ยะลา - นักวิชาการ - ที่ปรึกษา ศอ.บต. แนะหากมีการสับเปลี่ยนตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. จะต้องสรรหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ รู้และเข้าถึงข้อมูลในพื้นที่ ที่สำคัญคือประชาชนในพื้นที่ยอมรับ และมีศักยภาพในการดึงมวลชนเข้าร่วมพัฒนา มิฉะนั้นเหตุการณ์ความไม่สงบจะบานปลายขึ้นเรื่อยๆ
วันนี้ (10 ต.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ในเขตเทศบาลนครยะลา อ.เมือง จ.ยะลา ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา กล่าวถึงเรื่องการโยกย้ายตำแหน่งของนายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รองปลัดกระทรวงยุติธรรม มานั่งเก้าอี้ในตำแหน่งนี้แทน ว่า สำหรับการปรับเปลี่ยนผู้นำองค์กร ซึ่งเป็นองค์กรขนาดใหญ่ในพื้นที่ และเป็นองค์กรที่แก้ไขและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่ต้องมีการพิจารณากันอย่างรอบคอบ ตนไม่อยากเห็นการตัดสินใจที่เชื่อมโยงอยู่กับเรื่องของการเมือง
โดยในขณะนี้ พระราชบัญญัติศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (พรบ.ศอ.บต.) ซึ่งมีการประกาศใช้เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ระยะเวลาก็ยังไม่ครบ 1 ปี ดอกผลของ พรบ. ศอ.บต. ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน แต่ก็ควรจะให้โอกาสในการทำงาน
“ในร่างของ พรบ .ศอ.บต. ก็ได้เปิดช่องทางและโอกาสที่สำคัญให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้ภาคประชาชนมีบทบาท เข้ามาเป็นที่ปรึกษา เป็นคณะกรรมการที่จะกำหนดทิศทางนโยบายในการขับเคลื่อน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และถูกทางแล้ว ตนเองก็เห็นด้วยกับ พรบ .ศอ.บต. ในการใช้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งหากทางรัฐบาลต้องการที่จะปรับเปลี่ยนผู้นำ ก็ต้องมีความรอบคอบ ต้องมีการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งแทน เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ว่าจะต้องมีคุณสมบัติเป็นอย่างไรบ้าง” คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมเปิดเผยต่อว่า
ในเบื้องต้นทางรัฐบาลต้องชัดเจนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลใช้รูปแบบด้านความมั่นคงมาใช้ในพื้นที่ ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ยาสูตรนี้ใช้มาหลายปีแล้ว ตั้งแต่เริ่มแรกที่มีเหตุการณ์มาจนถึงปัจจุบัน เปรียบเทียบได้กับการใช้แนวคิดในแบบของเหยี่ยว แต่ในวันนี้คำตอบที่มีความชัดเจนที่สุด คือ ต้องใช้ในรูปแบบของการพัฒนา เปรียบเทียบได้กับการใช้แนวคิดในแบบของพิราบ
“ฉะนั้น ผู้นำที่จะมาแทนที่นั้น หากมาจากสายเหยี่ยว ตนเองมองว่าจะมีรูปแบบให้เลือก 2 อย่าง คือ เหตุการณ์จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น กับเหตุการณ์สงบลง ถามว่าพี่น้องประชาชน ประเทศชาติ จะเสี่ยงหรือไม่ ถ้าหากไม่หยุดก็พัง จะกล้าเสี่ยงถึงขนาดนั้นหรือไม่ สำหรับ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นั้น เป็นคนที่ประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับแล้ว” คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เน้นย้ำ
นอกจากนี้ ยังเสนอแนะอีกว่า “แต่ถ้าหากมีเหตุประการหนึ่งประการใด ในเชิงของการเมืองที่จะต้องมีการโยกย้ายเปลี่ยนตำแหน่งขึ้นมา ตนคิดว่า นายธีระ มินทราศักดิ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา เป็นคนในพื้นที่จังหวัดปัตตานี เคยปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ดำรงตำแหน่งเป็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช น่าจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง และเป็นตัวเลือกต้นๆ ที่ทางรัฐบาล ควรที่จะมีการพิจารณา”
และกล่าวสรุปว่า “โดยเรื่องที่สำคัญที่ต้องมองอีกส่วนหนึ่ง คือ การยอมรับของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คนที่จะมาเป็นเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ถ้าหากว่าประกาศตัวออกมาแล้ว ชาวบ้านเมินหน้าหนี เป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ ดังนั้น รัฐบาลจะต้องทำอย่างไรถึงจะให้ประชาชนในพื้นที่ยอมรับ ชื่นชม และศรัทธา เชื่อมั่นกับคนเหล่านี้ ว่า ประชาชนไว้วางใจได้ เชื่อใจได้ ถ้ารัฐบาลสร้างความเชื่อมั่นดังกล่าวได้ ประชาชนก็จะเกิดความไว้วางใจ แล้วก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ผู้นำในส่วนนี้เป็นคนที่ประชาชนขาดความเชื่อมั่น ขาดศรัทธา ประชาชนหันหลังให้ ก็ถือเป็นเรื่องที่อันตรายสำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดภาคใต้เช่นกัน”
ด้าน นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล และ สมาชิกสภาที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวในเรื่องนี้ว่า หลังจากที่ตนเองทราบว่าทางรัฐบาลจะมีการสับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ในรูปแบบใหม่ โดยจะมีการจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.กช.) ขึ้น ซึ่งในการจัดตั้ง ศบ.กช. นี้ ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะว่าปัจจุบันทาง ศอ.บต. กับ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ต่างคนก็ต่างทำงานกันอยู่ ถ้าหากว่าได้มีการประสานงานกันขึ้นเป็นเนื้อเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่ดี
“แต่เมื่อมีการศึกษาข้อมูลในโครงสร้างอย่างลึกซึ้งแล้ว ตนเองต้องเปลี่ยนความคิดทันที เพราะไม่ค่อยเห็นด้วยในโครงสร้างนี้ เพราะจะเป็นการครอบโครงสร้าง ศอ.บต.เอาไว้ จริงๆ แล้ว ศอ.บต.ได้ถูกจัดตั้งขึ้น โดย พรบ. ศอ.บต. ฉบับใหม่ที่ได้เริ่มมีการประกาศใช้ ยังไม่นาน ในส่วนของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ก็มี พรบ.ของความมั่นคงภายในอยู่แล้ว ตนเองมองว่า พรบ.ทั้ง 2 ฉบับ ต่างมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้กับ ศอ.บต. และ กอ.รมน. ในคนละหน้าที่” นายสัมฤทธิ์ กล่าว ก่อนจะเสริมอีกว่า
“ในส่วนของ กอ.รมน. เป็นการรักษาความมั่นคงภายใน และสำหรับ ศอ.บต. คือการบริหารและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งตามโครงสร้างใหม่ นั้น ศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.กช.) จะเข้ามาดูแลในเรื่องของการพัฒนาด้วย ซึ่งหากมองดูแล้วจะกลับไปในรูปแบบเดิมในอดีตที่ผ่านมา ทุกคนต่างทราบกันดีว่าทาง กอ.รมน.จะดูแลกิจกรรมในเรื่องการพัฒนาทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และรวมไปถึงการดูแลด้านความมั่นคงอีกด้วย ตนเองคิดว่าทุกคนน่าจะมองเห็นแล้วว่า ตั้งแต่ ปี 47 ที่ผ่านมา จนมาถึงปัจจุบัน การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำเร็จได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งตนเองในฐานนะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง และเป็นสมาชิกสภา ที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เห็นว่าที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ มีความล้มเหลว แต่หลังจากที่มีการจัดตั้ง พรบ.ศอ.บต. ขึ้นมา การแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เริ่มดีขึ้น อย่างมีทิศทาง มีแนวโน้มที่ดีขึ้นตามลำดับ”
นอกจากนี้ นายสัมฤทธิ์ ยังระบุอีกว่า ขณะนี้มีการเริ่มทำงานเพียง 5 - 6 เดือน ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่อีกครั้ง อำนาจของ ศอ.บต.ก็จะหายไป จะเป็น ศอ.บต. ย่อย จะอยู่ภายใต้ การกำกับดูแล การควบคุมดูแลของ กอ.รมน.ทั้งหมด ถ้าเป็นในรูปแบบนั้น ก็จะกลับมาเป็นในรูปแบบเดิม ๆ ที่มีการแก้ไขกันมาตลอดระยะเวลา 7 - 8 ปี ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จ
สำหรับการเปลี่ยนตัวบุคคลที่จะมานั่งในตำแหน่ง เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) นั้น คนเดิมก็ดีอยู่แล้ว นายภาณุ อุทัยรัตน์ ก็ทำงานในเชิงรุกได้ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าหากนโยบายของรัฐบาลมีความจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนตัวบุคคล ก็เป็นเรื่องของทางรัฐบาล
“ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่จะมารับตำแหน่ง เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คนใหม่ นั้น จำเป็นที่ต้องรู้ถึงปัญหา รู้ถึงสภาพพื้นที่ รู้ถึงขนบธรรมเนียมประเพณี และ วัฒนธรรม และก็ต้องเข้าใจว่าสาเหตุแห่งปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามาจากเรื่องของความไม่เข้าใจ ที่ทางส่วนกลางอาจจะไม่เข้าใจถึงความเป็นอยู่ขนบธรรมเนียมประเพณี และ วัฒนธรรม จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดกระบวนการที่จะแบ่งแยกดินแดนขึ้นมา” นายสัมฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย