เพราะว่าการกวาดจับพันธุ์สัตว์น้ำวัยอ่อนด้วยเครื่องมือทำลายล้างอย่างอวนลาก อวนรุน เรือปั่นไฟ ที่ไม่สามารถขจัดออกไปได้จากท้องทะเลไทยก็เพราะว่าไปตอบสนองบริษัทผลิตอาหารสัตว์หรือนายทุนนักธุรกิจที่ส่งออกปลาป่นที่มักมีอำนาจเหนือข้าราชการหรือนักการเมืองในบ้านเรามาทุกยุคทุกสมัย เราจะพบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาป่นไทยมีอัตราสูงขึ้น โดยในปี 2551 ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกปลาป่น 2.4 หมื่นตัน ปี 2552 เพิ่มขึ้นเป็น 2.6 หมื่นตัน และเฉพาะช่วงครึ่งแรกปี 2553 สามารถส่งออกสูงขึ้นถึง 8 หมื่นตัน นี่คือสาเหตุหนึ่งที่สำคัญของวิกฤตสัตว์น้ำในทะเลของเรา
วิกฤตทะเลไทยที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ เราสามารถที่จะกู้มันกลับขึ้นมาได้ หากเราต่างตระหนักว่า ทะเลคือแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของสังคม เป็นแหล่งประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องที่เป็นชาวประมง และอาชีพต่อเนื่องจากอาชีพประมงอีกมากมาย มีผู้คนที่ได้รับผลประโยชน์ทั้งโดยตรงและอ้อมจำนวนมาก ที่สำคัญทะเลเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมไทย ไม่ควรปล่อยปละละเลยให้ผู้คนที่มีฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ต้องรับประทานแต่โปรตีนจากไก่เนื้อ วัวเนื้อ ปลานิลเลี้ยงกลายพันธุ์ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ควบคุมเบ็ดเสร็จ ทั้งพันธุ์ อาหารและยารักษาโรค จนทำให้เราลืมแหล่งอาหารโปรตีนธรรมชาติที่สังคมไทยเรามีอย่างเหลือเฟือ