ยะลา - สมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้จะต้องมีการปรับแผนการรักษาความปลอดภัยครูใหม่อีกครั้ง! หลังมีการถอนกำลังทหารออกจาก อ.รือเสาะ ถึง 19 หน่วย และคณะครูถูกลอบทำร้ายอย่างต่อเนื่อง ด้าน รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน. รับปากจะเน้นดึงทุกภาคส่วนให้ร่วมมือกันอย่างเต็มที่
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่ ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี พล.ต.สุภัช วิชิตการ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน. เรียกประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส จำนวน 11 เขต ผู้เชี่ยวชาญสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานด้านความมั่นคง กว่า 30 คน เข้าร่วมประชุมหารือหาจุดบกพร่องของมาตรการในการดูแลรักษาความปลอดภัยครู หลังเกิดเหตุลอบทำร้ายครูและเจ้าหน้าที่ชุดคุ้มครองครูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ 3 ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส จำนวน 11 เขต และผู้บริหารสถานศึกษามีความเห็นว่า การดูแลรักษาความปลอดภัยคณะครูในพื้นที่เสี่ยง พบว่าจุดเสี่ยงต่างๆ ยังบกพร่อง การปฏิบัติงานยังขาดการเชื่อมต่อระหว่างเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่ มาตรการต่างๆ ยังไม่เข้มงวด 100 เปอร์เซ็นต์
จึงต้องการให้หน่วยกำลังฝ่ายต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง มีการประสานการปฏิบัติงานให้เข้มข้นมากกว่านี้ ปิดช่องว่างในจุดเสี่ยงภัยต่างๆ ที่คาดว่าจะเป็นช่องทางที่กลุ่มคนร้ายสามารถก่อเหตุได้
นอกจากนี้ อยากให้หน่วยกำลังที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ หรือฝ่ายปกครอง รวมทั้งกองกำลังภาคประชาชน ให้มีการเปิดเวทีสัมมนาหาข้อสรุปและแนวทางการดูแลความปลอดภัยร่วมกัน เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางเดียวกัน
ขณะที่ในพื้นที่เสี่ยงของ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กำลังเจ้าหน้าที่ทหารชุดพัฒนาสันติ ที่คอยดูแลรักษาความปลอดภัยได้ออกนอกพื้นที่ไปแล้ว จำนวน 19 หน่วย ทำให้การดูแลรักษาความปลอดภัยไม่ทั่วถึง หากเป็นไปได้อยากให้มีเจ้าหน้าที่ทหารและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มาคอยดูแลรักษาความปลอดภัยให้เต็มพื้นที่เหมือนเดิม
ทางด้าน พล.ต.สุภัช วิชิตการ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน. ได้ยอมรับถึงความผิดพลาดในการดูแลรักษาความปลอดภัยต่อคณะครูในครั้งนี้ จนทำให้คณะครูถูกลอบทำร้ายได้รับบาดเจ็บ และได้รับข้อเสนอของคณะครูว่าจะมีการปรับแผนการรักษาความปลอดภัยครูใหม่ เน้นการปรับแผนทางด้านการข่าวตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยให้ปฏิบัติตามแผนที่เคยปฏิบัติมาอย่างเคร่งครัด และจะมีการเพิ่มความเข้มในการดูแลรักษาความปลอดภัยคณะครู บุคลากรทางการศึกษา และโรงเรียนให้มีความเข้มงวด 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม
ทั้งนี้ จะอุดช่องว่างระหว่างพื้นที่ และจะมีการเชื่อมต่อประสานการปฏิบัติงานกับหน่วยกำลังในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตำรวจ ฝ่ายปกครอง กองกำลังภาคประชาชน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และชาวบ้านให้มีความพร้อม ทั้งยังต้องช่วยกันสอดส่องดูแลและช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการดูแลความปลอดภัยคณะครูในพื้นที่ด้วย