xs
xsm
sm
md
lg

แพทย์สูติฯ ยะลาชี้อัตราการเพิ่มประชากรสูง หมอไม่เพียงพอหวั่นอันตรายไฟใต้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยะลา - แพทย์สูติ-นรีเวช โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ชี้อัตราการเพิ่มประชากรในพื้นที่ค่อนข้างสูง และแพทย์สูติ-นรีเวช ในพื้นที่มีไม่เพียงพอเพราะหวั่นความไม่ปลอดภัย จึงไม่มีใครกล้าลงมาในพื้นที่

หลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา และติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนา ตามวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการติดตามการพัฒนาสุขภาวะของชุมชน คุณภาพชีวิต การบริการสาธารณสุข และสถานภาพสตรี ได้ศึกษาดูงาน และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทางด้านสาธารณสุขในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในภาพรวมก็พบปัญหาที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาทางด้านการสาธารณสุข ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ อัตราการเพิ่มของประชากร ด้วยการเกิดใหม่ค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ย 1.2 เปอร์เซ็นต์ต่อประชากร 1,000 คน ในขณะในพื้นที่ภูมิภาคอื่น ยังมีอัตราการเพิ่ม ในอัตรา 0.6 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น

ในพื้นที่ของ จ.ยะลานั้น ในเรื่องของการเพิ่มประชากร หรือการเกิดใหม่ นายแพทย์พิพัฒน์ มงคลฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อ.เมือง จ.ยะลา กล่าวว่า ปัญหาด้านการสาธารณสุข เกี่ยวกับแม่และเด็ก ในพื้นที่ มีการฝากครรภ์ช้ากว่าที่ควรจะเป็น เมื่อเปรียบเทียมกับภูมิภาคอื่นๆ ความครอบคลุมในเรื่องของการฝากครรภ์ ให้ครบกำหนดตามเกณฑ์ยังต่ำกว่าพื้นที่อื่น นอกจากนี้ก็ยังพบปัญหาแม่มีลูกหลายคน การดูแลตัวเองในเรื่องของอาหารการกิน การดูแลในช่วงการตั้งครรภ์ก็จะมีความสมบูรณ์ไม่เต็มที่ เหมือนกับคนที่มีลูกน้อย เพราะฉะนั้นปัญหาทางด้านการสาธารณะสุข จะพบว่ามีภาวะซีดในหญิงที่มีครรภ์ ภาวะคลอดก่อนกำหนด ก็ต้องมีการแก้ไขกันต่อไป

ส่วนในเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลทำความเข้าใจในด้านการสาธารณะสุข เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ หรือการปฏิบัติต่างๆ นั้น ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณะสุข สามารถที่ปฏิบัติการในเชิงรุก ออกไปพบปะชาวบ้านในพื้นที่ได้ ซึ่งในภาวะปัจจุบัน การปฏิบัติการ หรือการทำงานในเชิงรุก ลดน้อยถอยลงไปก็เพราะว่าความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในการที่จะออกหน่วย หรือออกพื้นที่ ซึ่งก็ได้ใช้ อสม.เป็นผู้ช่วย หรือในแผนกสูติ-นรีเวช ก็จะใช้เจ้าหน้าที่ผดุงครรภ์โบราณ ซึ่งได้ผ่านการอบรมจากทางโรงพยาบาล หรือผ่านการอบรมจากหน่วยงานด้านการสาธารณะสุข ซึ่งบางครั้งบางคราวก็เกิดความไม่สะดวก จากเหตุการณ์ไม่สงบ การเดินทางที่ไม่ปลอดภัยทำให้คนไข้ส่วนหนึ่งไม่มาพบแพทย์ หรือมาฝากครรภ์ไม่ครบ

หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลศูนย์ยะลา กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนการตั้งครรภ์ก่อนกำหนดของวัยรุ่นในพื้นที่ ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ต ที่สามารถเสพได้ง่าย โดยเฉพาะทางคอมพิวเตอร์ จะทำให้วัยรุ่นที่อยู่ในพื้นที่ มีพฤติกรรมคล้ายๆ กับวัยรุ่นในภาคอื่นๆ ความยับยั้งชั่งใจ ในจุดนี้ก็จะน้อยลง ซึ่งก็ยังมีความโชคดีสำหรับในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะบริบทของศาสนาในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม เพราะศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ค่อนข้างเน้นในเรื่องของการปฏิบัติตัว เพราะว่าในศาสนาอิสลาม เป็นวัฒนธรรมที่ผสมสานรวมกับศาสนา เพราะฉะนั้น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร หรือการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีไม่มากเมื่อเทียบเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ เพียงแต่ว่าในพื้นที่เมื่อมีการตั้งครรภ์ขึ้นมาแล้วไม่มีการฝากครรภ์ ตามระยะเวลาที่กำหนด

อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้การปฏิบัติการในเชิงรุกของเจ้าหน้าที่ด้านการสาธารณสุข มีการประสานไปยังคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ที่จะแนะนำให้คนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในระบบให้ถูกต้อง ความพฤติของวัยรุ่นในพื้นที่ต้องยอมรับว่า ศาสนา และวัฒนธรรม สามารถช่วยในเรื่องนี้ได้มาก สำหรับอัตราการคลอดบุตรในพื้นที่ของ จ.ยะลา มีอัตราการคลอด 300-350 คน ต่อ/เดือน ปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขเร่งด่วนในขณะนี้คือ รอบๆ โรงพยาบาลศูนย์ยะลา มีโรงพยาบาลชุมชน 7 แห่ง จะส่งคนไข้ที่ตังครรภ์ที่ต้องทำการผ่าตัดมาส่งให้เป็นจำนวนมาก อัตราของเจ้าหน้าที่ในด้านสูติ-นรีเวชค่อนข้างน้อย มีแพทย์ทางด้านสูติ-นรีเวชเพียง 4 คนเท่านั้น ที่ผ่านมามีการส่งนักเรียนไปเรียนอย่างต่อเนื่อง อนาคตอาจจะโชคดี หากนักเรียนแพทย์ที่จบออกมาไม่ย้ายออกนอกพื้นที่ไปหมด เพราะสถานการณ์ความไม่สงบทำให้แพทย์ฝีมือดี ไม่กล้าอยู่ในพื้นที่



นายแพทย์พิพัฒน์ มงคลฤทธิ์ หัวหน้ากลุ่มงานสูติ-นรีเวช โรงพยาบาลศูนย์ยะลา
กำลังโหลดความคิดเห็น