ยะลา - ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า นำนักศึกษาลงพื้นที่ หมู่ 8 ต.บุดี อ.เมือง พบผู้นำศาสนาและผู้นำท้องถิ่น แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สงบชายแดใต้ เนื่องจากหมู่บ้านดังกล่าวใช้ “การจัดการปกครองตามกฎกติกาหมู่บ้าน” มากว่า 3 ปี พบประชาชนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
วันนี้ (5 ต.ค.) ที่ มัสยิดนูรุลฮูดา กำปงดาระ บุดีฮีเลร์ หมู่ที่ 8 ต.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา นักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าฯ หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 3 จำนวน 30 คน นำโดย พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เข้าพบปะผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น และศึกษาดูงาน การบริหารจัดการปกครองหมู่บ้าน ตามรูปแบบ “ฮูกนปากัส” หรือการจัดการปกครองตามกฎกติกาหมู่บ้าน ซึ่ง ต.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา ได้ดำเนินการมาเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ทำให้ประชาชนในหมู่บ้านอาศัยอยู่ด้วยความรัก สามัคคี และมีความสันติสุข โดยมี นายกฤษฎา บุญราช ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา บรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานและตอบข้อซักถามของนักศึกษา ซึ่งส่วนใหญ่จะซักถามในประเด็นแนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงแนวการการแก้ปัญหาของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า ในขณะนี้รัฐบาลยังไม่มีนโยบายการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างชัดเจน สาเหตุที่ยังไม่มีนโยบาย เนื่องจากกำลังแต่งตั้งคนลงในหน่วยงานที่รับผิดชอบ
นอกจากนี้ ในระหว่างการหาเสียงได้มีการเสนอแนวทางจะให้มีการตั้งเขตปกครองพิเศษในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งจากการสอบถามข้อมูลจากคนในรัฐบาล ทราบว่า ในความเป็นจริงนั้น ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำเรื่องนี้อย่างแท้จริง แต่รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานในการดูแลพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลเก่าได้ตั้ง คณะ ครม.เศรษฐกิจ ที่จะดูแลขับเคลื่อนในพื้นที่ 5 จังหวัด อยู่แล้ว รัฐบาลนี้จึงได้มีจัดตั้งศูนย์บูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.กช.) ซึ่งยังไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจน
แต่เนื่องจากงานด้านเศรษฐกิจต้องมีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการตั้งมาจากรัฐบาลที่แล้ว เป็นเงินจำนวน 65,000 ล้านบาท ก็มีการขับเคลื่อนไปบางส่วนแล้ว ซึ่งเชื่อว่าหากมีการตั้งคนที่มารับผิดชอบชัดเจน คงจะได้มีการทำงานได้ในโอกาสต่อไป ดังนั้นขณะนี้แนวการการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะต้องอยู่นิ่งๆ ไปก่อน ยังไม่ชัดเจน
ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวอีกว่า ปัจจุบันในพื้นที่ เริ่มเปิดแล้ว โดยเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันแลกเปลี่ยนกัน ถึงแม้ว่ามีความคิดที่แตกต่างกัน แต่ก็ได้คุยกัน แลกเปลี่ยนด้วยเห็นตัวตน มีการออกทางสื่อ ทางเวทีสาธารณะต่างๆ เป็นสิ่งที่ดี สามารถที่จะมาคุยว่าที่เห็นดีมีเหตุผลอะไร ที่เห็นว่าไม่ดี มีเหตุผลใด สุดท้ายจะกลับไปหาประชาชน ว่าในที่แท้จริงแล้ว เขาต้องการอะไร แล้วรัฐบาลสามารถที่จะสนองตอบให้กับเขาได้หรือไม่
ทั้งนี้ ตนขอฝากกับรัฐบาลว่า ต้องให้ความสำคัญในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากกว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มา เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมือนพื้นที่อื่น เพราะฉะนั้นใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบเดิมๆ มันใช้ไม่ได้ ต้องใช้วิธีการพิเศษ สามารถตอบสนองให้กับประชาชนได้ไหม ประชาชนเขาพอใจหรือยัง หากไม่ได้ผล ต้องกลับมาทบทวนใหม่ ซึ่งต้องทำในลักษณะนี้อย่างโดยตลอด และขอให้มองในเชิงสร้างสรรค์มากกว่า อย่ามองให้เป็นเรื่องเลวร้ายไปหมด เพราะสิ่งดีๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเยอะแยะไปหมด
พล.อ.เอกชัย ยังกล่าวอีกว่า การเปลี่ยนองค์กรบ่อยครั้งนั้น เป็นจุดอ่อนในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ผ่านมามีการเปลี่ยนองค์กร เปลี่ยนชื่อองค์กร หรือไม่ก็เปลี่ยนตัวบุคคล ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้การดำเนินงานไม่ต่อเนื่อง ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ประชาชนยอมรับ
อย่างสถาบันพระปกเกล้า ที่เสนอความคิดให้มีการเปิดอกคุยกัน เราทำกันหรือยัง ซึ่งขณะนี้มีแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ตอบรับแล้ว ตำรวจ ทหาร ประชาชน แม้กระทั่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐต้องมาคุยกัน มาเป็นเครือข่าย ร่วมกันคิด ร่วมกันทำงาน ต่อไปจะมีสมัชชาประชาชนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนกัน
สำหรับกรณีที่มีแกนนำกลุ่มต่างๆ ที่อาสามาคุยกันเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ดี หากเปิดโอกาสมาคุยกัน อันไหนรัฐให้ได้ก็ให้ไป อันไหนที่รัฐให้ไม่ได้ก็บอกกัน ไม่มีที่ไหนที่จบด้วยการสงคราม ทุกที่ต้องจบด้วยการเจรจาอย่างแน่นอน