xs
xsm
sm
md
lg

พบภูเก็ตเสี่ยงดินสไลด์กว่า 30 จุด จากการก่อสร้าง-เปิดหน้าดิน-ขุดดินเชิงเขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - นักธรณีวิทยา เผยจุดเสี่ยงดินสไลด์ในภูเก็ตมีกว่า 30 จุด ทั่วทั้งจังหวัด สาเหตุสำคัญเกิดจากการก่อสร้าง เปิดหน้าดิน และขุดดินบนภูเขา

วันนี้ (21 ก.ย.) นายอำนาจ ตันติธรรมโสภณ นักธรณีวิทยา กล่าวถึงแนวโน้มสถานการณ์เกิดเหตุดินสไลด์ดินถล่มในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต ในการประชุมซักซ้อมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โครงการยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติ จังหวัดภูเก็ต ซึ่งสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดภูเก็ต จัดขึ้น ที่โรงแรมเพิร์ลภูเก็ต อ.เมือง จ.ภูเก็ต โดยมีนายสุเมธ อำภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต เป็นประธานเปิด ว่า

สำหรับในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเป็นอีกพื้นที่หนึ่ง ที่มีแนวโน้มเสี่ยงภัยเรื่องของดินสไลด์และดินถล่ม ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่ามีมากกว่า 30 จุด กระจายไปทั่วทั้งจังหวัดภูเก็ต

จุดสำคัญและเสี่ยงที่จะเกิดดินสไลด์ และดินถล่มสูง และจำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดเป็นพื้นที่ที่มีชุมชนหนาแน่น คือ พื้นที่บนเนินเขาบริเวณชุมชนนาใน ถนน 50 ปี ในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ เนื่องจากจุดนี้ข้างบนมีการก่อสร้างฝายต่างๆจำนวนมาก รวมทั้งมีการตัดถนนบนไหล่เขา การขุดถมดินบนภูเก็ต ซึ่งถือว่าเป็นจุดเสี่ยงที่จะต้องเฝ้าระวัง

นอกจากนั้น ยังมีจุดที่บริเวณภูเขาถนนบายพาส ซึ่งข้างบนมีร่องรอยการทำเหมืองรูโบราณ กับยังมีการสร้างฝายและเขื่อนอยู่ด้านบน โอกาสที่ดินรับน้ำไม่ไหวมีมากและมีโอกาสที่จะสไลด์หรือถล่มลงมาได้

จุดสุดท้าย คือ ชุมชนน้ำตกกะทู้ เนื่องจากมีการสร้างฝ่ายและเขื่อนข้างบนจำนวนมาก รวมทั้งทางน้ำถูกแปรสภาพถูกถม ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นตัวเร่งที่จะทำให้เกิดดินสไลด์ดินถล่มได้ รวมทั้งถ้าหากในพื้นที่ภูเก็ตมีฝนตกหนักติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์

นายอำนาจ กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต ถือว่าน่าเป็นห่วงทุกจุดและโอกาสที่จะมีจุดเสี่ยงภัยดินสไลด์ดินถล่มเพิ่มขึ้นมีสูง เนื่องจากปัจจุบันนี้การก่อสร้างบนที่สูงและการเปิดหน้าดิน การขุดตักหน้าดินยังมีอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าปัญหานี้จะยังคงมีต่อไปตราบใดที่ยังไม่หยุดการก่อสร้างบนที่ราบเชิงเขา ซึ่งถือว่าเป็นสาเหตุสำคัญ

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาและการป้องกันที่ดีที่สุด คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในการควบคุมดูแลเรื่องของการก่อสร้างบนที่ราบเชิงเขา นอกจากนั้นยังมีเรื่องของการจัดตั้งหมู่บ้านเครือข่ายวัดปริมาณน้ำฝน การจัดตั้งหมู่บ้านเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัย และการจัดตั้งสถานีส่งสัญญาณเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงภัยต่างๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยป้องกันภัยได้ในระดับหนึ่งโดยใช้ประชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังป้องกันเหตุต่างๆ
นายอำนาจ  ตันติธรรมโสภณ  นักธรณีวิทยา บรรยายเกี่ยวกับสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยดินสไลด์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต
นายอำนาจ  ตันติธรรมโสภณ  นักธรณีวิทยา
กำลังโหลดความคิดเห็น