xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นปลายเดือนตุลาคมนี้ตรังเจอน้ำท่วมใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - หลายหน่วยงานในจังหวัดตรังเตือนประชาชน ให้เตรียมพร้อมรับน้ำท่วมใหญ่ช่วงปลายเดือนตุลาคมนี้ อันเป็นผลมาจากพิษหย่อมความกดอากาศต่ำ และพายุในทะเลจีนใต้

วันนี้ (24 ต.ค.) นายวุฒิชัย สกาวสุวรรณ หัวหน้าสถานีอุตุนิยมวิทยาจังหวัดตรัง กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปี 2554 ปริมาณฝนตกในจังหวัดตรังโดยภาพรวมยังเป็นปกติ เพียงแต่บางช่วงอาจจะตกหนักกระจุกเฉพาะพื้นที่ และต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 1-2 วัน จึงทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น จะเป็นฝนที่เกิดมาจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่ที่น่าห่วงและต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด คือ ภาวะฝนตกหนักที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงระยะเวลาดังกล่าว หย่อมความกดอากาศต่ำซึ่งขณะนี้ยังพาดผ่านอยู่ในพื้นที่ภาคกลางจะเคลื่อนตัวมาสู่พื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งจังหวัดตรัง ประกอบกับจะเกิดพายุขึ้นในทะเลจีนใต้ และจะเคลื่อนตัวมาสู่พื้นที่ภาคใต้ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนักเป็นระยะเวลาต่อเนื่องกัน จนอาจจะทำให้เกิดสภาวะน้ำป่าไหลหลากหรือน้ำท่วมขังขึ้นมาได้ จึงขอให้ประชาชนได้เตรียมการรับมือตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดความรุนแรง หรือความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่เคยเจอน้ำท่วมมาแล้วบ่อยครั้ง

อย่างไรก็ตาม ปกติแล้วหากเกิดฝนตกหนักเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตรัง ถือว่ายังไม่ค่อยน่ากังวลนัก เพราะน้ำจะสามารถไหลผ่านลงไปสู่ทะเลอันดามันได้อย่างรวดเร็ว หรืออาจจะท่วมขังบ้าง แต่ใช้ระยะเวลาไม่นานก็จะแห้งหมดไป แต่สิ่งที่ทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมรุนแรงขึ้นในจังหวัดตรังจะเกิดมาจากน้ำที่ไหลบ่ามาจากจังหวัดข้างเคียง คือ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสตูล ตลอดแนวเทือกเขานครศรีธรรมราช ไปจนถึงแนวเทือกเขาบรรทัด ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำตรัง และแม่น้ำปะเหลียน ในพื้นที่จังหวัดตรัง

ทั้งนี้ เนื่องจากเส้นทางที่น้ำไหลผ่านได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำลำคลองมีสภาพตื้นเขิน หรือมีขนาดแคบลงกว่าเดิม รวมทั้งมีการก่อสร้างไปขวางกั้น จึงทำให้เกิดการเอ่อล้นและไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ต่างๆ อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้จังหวัดตรังต้องเกิดสภาวะน้ำท่วมปีละหลายๆ ครั้ง และแต่ละครั้งก็สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นไม่น้อย ดังนั้นเป็นสิ่งที่ชาวตรังจะต้องรีบเร่งช่วยกันหาทางแก้ไขก่อนที่สถานการณ์น้ำท่วมจะยิ่งรุนแรงมากขึ้นกว่านี้ในอนาคต

ด้าน นายวิรัช สุกิจมงคลกุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานตรัง กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือนที่เหลือก่อนสิ้นปี 2554 ถือเป็นงานหนักของทุกฝ่ายที่จะต้องเตรียมการและติดตามสถานการณ์ฝนตกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ซ้ำซาก ซึ่งแม้จะมีการพยายามเข้าไปดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อรับมือแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการขุดลอกแม่น้ำลำคลอง การเสริมพนังกั้นน้ำ หรือการสร้างท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ แต่คงเป็นเพียงแค่การบรรเทา และช่วยให้น้ำไหลลงทะเลอันดามันได้เร็วขึ้นเท่านั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดตรังยังมีแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญแค่แห่งเดียว คือ เขื่อนท่างิ้ว อำเภอห้วยยอด ซึ่งสามารถจุน้ำได้ประมาณ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่คงช่วยกักเก็บน้ำได้เฉพาะพื้นที่เพียงบางส่วนเท่านั้น ขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ที่อยู่ติดกับเทือกเขานครศรีธรรมราช และเทือกเขาบรรทัด ยังไม่มีการสร้างแหล่งกักเก็บน้ำใดๆ มาเพื่อช่วยชะลอความแรงของน้ำได้ จึงทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมอย่างรวดเร็วและรุนแรง ถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่จะต้องช่วยกันขบคิดเพื่อหาทางรับมือต่อภัยธรรมชาติในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น