ยะลา - เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ สนธิกำลัง 10 ชุดเข้าตรวจสอบเหตุมอดไม้เข้าบุกรุกผืนป่าฮาลา-บาลา หรือป่าสิริกิติ์ พบเป็นการรุกคืบจากพื้นที่สวนยางพารา
วันนี้ (23 ก.ย.) หลังจากกรณีที่ปรากฏข่าวทางสื่อมวลชนว่ามีการบุกรุกทำลายผืนป่าฮาลา-บาลา หรือป่าสิริกิติ์ ซึ่งเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย หลังรับทราบเรื่องดังกล่าว นายดลเดช พัฒนรัฐ นายอำเภอเบตง พ.ท.ทศพล ผ่องศรีสุข ผบ.ฉก.ยะลา 16 นายรุ่งโรจน์ แก้วสกุล เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน สำนักฯ 6 (สาขาปัตตานี) นายพีรวัฒน์ ดาโอ๊ะ ผช.หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา-บาลา นายฟูอาดี แตปูซู หน.หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ยล.7 (จันทรัตน์) ร.ต.ต.สุรินทร์ อุปมัยรัตน์ ผบ.มว.ร้อย ตชด.445 นายอมร ชุมช่วย ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง และนายวุฒิชัย แก้วนพรัตน์ หน.หน่วยป้องกันรักษาป่าที่ ยล.6 นำกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่ปกครองและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ จำนวน 10 ชุดปฏิบัติการ เข้าตรวจสอบทางภาคพื้นดิน และทางอากาศทันที
นายดลเดช พัฒนรัฐ นายอำเภอเบตง กล่าวว่า หลังจากที่ได้ดำเนินการบินสำรวจ 9 พื้นที่ คือ หมู่ 3 บ้านไอนอเป๊าะ หมู่ 8 บ้านไอเยอร์ควีน หมู่ 9 บ้านนากอ ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา และเขตติดต่อ จ.นราธิวาส โดยการตรวจสอบพบว่าเป็นพื้นที่ที่เคยมีการเข้าตรวจสอบไปแล้วทั้งสิ้น และได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อผู้กระทำผิดไปแล้วบางส่วน ส่วนในพื้นที่ ที่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการตรวจยึด และประกาศห้ามเข้าไปดำเนินการบุกรุกไปแล้ว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้ติดตามผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดชุดลาดตระเวนเข้าไปตรวจสอบ
สำหรับการบุกรุกป่าเพิ่มเติมนั้น จากการตรวจสอบเป็นลักษณะของการรุกคืบจากพื้นที่สวนยางพารา ที่ทางนิคมสร้างตนเองเบตง ได้จัดสรรแบ่งให้ประชาชนในพื้นที่ได้ใช้ทำกิน ไม่ได้เป็นการเข้าไปทำลายป่าดิบชื้นสมบูรณ์หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา หรือเป็นเข้าไปลักลอบตัดต้นกฤษณาให้โล่งเตียนเป็นแปลงๆ ตามข่าวสารที่เผยแพร่ เนื่องจากต้นกฤษณานั้นไม่ได้มีการปลูกเป็นแปลงๆ แต่จะมีเป็นบางจุดซึ่งแต่ละจุดก็จะมีเพียง 1-2 ต้นเท่านั้น ซึ่งจะอยู่ในป่าลึกไม่มีเส้นทางเข้าถึงต้องเดินทางลัดเลาะตามป่าเขาเข้าไป ใช้เวลาเป็นอาทิตย์ หรือเป็นเดือน ซึ่งภาพที่ปรากฏจากสื่อมวลชนที่ผ่านมาเป็นพื้นที่การรุกคืบทำสวนยางในบริเวณพื้นที่นิคมสร้างตนเองเบตงที่อยู่ใกล้เส้นทางและหมู่บ้าน
ส่วนพื้นที่บุกรุกตามข่าวนั้นก็ได้มีการเข้าดำเนินการไปแล้ว ตั้งแต่อดีตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีการลาดตระเวนทางอากาศเป็นประจำ หากตรวจพบก็จะจัดชุดเข้าไปตรวจสอบถึงพื้นที่จริง แต่ปัญหาที่มีอยู่นั้น มีเพียงประชาชนบางกลุ่มที่ไม่ได้ยึดถือตามกฎหมายข้อบังคับ ยังคงมีการลักลอบ บุกรุก รุกคืบเข้าไป ทั้งด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และตั้งใจละเมิด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้ดำเนินการตามกฎหมาย และได้หามาตรการป้องกันและสร้างจิตสำนึกให้กับประชาชนในพื้นที่ ให้มีความรักและหวงแหนสมบัติอันล้ำค่าของชาติต่อไป
ด้าน พ.ท.ทศพล ผ่องศรีสุข ผบ.ฉก.ยะลา 16 กล่าวว่า จากกระแสในการบุกรุกทำลายผืนป่าฮาลา-บาลา หรือป่าสิริกิติ์ ที่เกิดขึ้นจะต้องเข้าไปดูแลสำรวจการบุกรุกป่าสิริกิติ์โดยเร็ว เพื่อให้มีความเข้มแข็งเด็ดขาด และให้มีผลการปฏิบัติโดยเร็วที่สุดและต้องไม่ให้มีการบุกรุกป่าแห่งนี้ เพราะเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุด
ทั้งนี้ ทหารมีหน้าที่ในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และป่าไม้ ไม่ให้กลุ่มผู้มีอิทธิพล หรือผู้ที่หวังผลประโยชน์กับป่าไม้เข้าไปทำลาย เมื่อมีการบุกรุกก็จะต้องเข้าไปจัดการเรื่องนี้ให้หมดโดยเร็ว และต้องมีการป้องกันไม่ให้พื้นที่ดังกล่าวถูกทำลายขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ ซึ่งการดูแลผืนป่าสิริกิติ์หรือป่าฮาลาบาลา นับว่าเป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากป่าดังกล่าวถือเป็นป่าต้นน้ำในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นผืนป่าที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงหวงแหนและมีพระราชเสาวนีย์ให้รักษาผืนป่าแห่งนี้เอาไว้เพื่อคืนความสมดุลย์ให้กับธรรมชาติ ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกแผ้วถางป่า ซึ่งหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าก็จะถูกดำเนินการขั้นเด็ดขาด