พิษณุโลก - ชาวสวนสองแควทยอยกรีดยางพารา ทำ “ไทยฮั้ว” ยิ้มรับซื้อวันละ 20-50 ตัน คาดปลายปีนี้ทะลุ 100 ตันแน่ เชื่ออนาคตรุ่ง ตลาดเกิดใหม่-อินเดีย มีความต้องการสูง ขณะกล้าพันธุ์ยางยังขาดตลาด ซื้อวันนี้ รับของเกือบสิ้นฝน แถมราคายืนที่ต้นละ 50 บาทขาดตัว
นายพงศ์ชัย นิ่มเจริญวรรณ ผู้จัดการ บมจ.ไทยฮั้วยางพารา จำกัด สาขาพิษณุโลก เปิดเผยว่า บมจ.ไทยฮั้วยางพารา จำกัด เล็งเห็นพื้นที่ปลูกยางพาราหลายจังหวัดในภาคเหนือขยายตัวและทยอยกรีดน้ำยางเพิ่มขึ้นทุกปี จึงได้ทุ่มเงินทุนซื้อที่ดิน-เครื่องจักร 200 ล้านบาท บนที่ดิน 91 ไร่ บริเวณหมู่ที่ 3 ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ปรับพื้นที่เป็นจุดรับซื้อยางพาราจากเกษตรกร ก่อนพัฒนาเป็นโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมจากคณะกรรมส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) พิษณุโลกเรียบร้อยให้แล้วเสร็จปี 55
เขาบอกว่า พิษณุโลกเป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคเหนือตอนล่าง เป็นศูนย์กลางสี่แยกอินโดจีน เป็นศูนย์กลางรับซื้อยางพาราสะดวก จึงตัดสินใจมาลงทุน ซึ่งตลาดยางพาราช่วงนี้บูมสุดๆ พ่อค้าสวนยางใน จ.พิษณุโลก และจังหวัดใกล้เคียง นำยางพารามาขายเฉลี่ยวันละ 20-30 ตัน คาดปลายปีนี้ถึง 100 ตันต่อวัน เพราะเปิดกรีดหน้ายางเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับช่วงนี้ซึ่งเป็นฤดูของการกรีดยาง ดีกว่าภาคใต้ที่ฝนตกชุกไม่สามารถกรีดได้ต่อเนื่อง
และถ้าเทียบกับ พื้นที่ภาคใต้ มักประสบปัญหาฝนตกชุก ผลผลิตยางน้อย พื้นที่ภาคเหนือและอีสานถือว่า เป็นพื้นที่ทองคำของการปลูกยางพารา คุณภาพยางใกล้เคียงกันกับยางพาราที่ปลูกทางภาคใต้ อีกทั้งการกรีดยางภาคเหนือได้มากกว่า ปัจจุบันโรงรายนี้ เน้นรับซื้อเป็นยางก้นถ้วย เศษยาง ขี้ยาง ยางถ้วย 120 บาทต่อกิโลกรัม ยางแผ่น 129 บาท เนื่องจากเครื่องจักรสมัยใหม่ เน้นผลิตยางก้นถ้วย แตกต่างจากอดีตที่ทุกคนนิยมทำยางแผ่น
นายพงศ์ชัย กล่าวว่า ชาวสวนยางมีความรู้เกี่ยวกับการปลูกยางพารา และมีรายได้จากพืชเศรษฐกิจมาก ราคายางพาราก็เป็นไปตามกลไกตลาด เศรษฐกิจในจังหวัดพิษณุโลกคึกคักขึ้น มีคนซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น
สำหรับผลผลิตยางพาราส่วนใหญ่ ส่งออกไปต่างประเทศร้อยละ 90 ส่วนใหญ่หรือเกินครึ่งส่งออก ส่งเข้าตลาดจีน และโรงงานผลิตยางรถยนต์ทั่วโลก ทั้ง มิชลิน กูดเยียร์ ฯลฯ คาดว่า อนาคตตลาดยางพารายังโตอีก โดยเฉพาะในอินเดีย เนืองจากประชาชนที่อินเดียมีสัดสวนการใช้ยางพาราน้อยอยู่ หลายคนยังไม่มีรถยนต์ใช้
ด้าน นายสายันห์ สมเกื้อ เจ้าของร้านวังทองพันธุ์ยาง ผู้จำหน่ายกล้ายางพารา รายใหญ่ของ จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ตอนนี้กล้ายางขาดแคลนมาก ผลิตได้ไม่ทันตามความต้องการ ขนาดกองทุนสวนยางสั่งไว้ ยังไม่มีให้
“สิ้นเดือนนี้สำนักงานกองทุนสงเคราะห์สวนยาง (สกย.) ส่งเสริมปลูกยางพารา เฟสแรก 4,000 ไร่ ก็ไม่มีต้นกล้าให้สักต้น เกษตรกรต้องหาต้นกล้าปลูกเอง ราคา ณ วันนี้ อยู่ที่ต้นละ 50 บาท แต่สั่งซื้อวันนี้ จะได้กล้ายางอย่างเร็วเดือนหน้าขึ้นไป ส่วนสถานการณ์ปี 55 ราคากล้ายางพาราจะลดลงกว่านี้ เพราะมีการเตรียมแก้ไขปัญหาให้เพียงพอต่อความต้องการแล้วระดับหนึ่ง”