xs
xsm
sm
md
lg

เสียงจาก ADB ‘IMT–GT คือหัวหอก ASEAN’

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอีริค ซิดจ์วิค (Eric Sidgwick) นักเศรษฐศาสตร์หลัก (ความร่วมมือระหว่างภูมิภาค) แผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB
มูฮำหมัด ดือราแม
รวยริน เพ็ชรสลับแก้ว
โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSJ)

โครงการความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) กำลังจะค่อยๆ พลิกโฉมหน้าภูมิภาค โดยมี ‘ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย’ หรือ ADB เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนพื้นที่อนุภูมิภาคแห่งนี้ให้กลายเป็นหัวหอกของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (ASEAN Economic Community)

ตลอด 3 วัน ของการประชุมโครงการความร่วมมือสามเหลี่ยมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย หรือ IMT-GT (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle) ครั้งล่าสุด ระหว่างวันที่ 5-7 ธันวาคม 2554 ที่โรงแรมเจดับเบิ้ลยู แมริออท เมืองเมดาน จังหวัดสุมาตราเหนือ ประเทศอินโดนีเซีย

อันประกอบด้วย การประชุมสภาธุรกิจ IMT-GT ครั้งที่ 31 การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GT ครั้งที่ 18 และการประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี IMT-GT ครั้งที่ 8 มีนายอีริค ซิดจ์วิค (Eric Sidgwick) นักเศรษฐศาสตร์หลัก (ความร่วมมือระหว่างภูมิภาค) แผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB ร่วมนำเสนอโครงการที่ทั้ง 3 ประเทศ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า จำนวน 25 โครงการ จาก 33 โครงการ มูลค่ากว่า 713 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา

นั่นหมายความว่า IMT-GT จะกลายเป็นภูมิภาคนำร่องของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) หรือ AEC

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ต่อไปนี้คือคำตอบจากนายอีริค ซิดจ์วิค

ADB เข้ามามีบทบาทใน IMT-GT ด้วยการทำ IMT-GT Roadmap 2007-2011 มีหลายโครงการที่ถูกกำหนดให้เป็นโครงการจำเป็นเร่งด่วน (PRIORITY CONNECTIVITY PROJECTS: PCPs) แต่หลายโครงการก็ยังไม่เป็นจริง ADB จะทำอย่างไรต่อไป

แนวทางการดำเนินงานของ ADB คือ ช่วยทำโรดแมป IMT-GT โรดแมปดังกล่าวไม่ได้เป็นของ ADB แต่เป็นแนวทางการดำเนินงานของ IMT-GT สำหรับรัฐบาลแต่ละประเทศใน IMT-GT ได้ดำเนินการตามแนวทางและยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง

ผมคิดว่า ในพิมพ์เขียวการดำเนินงาน หรือ IB 2012-2016 (Implementation Blueprint 2012-2016) เน้นไปที่การปฏิบัติการ มีทั้งแนวทางการดำเนินงาน มีโครงการ มีกิจกรรม แต่รัฐบาลเห็นข้อผิดพลาดในระดับจังหวัด จึงยังไม่นำโครงการในระดับจังหวัดเข้ามา บางโครงการใน IB 2012-2016 ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล บางโครงการได้รับเงินสนับสนุนจากภาคเอกชน และบางโครงการได้รับเงินสนับสนุนจาก ADB บางส่วน

ADB ได้ช่วยคัดสรรโครงการและกิจกรรมที่จะถูกรวมไว้ใน IB 2012-2016 เมื่อทุกอย่างเข้าที่ และรัฐบาลอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย ตกลงใจร่วมกัน บางโครงการมีการจัดงบประมาณสนับสนุนไปแล้ว โครงการดังกล่าวจะถูกนำเข้าไปอยู่ในแผนดำเนินงานต่อเนื่อง 2 ปี หรือ RP 2012-2013 (Rolling Pipeline 2012-2013) ของ IB 2012-2016 จึงชัดเจนว่า โครงการดังกล่าว จะได้รับการดำเนินงานในปี ค.ศ. 2012 หรือ ค.ศ. 2013

จุดประสงค์ที่กำหนดเช่นนี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่าโครงการต่างๆ ที่เข้าไปอยู่ใน RP 2012-2013 มีความเป็นไปได้สูงว่า จะได้รับการดำเนินงานแน่ๆ ไม่ใช่เป็นเพียงความคิด และไม่ใช่แค่รายการความปรารถนา แต่เป็นสิ่งที่ได้รับการคัดสรรแล้ว มีการให้ทุนสนับสนุน และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ สิ่งที่ทุกฝ่ายไม่ต้องการคือ โครงการที่อยู่ใน IB แล้ว ไม่ได้ถูกดำเนินงานจริง

ผมคิดว่าทั้ง 3 ประเทศโดยการช่วยเหลือจาก ADB กำลังพยายามทำให้แน่ใจว่า โครงการและกิจกรรมที่ถูกเลือกขึ้นมา จะเกิดขึ้นได้จริงในอีก 3 ปีหรือ 2 ปีหลังจากนี้ เมื่อเราทบทวน RP ทุกปี เราก็จะเพิ่มโครงการใหม่ๆ เข้ามาในอีก 2 ปีถัดไป และเราจะได้ประเมินโครงการที่ทำสำเร็จไปแล้ว

คำถาม มีอยู่ว่า ADB กำลังทำอะไรเพื่อช่วย IMT-GT คำตอบคือ ADB กำลังช่วยทำให้แน่ใจว่า โครงการที่ทั้ง 3 ประเทศสมาชิกต้องการได้รับการเตรียมการจริง และมาถึงขั้นตอนที่จะได้รับการสนับสนุนเงินงบประมาณ และเพื่อให้แน่ใจว่า โครงการจะดำเนินการสำเร็จได้จริง

ดังนั้น เรากำลังช่วยพวกเขา เราไม่ได้เป็นฝ่ายจัดการ แต่ขึ้นอยู่กับประเทศดังกล่าว ขึ้นอยู่กับกระทรวงที่รับงานไป ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลัง ขึ้นอยู่กับกระทรวงเพื่อการวางแผน หรือขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เรากำลังช่วยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น

อะไรคือเกณฑ์คัดสรรโครงการเข้าสู่ IB

มี 2 ประเด็น ประเด็นที่หนึ่ง IB เป็นพิมพ์เขียวสำหรับการดำเนินงาน เริ่มปี ค.ศ.2012 ถึง ค.ศ.2016 ระยะเวลา 5 ปี ถ้าโครงการสัมพันธ์กับการพัฒนาชาติของแต่ละประเทศ หรือพูดอีกนัยหนึ่ง ถูกให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ หมายถึงมีการคำนวณค่าใช้จ่ายและเป็นโครงการที่ทำได้จริง ใครที่มีศักยภาพก็สนับสนุนงบประมาณได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ภาคเอกชน องค์กรเพื่อการพัฒนา รวมถึง ADB หรือหน่วยงานอื่นๆ

รวมทั้งต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ IMT-GT สอดคล้องการพัฒนาตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจและพื้นที่ต่อเนื่อง หรือ IMT-GT Connectivity Corridors (มี 5 เส้นทาง) และกรอบความร่วมมือรายสาขา 6 สาขาของ IMT-GT โครงการนั้นจึงจะเข้ามาอยู่ IB ได้

ถ้าโครงการใดต้องการเข้ามาอยู่ใน RP 2012-2013 โครงการเหล่านั้นต้องเข้าข่าย 3 หลักเกณฑ์ หลักเกณฑ์แรก มีความมั่นคงด้านเงินทุนสนับสนุน โดยรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หรือคณะรัฐมนตรีแจ้งว่ามีงบประมาณสำหรับโครงการนั้นแล้ว ถ้าเป็นโครงการร่วมระหว่างรัฐกับเอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) ADB หรือภาคเอกชนก็สามารถให้งบประมาณสนับสนุนโครงการนั้นได้ ถ้าโครงการไหนที่ ADB ต้องการสนับสนุน เราจะขออนุมัติต่อที่ประชุมคณะกรรมการใหญ่ของ ADB

หลักเกณฑ์ต่อไป คือ การปฏิบัติการ มีการกำหนดกรอบเวลาดำเนินงาน เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จ ดังนั้น คุณควรเตรียมโครงการอย่างดี มีหลายอย่างที่คุณจำเป็นต้องทำเมื่อดำเนินโครงการ เช่น ถ้าต้องอพยพเคลื่อนย้ายผู้คนออกไปจากพื้นที่โครงการ คุณต้องทำแผนการเคลื่อนย้าย หรือโครงการเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม คุณก็ต้องทำตามเกณฑ์กฎหมายสิ่งแวดล้อม หรือถ้าเป็นโครงการทางเทคนิค คุณก็ต้องผ่านเกณฑ์ทางเทคนิค หรือเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น คุณจำเป็นต้องมีรายละเอียดแผนปฏิบัติงาน เพื่อให้โครงการได้รับการอนุมัติ จากนั้นคุณเริ่มดำเนินงานได้ทันที โดยไม่ต้องรอ

เกณฑ์สุดท้ายคือ กรอบผลลัพธ์ เป็นกลุ่มตัวชี้วัดที่ช่วยให้ตัดสินได้ว่า โครงการประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่คุณต้องการหรือไม่ คุณจำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ 3 ข้อคือ การสนับสนุนเงินทุน แผนปฏิบัติงาน และกรอบผลลัพธ์ ถ้าโครงการและกิจกรรมมีพร้อมทั้ง 3 เกณฑ์ โครงการนั้นก็เข้าข่ายที่จะได้รับคัดเลือกเข้าสู่ RP

ทางภาคใต้ของไทยกับตอนเหนือของมาเลเซีย มีกรอบความร่วมมือ JDS (คณะกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซีย Thai-Malaysia Committee on Joint Development Strategies for Border Area: JDS) อยู่แล้ว แต่ IMT-GT เป็นภาพที่ใหญ่กว่า เพราะรวมเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียด้วย

ดังนั้น โครงการต่างๆ ของไทย ต้องให้ประโยชน์ทั้งต่อไทยและประเทศอื่นด้วย ต้องเป็นโครงการระดับภูมิภาคย่อย ไม่ใช่เป็นแค่ของไทย หรือมาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย แต่เป็นโครงการที่ให้ประโยชน์มากกว่าหนึ่งประเทศ นั่นคือความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง JDS กับ IMT -GT

ทำไมยังต้องมี IMT-GT ในเมื่อขณะนี้มีกรอบใหญ่คือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อยู่แล้ว

นั่นเป็นคำถามสำหรับรัฐบาล ไม่ใช่ ADB ทั้ง 3 ประเทศตัดสินใจให้มีการรวมกลุ่มระดับภูมิภาคย่อย เพราะพวกเขาเห็นประโยชน์สำหรับทั้ง 3 ประเทศ และเห็นประโยชน์ที่มีต่อภูมิภาค กิจกรรมบางอย่างที่ดำเนินไปในภูมิภาคย่อย ได้ช่วยสร้างอาเซียน (ประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ ASEAN) ในชุมชนของพวกเขาเช่นกัน คุณต้องถามรัฐบาลถึงลำดับความสัมพันธ์ระหว่าง AEC หรือ IMT-GT เพราะพวกเขาเป็นผู้ตัดสินใจ ส่วน ADB ไม่มีความคิดเห็นเรื่องนี้

เรากำลังพยายามที่จะให้อาเซียนต่อเชื่อมกันผ่านแผนแห่งชาติที่เรามีในระดับภูมิภาคย่อย และผ่านแผนระดับภูมิภาคย่อย ที่ต่อเชื่อมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจ

ยกตัวอย่าง โครงการมะละกา-เปกันบารู เป็นโครงการต่อเชื่อมระหว่างรัฐมะละกาของมาเลเซียกับจังหวัดเรียวของอินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับความสำคัญลำดับต้นๆ ที่สนับสนุนโดย ADB ภายในปี 2015

ผมไม่รู้ว่ามอเตอร์เวย์ (ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง) สายหาดใหญ่-สะเดา (หนึ่งในโครงการที่อยู่ใน RP 2012-2013) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทางหลวงอาเซียนหรือไม่ แต่ทางหลวงอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของ AEC แน่นอน

ดังนั้น IMT-GT เป็นทั้งตัวช่วยเสริมสร้างภูมิภาคย่อย และเสริมสร้างอาเซียนไปด้วย ถึงแม้จะไม่ทุกโครงการ IMT-GT จึงเป็นเหมือนโครงการนำร่องของ AEC เพราะสิ่งที่ดำเนินการในระดับภูมิภาคย่อย อาจจะเป็นการดำเนินการสนับสนุนความร่วมมือในระดับภูมิภาคด้วยเช่นกัน

สำหรับประเทศต่างๆ ที่กำลังตัดสินใจโครงการเร่งด่วนต่างๆ เราก็เข้าไปช่วยเหลือ เราช่วยตั้งแต่ในระดับประเทศ ในระดับภูมิภาคย่อย และระดับอาเซียน

ใน IB 2012-2016 โครงการไหนที่คิดว่าเป็นดาวเด่น

ADB ไม่ได้คัดสรรโครงการเอง แต่ประเทศต่างๆ เป็นผู้คัดสรรโครงการที่พวกเขาต้องการ ประเทศเหล่านั้นไม่ต้องขออนุญาต ADB ในการดำเนินโครงการต่างๆ แต่สามารถขอคำแนะนำจาก ADB ได้

คำแนะนำของเราคือ ถ้าโครงการที่เราทั้งหมดเห็นพ้องต้องกันในระดับภูมิภาคย่อยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ มันก็มีเหตุผลที่จะให้เกิดโครงการนั้นขึ้นมา แต่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับ ADB ว่าจะให้เกิดหรือไม่ให้เกิด นั่นไม่ใช่งานของเรา

โครงการไหนที่คิดว่าดี มันก็ขึ้นอยู่กับโครงการนั้น คุณอาจจะมีโครงการที่เล็กมาก รับเงินสนับสนุนจากเอกชน แต่มันก็ช่วยให้เกิดการต่อเชื่อมกันระหว่างหนึ่งประเทศหรือมากกว่าก็ได้ เช่น โครงการเพื่อการท่องเที่ยว เป็นต้น

ขณะเดียวกัน คุณสามารถทำโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ได้ เช่น โครงการเชื่อมต่อพลังงานระหว่างมะละกา-เปกันบารู หรือโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา ซึ่งเป็นโครงการใหญ่ให้ประโยชน์ทั้งคนไทยและคนมาเลเซียได้

หลักการสำคัญของเราคือ ช่วยลดความยากจนในเอเชีย ลดความไม่เท่าเทียมกันด้านรายได้ ลดช่องว่างระหว่างผู้มีรายได้น้อยกับผู้มีรายได้มาก เราประสงค์ช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อย โดยทำให้ช่องว่างของการพัฒนาแคบลง ทั้งการปรับปรุงรายได้ สุขภาพ การศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดี โดยเฉพาะคนยากจน

ดังนั้น เพื่อช่วยเหลือพวกเขา เราจึงสนับสนุนโครงการที่มีเป้าหมายดังกล่าว แต่จะทำให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ขึ้นอยู่กับโครงการเหล่านั้นที่ต้องเตรียมการอย่างดี เพื่อให้แน่ใจว่าจะเกิดขึ้นจริง

ถ้าพัฒนาถนนสายใหญ่จากจุด A ในมาเลเซีย ไปยังจุด B ในไทย ทำแล้วไม่มีใครใช้ถนนสายนั้น มันก็ไม่ส่งผลใดๆ กับผู้คนสองฝั่งถนน แต่ถ้าสร้างถนนสายเล็กๆ แต่มีการจราจรมาก สองข้างทางเต็มไปด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจ มีการสร้างธุรกิจมากขึ้น ธนาคารเปิดให้บริการ คนได้รับการจ้างงานมากขึ้น การพัฒนาเอกชนขยายวงกว้างมากขึ้น โครงการเล็กๆ ก็ทำให้ได้รับผลตอบแทนที่ใหญ่ๆ ขึ้นมาได้

ดังนั้น ขนาดของโครงการไม่ใช่สาระสำคัญ แต่อยู่ที่ผลได้จากโครงการที่มีต่อผู้คนมากมาย โดยที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มคนที่จนที่สุด หรือคนที่มีโอกาส หรือความสามารถเข้าถึงทรัพยากรได้น้อยที่สุด

หากโครงการทั้งหมดได้รับการดำเนินการ คาดหวังว่าภาพที่เกิดขึ้นในภูมิภาคย่อยแห่งนี้จะเป็นอย่างไร

เป็นคำถามที่ดี ผมคิดว่าคุณต้องวางบริบทภูมิภาคย่อยก่อน สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นใน IMT-GT ขึ้นอยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอาเซียน และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในอาเซียน ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในโลก

เรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ เรากำลังมีปัญหาสำคัญมากมาย ในยุโรปและสหรัฐ กำลังอยู่ในภาวะถดถอย แต่เอเชียเองก็พึ่งพาการส่งออกไปยังยุโรปและสหรัฐเป็นอย่างมาก ถ้าตลาดในสหรัฐฯ และยุโรปมีปัญหา พวกเขาก็จะซื้อสินค้าจากอาเซียนน้อยลง ถ้าพวกเขาซื้อจากอาเซียนน้อยลง พวกเขาก็จะซื้อสินค้าจาก IMT-GT น้อยลงด้วย

ตอนนี้ เรายังจำเป็นต้องส่งออกอยู่ แต่เราก็จำเป็นต้องพัฒนาตลาดภายในให้มากขึ้นด้วย เพื่อจะมีโอกาสมากขึ้น ไม่หวังพึ่งการส่งออกอย่างเดียว ต้องมีการบริโภคและการลงทุนในอาเซียนและใน IMT-GT

ถ้าคุณเพิ่มการบริโภค เพิ่มการลงทุน เพิ่มการส่งออก คุณก็ได้มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้น ได้อัตราการเจริญเติบโตเพิ่มขึ้น ได้ความเจริญเติบโตของประเทศมากขึ้น แม้การส่งออกยังไม่กระเตื้องขึ้นในตอนนี้ แต่มันก็ยังคงมีความสำคัญ และยังจะมีความสำคัญต่อไป ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร การบริโภคและการลงทุนภายในก็จำเป็นต้องเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภค

ภูมิภาคอาเซียนและพื้นที่ส่วนนี้ของโลก มีการเก็บออมเงินกันมาก มีการลงทุนที่ไม่สูงมากในทุกๆ ที่ ดังนั้นจำเป็นต้องนำเงินออมมาลงทุนด้านการผลิต การลงทุนจะก่อให้เกิดการเติบโต การเติบโตจะทำให้มีการสร้างงาน ดังนั้น คุณต้องสร้างสมดุลระหว่างการออมกับการลงทุน

ถ้าโครงการจำนวนมากใน IB ได้ดำเนินการ มันจะช่วยการต่อเชื่อมทั้งทางกายภาพ เช่น การสร้างถนน การต่อเชื่อมทางอากาศ การต่อเชื่อมของผู้คนและบริการต่างๆ เคลื่อนไปรอบๆ พื้นที่ IMT-GT อย่างอิสระมากขึ้น และสามารถขยายความเติบโตให้มากขึ้น เพราะเงินลงทุนและแรงงานจะเคลื่อนย้ายเข้าไปยังพื้นที่ที่ต้องการได้อย่างง่ายดายที่สุด นั่นจะเปิดโอกาสให้มีการเติบโตในพื้นที่ IMT-GT มากขึ้น

IMT-GT ไม่ใช่เพียงแค่การรวมกลุ่มดำเนินโครงการ แต่สิ่งที่รัฐบาลต่างๆ ทำอยู่ เป็นสาระสำคัญ เช่นเดียวกับสิ่งที่อาเซียนกำลังทำอยู่ ก็เป็นสาระสำคัญ

IMT-GT เป็นโอกาสสำหรับทั้ง 3 ประเทศที่จะพัฒนาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศด้วยกัน เพื่อสร้างโอกาสต่างๆ ในการเจริญเติบโตและการพัฒนาของภาคเอกชนให้มากขึ้น และให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น เมื่อมีการจ้างงานมากขึ้น คนระดับล่างก็มีรายได้สูงขึ้น

ล้อมกรอบ

ทำความรู้จัก IMT-GT

สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) เกิดขึ้นเมื่อปี 2536 หลังจากที่ผู้นำทั้ง 3 ประเทศเห็นชอบให้มีความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาเขตเศรษฐกิจ 3 ประเทศ ปัจจุบันพื้นที่ IMT-GT ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 3 ประเทศ ดังนี้

อินโดนีเซีย มี 10 จังหวัด ได้แก่ อาเจะห์ (เขตปกครองตนเอง) บังกา-เบลิตุง เบงกูลู จัมบี ลัมปุง สุมาตราเหนือ เรียว เรียวไอส์แลนด์ สุมาตราใต้ สุมาตราตะวันตก

มาเลเซีย มี 8 รัฐ ได้แก่ รัฐเคดาห์ กลันตัน มะละกา เนกรีเซมบิลัน ปีนัง เประ ปะลิส และสลังงอร์

ไทย มี 14 จังหวัด คือ สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง ภูเก็ต พังงา และกระบี่

วัตถุประสงค์

เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ ให้มีการใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเน้นความร่วมมือทางด้านการผลิต การส่งเสริมการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในพื้นที่ IMT-GT

ยุทธศาสตร์

ทั้งสามฝ่าย ได้เชิญธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB จัดทำ IMT-GT Roadmap ระยะ 5 ปี (2550-2554) ประกอบด้วยยุทธศาสตร์หลักๆ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

1.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการค้าและการลงทุนทั้งภายในและระหว่างพื้นที่ IMT-GT และระหว่างพื้นที่ IMT-GT กับภายนอก มีแผนงานที่จะต้องปฏิบัติการ ดังนี้
1) การอำนวยความสะดวกการค้าข้ามแดนและการลงทุน
2) การส่งเสริมด้านการค้าและการลงทุน
3) การรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ
2.ยุทธศาสตร์ส่งเสริมภาคเกษตร อุตสาหกรรมการเกษตรและการท่องเที่ยว มีแผนงานที่จะต้องปฏิบัติการ ดังนี้
1) การการเกษตร(รวมทั้งประมง ปศุสัตว์ ป่าไม้) และอุตสาหกรรมการเกษตร
2) การท่องเที่ยว

3.ยุทธศาสตร์เสริมสร้างความเชื่อมโยงทางด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อบูรณาการด้านพื้นที่ IMT-GT เข้าด้วยกัน มีแผนงานที่จะต้องปฏิบัติการ ดังนี้
1) การเชื่อมโยงด้านการขนส่ง (ถนน ทางรถไฟ การขนส่งทางทะเล ท่าอากาศยาน)
2) การสื่อสารโทรคมนาคม
3) พลังงาน

4.ยุทธศาสตร์ให้ความสำคัญต่อประเด็นความร่วมมือที่เชื่อมโยงในความร่วมมือทุกด้าน ได้แก่ ด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทักษะและความเชี่ยวชาญ ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายแรงงาน ส่งเสริมด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ IMT-GT มีแผนงานที่จะต้องปฏิบัติการ ดังนี้
1) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการเคลื่อนย้ายแรงงาน
2) การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

5.ยุทธศาสตร์เสริมสร้างการจัดการด้านสถาบันและกลไกความร่วมมือในพื้นที่ IMT-GT รวมทั้งความร่วมมือภาครัฐ/ภาคเอกชน การมีส่วนร่วมของภาคีการพัฒนาในระดับท้องถิ่น ตลอดจนการนำความสนับสนุนจากพันธมิตรการพัฒนาอื่นๆ มีแผนงานที่จะต้องปฏิบัติการ ดังนี้
1) การจัดการด้านสถาบันภายใต้กรอบ IMT-GT Roadmap
2) การขยายการเข้าไปมีส่วนร่วมภายในกลุ่ม IMT-GT
3) การดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

ความร่วมมือ

ขอบเขตความร่วมมือตามกรอบ IMT-GT มี 6 สาขา มีการปรับปรุงจากเดิม เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ IMT-GT Roadmap ดังนี้

1.สาขาโครงสร้างพื้นฐานและการขนส่ง มีจุดมุ่งหมายในการบูรณาการทางด้านกายภาพของพื้นที่ IMT-GT ประเทศที่ประสานงานหลัก คือ มาเลเซีย

2.สาขาการค้าและการลงทุน เป็นการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้า การลงทุนในพื้นที่ IMT-GT ลดขั้นตอน มาตรการกีดกันทางการค้า โดยมุ่งเน้นลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ การส่งเสริมการไหลเวียนของสินค้าและบริการในภูมิภาค ประเทศที่ประสานงานหลักคือ มาเลเซีย

3.สาขาการท่องเที่ยว ส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ประเทศที่ประสานงานหลักคือ ไทย

4.สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มุ่งเน้นความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมไปถึงการใช้มาตรการในการยกระดับคุณภาพแรงงาน ประเทศที่ประสานงานหลักคือ อินโดนีเซีย

5.สาขาการเกษตร อุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม สร้างความร่วมมือในการเพิ่มพูนการค้า การลงทุน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และเน้นการจ้างงานในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม รวมทั้งร่วมมือพัฒนาทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ IMT-GT ประเทศที่ประสานงานหลักคือ อินโดนีเซีย

6.สาขาผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาล ประเทศที่ประสานงานหลัก คือ ไทย

บทบาทและภารกิจหลักของสถาบันภายใต้กรอบ IMT-GT

1. ประชุมสุดยอดผู้นำ IMT-GT (Leaders, Summit)
-เป็นองค์กรสูงสุดในการตัดสินใจของกรอบ IMT-GT
-กำหนดเป้าหมายหลักและทิศทางความร่วมมือตามกรอบ IMT-GT

2. ประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministers, Meeting: MM)
-เป็นหน่วยประสานงานด้านการกำหนดทิศทางและเป็นองค์ประกอบการตัดสินใจของกรอบ IMT-GT
-ทำหน้าที่รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามกรอบ IMT-GT Roadmap

3. ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (Senior Officials, Meeting: SOM)
-เป็นองค์กรประสานงานของแผนงาน IMT-GT โดยรายงานต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรี
-จัดเตรียมรายงานความก้าวหน้า IMT-GT Roadmap ต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรี
-เสนอแนวนโยบายหรือประเด็นที่ควรดำเนินการต่อองค์กรระดับที่สูงกว่า

4. คณะทำงาน (Working Groups) ทำหน้าที่ประสานงาน อำนวยความสะดวกและให้ความร่วมมือในแต่ละสาขาความร่วมมือ

5. ศูนย์การประสานงาน อำนวยความสะดวก ติดตามผลและอื่นๆ (Coordination and Monitoring Center: CMC) ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างที่ประชุมระดับรัฐมนตรี/ที่ประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส กับสถาบันอื่นๆ ของ IMT-GT รวมทั้งพันธมิตรจากภายนอก

6. ฝ่ายเลขานุการระดับชาติ (National Secretariats) ทำหน้าที่ร่วมดำเนินการ ติดต่อประสานงานระดับภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งติดตามพัฒนาการในพื้นที่ IMT-GT

7. สภาธุรกิจ IMT-GT (Joint Business Council: JBC) เป็นผู้ประสานงานภาครัฐกับภาคเอกชนและเสนอโครงการความร่วมมือภาคเอกชน

8. ที่ประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี(Governors, and Chief Ministers, Forum) เป็นผู้ประสานงานสภาธุรกิจ IMT-GT รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมโครงการในพื้นที่ IMT-GT
กำลังโหลดความคิดเห็น