ตรัง - กระทรวงพาณิชย์จับมือจังหวัด นำผู้ประกอบการยางพาราและไม้แปรรูปเดินทางเจรจาเปิดตลาดยางพาราและไม้ยางในอินเดีย ผลการเจรจาเป็นที่น่าพอใจ
นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ตนได้นำคณะนักธุรกิจ ผู้ประกอบธุรกิจยางพาราและไม้ยางพาราแปรรูปของจังหวัดตรัง เดินทางไปเจรจาการค้าเปิดตลาดยางพาราและไม้ยางพาราที่ประเทศอินเดียใน 3 เมืองใหญ่ ได้แก่ เจนไน นิวเดลี และกัลกัตตา เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ประกอบการเดินทางไปร่วมคณะในครั้งนี้จำนวน 10 ราย
สำหรับปัจจุบันการส่งออกยางพาราและไม้ยางพาราแปรรูปของประเทศไทย ส่วนใหญ่จะส่งออกไปประเทศจีน ถือเป็นการพึ่งพาตลาดหลักเพียงตลาดเดียว จึงจำเป็นต้องหาตลาดใหม่ๆ ขึ้นมารองรับ ทางจังหวัดจึงได้จัดทำโครงการ "ตรังยางพารา สู่ภารตะวิถี" ขึ้น โดยมองไปทางตลาดตะวันตกคือประเทศอินเดีย ซึ่งมีศักยภาพสูง มีประชากรมาก และมีการก่อสร้างเกิดขึ้นมากมาย
ทั้งนี้ ความต้องการยางพาราในประเทศอินเดียมีสูงมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรเกิน 10 ล้านคน เช่น ที่เมืองเจนไน ซึ่งยังเป็นตลาดรองรับสินค้าจากประเทศไทยได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกำลังซื้อสูง เพราะเป็นเมืองอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ที่มีมูลค่า 30 % ของการผลิตรถยนต์ในประเทศอินเดีย ในขณะที่ผลผลิตยางพาราในประเทศกลับมีจำกัด
ส่วนตลาดเฟอร์นิเจอร์ของประเทศอินเดีย ซึ่งมีขนาดใหญ่ติดอันดับโลก ก็มีความต้องการไม้ยางพาราคุณภาพดีเพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีกำลังซื้อสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยผู้จัดจำหน่ายไม้ชั้นนำและโรงงานเฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ของประเทศอินเดีย ต่างสนใจสั่งซื้อไม้ยางพาราของประเทศไทย โดยเฉพาะไม้ยางพาราแปรรูป
เช่น ไม้พื้น ไม้แปรรูปอบแห้ง ไม้ปาร์เก้ ซึ่งขณะนี้มีโรงแรม 5 ดาวของเมืองเจนไนก็สนใจซื้อเฟอร์นิเจอร์และไม้ปาร์เก้ สำหรับตกแต่งห้องพักกว่า 300 ห้อง เพื่อปรับปรุงใหม่ทั้งหมด ในขณะเดียวกันยางพาราก็ได้รับการตอบรับดีเยี่ยมด้วย โดยบริษัทผลิตยางรถยนต์ชั้นนำของประเทศอินเดีย ต่างสนใจยางแผ่นของประเทศไทย เพื่อป้อนสายการผลิตในโรงงาน
โดยการเดินทางไปเปิดตลาดในครั้งนี้ ของทางกระทรวงพาณิชย์ และจังหวัดตรัง ถือเป็นการผนึกกำลังกันที่ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการช่วยประสานงานจากทางสถานทูต กระทรวงการต่างประเทศ หรือสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
ทั้งนี้ หากหน่วยงานภาครัฐยื่นมือให้การสนับสนุนเช่นนี้แล้วการตลาดของภาคเอกชนก็จะยิ่งสดใสและเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอิงตลาดประเทศจีน เพียงอย่างเดียว อาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยง หากประเทศคู่ค้าหลักชะลอ หรือหยุดการสั่งซื้อ อีกทั้งประเทศอินเดีย ยังเป็นการตลาดสำคัญ ที่จะสามารถรองรับการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราอีก 1 ล้านไร่ทั่วประเทศด้วย