โดย...คุณวัตร ไพรภัทรกุล
**พัฒนาฝีมือรุกตลาด ตปท.-รองรับAEC
เกือบครึ่งปีหลังของปี 2554 กระทรวงแรงงานภายใต้การบริงานโดยนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีเจ้ากระทรวง มีนโยบายใหญ่ๆ ที่ถูกผลักดันออกมาเป็นรูปเป็นร่างรอการบังคับใช้ในปี 2555 ทั้งในส่วนของภาคแรงงาน และในส่วนของระบบประกันสุขภาพ อย่างนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ใน 7 จังหวัด และ 40% ในจังหวัดที่เหลือที่ถูกผลักดันออกมาเป็นกฎหมายแล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2555 และนโยบายการจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ จากระบบเหมาจ่ายรายปี เป็นระบบจ่ายตามกลุ่มโรคร้ายแรงของผู้ป่วยใน ของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงแรงงาน โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2555 ทั้งนี้ แนวทางของมาตรการในปี 2555 จึงต้องสอดรับกับนโยบายเดิม และรองรับนโยบายใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ ดังนี้
**กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า กรมพัฒฯ จะต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น ต้องบุกมากกว่าตั้งรับ เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียน ในปี 2558 โดยจะเน้นแรงงานในภาคธุรกิจยานยนตร์ที่ไทยเป็นศูนย์การการผลิตของโลก ด้วยการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญในทุกภาคส่วนของธุรกิจประเภทนี้ เพื่อรองรับการลงทุนที่จะเข้ามาช่วงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งจะมีการประสานกับทางกระทรวงศึกษาเพื่อนำนักศึกษาอาชีวะมาพัฒนาฝีมือแรงงานรองรับธุรกิจประเภทนี้
“ส่วนแรงงานในประเทศ นอกจากจะมีการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ใน 7 จังหวัดนำร่อง และอีก 40% ทั้งประเทศ ในปี 2555 แล้วนั้น ก็จะมีการเน้นพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อให้ได้ค่าจ้างที่เพิ่มมากขึ้น เพราะขณะนี้ก็มีแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ สามารถรับค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 400-600 บาทต่อวัน ซึ่งจะเป็นผลดีกว่าการส่งแรงงานไปทำงานต่างประเทศที่แม้จะเงินเดือนสูงกว่า แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก็แทบไม่ต่างกับรายรับที่ได้จากการทำงานในประเทศ” รมว.แรงงานกล่าว
**กรมการจัดหางาน
นายเผดิมชัยกล่าวว่า จะมีการส่งเสริมแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศมากขึ้น ผ่านสัญญาการจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ โดยจะรุกตลาดทั้งในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง และในตะวันออกกลาง เช่น ลิเบีย อิสราเอล เป็นต้น ซึ่งจะมีการประสานกับกระทรวงยุติธรรม เพื่อเปิดโอกาสให้นักโทษที่ได้รับอภัยโทษประมาณ 28,000 คน มีงานทำด้วยการทำงานร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้ความรู้ด้านภาษา และวัฒนธรรม
“อีกทั้งยังต้องมีการควบคุมดูแลบริษัทจัดหางานไปทำในต่างประเทศให้เข้มข้นขึ้น เพราะที่ผ่านมาพบปัญหาร้องเรียน เช่น ถูกหลอกเก็บค่าใช้จ่ายแล้วไม่ได้ไปทำงาน เสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าความเป็นจริง หรือแม้กระทั่งได้ไปทำงานยังต่างประเทศแล้วแต่ไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบบริษัทจัดหางานเหล่านี้ให้เข้มข้นมากขึ้น พร้อมทั้งป้องกันปัญหาด้วยการส่งแรงงานไปทำงานแบบรัฐต่อรัฐ ซึ่งจะช่วยให้แรงงานสามารถไปทำงานได้โดยไม่ต้องผ่านบริษัทตัวแทน” นายเผดิมชัยกล่าว
**กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า จะมีมาตรการรองรับนโยบาย 300 บาท ด้วยการออกไปอธิบายให้ผู้ประกอบการฟังเพื่อทำความเข้าใจ ว่าจะมีมาตรการช่วยเหลือจากทางภาครัฐอย่างไรบ้าง เช่น มาตรการลดภาษี การช่วยพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น ขณะเดียวกันก็จะมีมาตรการตรวจสอบ หากนายจ้างไม่จ่ายค่าแรงตามที่กฏหมายกำหนดก็จะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของลูกจ้างก็ต้องมีการทำความเข้าใจในเรื่องมาตรการที่ต้องช่วยเหลือนายจ้าง เช่น การพัฒนาตัวเองทั้งทางด้านฝีมือการทำงานและเรื่องความซื่อสัตย์ เพื่อเป็นการลดตุ้นทุนให้กับนายจ้าง เพราะหากนายจ้างแบกรับต้นทุนไม่ไหวผลที่ตามมาคือการเลิกจ้าง
“นอกจากนี้จะมีการส่งเสริมการจัดตั้งสหกรณ์ในโรงงาน เพื่อส่งเสริมการออมเงินของแรงงานให้มากขึ้น เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบและคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยจะทำเรื่องนี้ร่วมไปกับโรงงานสีขาว ซึ่งสามารถจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ได้ที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด” นายอาทิตย์กล่าว
**สำนักงานประกันสังคม (สปส.)
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการประกันสังคม กล่าวว่า จะมีการปรับระบบบริการทางการแพทย์เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารักษากับโรงพยาบาลในระบบ สปส.ได้ทุกแห่ง เริ่มจากสามารถรับการรักษาจากโรงพยาบาลของรัฐในเครือข่ายเดียวกันของแต่ละสังกัดก่อน ประกอบด้วย โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สังกัดกระทรวงกลาโหม และโรงพยาบาลสังกัด กทม. แล้วจึงพัฒนาให้ข้ามเครือข่ายกันได้ในภายหลัง ทั้งนี้จะปรับปรุงวิธีการจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลแก่โรงพยาบาลให้เหมาะสมต่อไป รวมถึงจะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้วย ทั้งประกันสังคมมาตรา 33, 39 และ 40