xs
xsm
sm
md
lg

กก.อิสลาม 3 จชต.ระดมความคิดขับเคลื่อนพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัตตานี - คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระดมความคิดเห็นประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ไปในทิศทางเดียวกัน

วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่ห้องน้ำพราว 1 โรงแรมซีเอส ปัตตานี คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และ สตูล) ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดกิจกรรมสัมมนาคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด 150 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความคิดเห็น รวมทั้งประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ไปในทิศทางเดียวกัน

นายอรุณ บุญชม รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวเปิดงานในตอนหนึ่งว่า การพัฒนาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคม คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้เพราะว่าคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเป็นบุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจากผู้นำศาสนา หรืออิหม่ามในแต่ละพื้นที่นั้นย่อมแสดงให้เห็นว่าท่านเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ

ที่ผ่านมา หน่วยงานราชการและองค์กรภาคเอกชนได้ให้ความสำคัญกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดด้วยการจัดอบรมในลักษณะต่างๆ มาโดยตลอดเพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เกิดความสามัคคีเป็นเอกภาพอันจะส่งผลต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนเพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมสัมมนา ว่า ในภาพรวมของจังหวัดปัตตานีมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มีขนบธรรมเนียม ประเพณี ศิลปวัฒนธรรม มายาวนานกว่าพันปี มีศักยภาพที่สำคัญ 3 ประการ โดยประการแรกมีภูมิประเทศดี ปัตตานีเคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนสินค้าของชาวโปรตุเกส ฮอลแลนด์ อาหรับ อินเดียและจีน ยะลาเป็นเหมืองแร่ดีบุกที่สำคัญในอดีต นราธิวาส เป็นเมืองท่าผลิตยางพาราและผลไม้ที่อุดมสมบูรณ์

ประการที่สอง มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม อัตลักษณ์ ประเพณี ทั้งไทยมุสลิม ไทยพุทธ จีน และอื่นๆ สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขมาเป็นเวลานับร้อยปี ประการที่สาม เป็นเมืองแห่งองค์ความรู้ด้านศาสนาอิสลามมีการศึกษาด้านอิสลามนานาชาติที่มีชื่อเสียงจำนวนมากมีสถานศึกษาปอเนาะ ซึ่งเป็นที่นิยมของพี่น้องชาวไทยมุสลิม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เรียกได้ว่าเป็นระเบียงเมกกะ

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ได้ถูกบดบังด้วยสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ทำให้เกิดความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่อาจประเมินค่าได้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจังหวัดปัตตานีได้น้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน “รู้รัก สามัคคี เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มากำหนดยุทศาสตร์ปัตตานีสันติสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น